วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > นับถอยหลังเปิดเมือง รีสตาร์ตเศรษฐกิจไทย

นับถอยหลังเปิดเมือง รีสตาร์ตเศรษฐกิจไทย

1 พฤศจิกายน 2564 คือกำหนดการที่ประเทศไทยเตรียมเปิดเมือง โดยเริ่มที่ 10 จังหวัดนำร่อง ซึ่งเป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ (ทั้งจังหวัด) พังงา (ทั้งจังหวัด) ประจวบฯ (ต.หัวหิน หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) บุรีรัมย์ (อ.เมือง)

ซึ่งหากนับจากนี้คงเหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนแล้ว ที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนจะต้องเรียนรู้บทเรียนจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง ที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ภาครัฐคาดหวังว่าจะใช้โครงการนี้เป็นพื้นที่เรียนรู้และวัดศักยภาพความพร้อมด้านสาธารณสุข ว่าหากจะต้องใช้ชีวิตภายใต้การดำรงอยู่ของเชื้อโควิด-19 และหากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น จะยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้หรือไม่

ผลลัพธ์คือ มีผู้ติดเชื้อในระยะเวลาของโครงการสูงถึงกว่า 200 คนต่อวัน ที่น่าสนใจคือในจำนวนนี้ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นประชากรในพื้นที่ หรือผู้ค้าแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศและพบเชื้อนั้นถือว่าน้อยมาก และเมื่อตรวจพบได้นำเข้าสู่สถานที่กักตัวชั่วคราวทันที

นั่นแสดงให้เห็นว่า ระบบการตรวจคัดกรองในกรณีของผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศนั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความร่วมมือ แต่ปัญหาคงอยู่ที่ประชากรในพื้นที่เองที่อาจละเลยเงื่อนไขบางประการและอาศัยช่องโหว่บางจุด ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าปัญหานี้ภาครัฐไม่ควรมองข้าม

อย่างไรก็ตาม แม้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการสูงถึง 1 แสนคน แต่สถิติที่นับถึงวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาที่จังหวัดภูเก็ตเพียง 37,000 คนเท่านั้น

ปัญหาหลายด้านที่เกิดขึ้นในช่วงดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สามารถนำมาเป็นบทเรียนให้แก่ภาครัฐและเอกชนได้เป็นอย่างดี ว่าก่อนจะถึงเวลาเปิดประเทศอย่างเป็นทางการในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีจุดไหนบ้างที่ต้องเร่งแก้ไข

ทั้งปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติที่ทำกันเป็นกระบวนการ แม้ทางบกจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจคัดกรอง เข้มงวดเพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติ ทว่าทางน้ำอาจต้องเพิ่มการกวดขันมากขึ้น ซึ่งปัญหาเรื่องการค้าแรงงานแบบผิดกฎหมายไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขแล้ว แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม หากภาครัฐยังเพิกเฉยต่อการดำเนินการในการที่จะหยุดยั้งกระบวนการเหล่านี้

นอกจากนี้ รัฐบาลและภาคเอกชนอาจต้องตั้งรับในกรณีที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยอาจต่ำกว่าเป้าหมาย โดยมีปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยที่ยังคงสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เตรียมจะยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินบ้างแล้ว ปัจจุบันไทยยังพบผู้ติดเชื้อสูงถึงหลักหมื่นคนต่อวัน ซึ่งยังไม่นับรวมผู้ที่ตรวจพบเชื้อจากการตรวจแบบ ATK

แม้ล่าสุด ศบค. จะประกาศลดจำนวนวันกักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศแล้วก็ตาม ทว่า อีกหนึ่งสิ่งที่อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางเข้ามาคือ อัตราค่าตรวจ RT-PCR ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และอีกปัจจัยที่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญคือ สภาพเศรษฐกิจของประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้สถานการณ์เศรษฐกิจของหลายประเทศที่เผชิญวิกฤตโควิดคงไม่แตกต่างกันมากนัก นักท่องเที่ยวบางคนอาจใช้วิธีลดจำนวนวัน หรือลดการใช้จ่ายเงินต่อวันลง

โควิด-19 สร้างความเสียหายต่อมูลค่าเศรษฐกิจโลกอย่างมหาศาล นิตยสาร The Economist เคยคำนวณเอาไว้เมื่อช่วงต้นปีว่า เศรษฐกิจโลกปี 2563-2564 สูญเสียไปมากถึง 10.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องยอมรับว่านี่เป็นหนึ่งในมหันตภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบันจึงไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศตัดสินใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแม้เชื้อไวรัสโควิดจะยังไม่สิ้นสุดลง เพราะหากรอให้เชื้อร้ายหมดไปจากประเทศแล้วจึงประกาศเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี

แน่นอนว่าไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ล่าสุด ศบค. ชุดใหญ่มีมติผ่อนคลายมาตรการหลายอย่างลง เพื่อให้กิจการกิจกรรมสามารถกลับมาดำเนินการได้ในเร็ววัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ และการท่องเที่ยว ต่างขานรับนโยบายนี้ เพื่อในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีนี้เป็นเสมือนความหวังที่จะพอสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นมาได้บ้าง

ทว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อการกอบกู้จีดีพีที่ติดลบให้กลับมาเป็นบวกและทวีมูลค่าสูงขึ้นเทียบเท่ากับก่อนจะมีโควิดอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่อาจฟื้นขึ้นมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว และปีนี้ไทยอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ถึง 5 แสนคน ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2562 อยู่ที่เกือบ 40 ล้านคน อีกทั้งยังสร้างรายได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

ธนาคารแห่งประเทศไทยและบริษัท วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เคยเสนอบทความ Revitalising Thailand’s tourism sector: In search of enablers for future sustainability ในงานเสวนา “ฟ้าหลังฝน มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย” โดยชี้ปัญหาว่า โมเดลการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ของไทย อาจเพิ่มความเปราะบางและความผันผวนของรายได้ภาคการท่องเที่ยวในโลกหลังโควิด ทั้งจากการสร้างรายได้ผ่านการพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากไป ขณะที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายลดลง รวมถึงยังมีปัญหาการกระจุกตัวทั้งด้านสัญชาตินักท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวเดิมๆ และช่วงเวลาท่องเที่ยว

โดยบทความยังได้นำเสนอโมเดลการท่องเที่ยวใหม่ภายใต้ 2 หลักการ ได้แก่ 1. “Value over volume” approach และ 2. Diversification approach เพื่อเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยหากสามารถเพิ่มจากเดิม 48,000 บาทต่อคนเป็น 60,000 บาทได้ จะทำให้ไทยได้รายได้เท่าเดิมแต่ด้วยนักท่องเที่ยวเพียง 32 ล้านคน อีกทั้งยังต้องเพิ่มสมดุลในภาคการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ เช่น กระจายแหล่งที่มาของรายได้ให้พึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้รายรับจากการท่องเที่ยวมีเสถียรภาพและช่วยรองรับความเสี่ยงในอนาคต รวมถึงเพิ่มการกระจายรายได้ผ่านการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น และที่สำคัญต้องทำให้การท่องเที่ยวไม่สร้างต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมมากเหมือนในอดีต

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจากหลายสถาบันมองไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้โควิดจะหมดลง แต่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ลำบาก ธนาคารโลกมองว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาเป็นตัวทำลายการฟื้นตัวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่อาจเผชิญแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะไทยที่เวิลด์แบงก์ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของจีดีพีลงมาอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์จาก 2.2 เปอร์เซ็นต์ ที่คาดไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม โดยมองว่า ไทยอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวถึง 3 ปี เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ก่อนช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศมาตรการผ่อนคลายเพื่อให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ หรือเกือบปกติ โดยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เมื่อหลายสิ่งที่ถูกทำลายและเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อาจไม่สามารถกลับมาเป็นปกติเช่นเดิม หรืออย่างน้อยที่สุดบางอุตสาหกรรมอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวมากถึง 5 ปี

แม้ว่าก่อนหน้านี้ หลายคนอาจประเมินว่า วัคซีนคือคำตอบที่สำคัญที่จะเอาชนะโควิด และทำให้ประเทศมุ่งเป้าไปที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่คงเห็นตัวอย่างจากหลายประเทศ เช่น อิสราเอล ที่ฉีดวัคซีนได้เร็วเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรและประกาศให้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ แต่ต้องเผชิญกับภาวะการติดเชื้อวันละกว่าหมื่นคนอีกครั้ง หรืออย่างสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะรัฐฟลอริดาที่ฉีดวัคซีนเกินครึ่ง แต่พบผู้ติดเชื้อวันละสองหมื่นคน ท้ายที่สุดทั้งสองประเทศนี้ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มสามให้ประชาชนโดยด่วน

นั่นหมายความว่า แม้วัคซีนจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่อาจไม่ใช่ทางออกของทุกปัญหา การใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง เว้นระยะห่าง การไม่ประมาท ดูจะเป็นหนทางที่เหมาะสมที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงได้

ซึ่งในกรณีของประเทศไทยคงไม่แตกต่างกันนัก เมื่อเตรียมพร้อมที่จะเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดำรงชีวิตอยู่กับโควิดให้ได้ นอกจากจัดสรรวัคซีนไปสู่ประชาชนให้ได้มากที่สุดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังต้องดำรงอยู่ต่อไปคือการใช้ชีวิตแบบไม่ประมาท เว้นระยะห่างเช่นเดิม

ทั้งบทเรียนจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และบทเรียนจากประเทศอื่นๆ น่าจะทำให้คนไทยตระหนักได้ว่า แม้เราจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้มากขึ้นจนสามารถเปิดประเทศได้ในเร็ววัน แต่หากใช้ชีวิตแบบไร้ซึ่งระเบียบแบบแผน จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นอีก แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตอาจจะลดลง อีกทั้งการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ วัคซีนเป็นคำตอบที่ถูกต้องเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เมื่อยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นรอบด้านที่จะช่วยให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเดินเครื่องได้อย่างเต็มกำลัง

ปีนี้โจทย์สำคัญคือเรื่องของการสรรหาวัคซีน การพัฒนาวัคซีน และการเร่งระดมฉีดให้กับประชากรของประเทศ ในขณะที่ปีหน้าโจทย์ใหญ่คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่คงไม่ได้แก้ง่ายๆ ภายในปีเดียว

ใส่ความเห็น