วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > New&Trend > นักวิจัยตั้งข้อสังเกตแผ่นดินไหว-สึนามิในนิวซีแลนด์

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตแผ่นดินไหว-สึนามิในนิวซีแลนด์

ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยในชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. และ วช. เปิดเผยว่า จากการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ขนาด 7.3-8.1 หลายครั้งอย่างต่อเนื่องทางตอนเหนือของประเทศนิวซีแลนด์ตั้งแต่คืนวันที่ 4 ถึงเช้าตรู่ของวันที่ 5 มีนาคม 2564 ทำให้เกิดคลื่นสึนามิด้วยแต่มีขนาดไม่สูงมากจึงส่งผลกระทบต่อประชาชนค่อนข้างน้อย ต่างจากแผ่นดินไหวสุมาตราในปี 2547 ที่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิพัดไปสร้างความเสียหายทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย และเนื่องจากแผ่นดินไหวกลุ่มนี้เกิดอยู่กลางมหาสมุทรห่างจากแผ่นดินพอสมควร จึงไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินหรือหมู่เกาะรอบ ๆ โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวบริเวณแนวมุดตัวนี้มีแผ่นดินไหวขนาดปานกลางหรือขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

แผ่นดินไหวกลุ่มนี้เกิดอยู่ตรงแนวชนกันและมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกที่มีชื่อว่าแนวมุดตัวทองกา-เคอร์มาเด็ค แนวมุดตัวนี้มีความยาวกว่า 2,500 กิโลเมตร วางตัวมาจากด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเหนือของนิวซีแลนด์พาดยาวขึ้นมาทางทิศเหนือจนเกือบถึงประทศซามัว เป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งนึ่งของโลก กลไกการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทั้ง 3 ตัวในครั้งนี้มีความสลับซับซ้อนพอสมควร โดยแผ่นดินไหวตัวใหญ่ตัวแรก มีขนาด 7.3 เกิดขึ้นใกล้กับเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ อีก 4 ชั่วโมงถัดมาเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ทางเหนือห่างออกไปประมาณ 1,000 กิโลเมตร จึงไม่น่ากระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งที่สองได้ หลังจากนั้นอีกประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง เกิดแผ่นดินไหวครั้งที่ 3 ขนาด 8.1 ห่างไปประมาณ 70 กิโลเมตร ด้วยระยะทางที่ใกล้มากทำให้เชื่อได้ว่าแผ่นดินไหวครั้งหลังสุดเป็นผลมาจากการการเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่สองซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันและอาจจะทำให้พื้นที่รอบ ๆ มีความเค้นมากขึ้นและเกิดการเลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในเวลาต่อมาเป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตามมา

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าในปีนี้มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดปานกลางและใหญ่หลายครั้งตั้งแต่ต้นปีสร้างความเสียหายค่อนข้างมาก เช่น แผ่นดินไหวขนาดปานกลาง 5.7-6.2 ที่ประเทศสเปน มองโกเลียและ อินโดนีเซีย ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ถ้าดูสถิติย้อนหลังพบว่าจำนวนแผ่นดินไหวขนาดปานกลางและขนาดใหญ่ในปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาก็มีจำนวนใกล้เคียงกัน ปีนี้จึงไม่น่าจะมีความเสี่ยงมากกว่าปีอื่น ๆ

“ที่ผ่านมาสังคมมักให้ความสำคัญกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก แต่ความจริงแผ่นดินไหวขนาดปานกลางสามารถทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมากได้เช่นกันถ้าเกิดขึ้นใกล้เมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนหรือใกล้รอยเลื่อนมีพลังจะทำให้พื้นดินสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงและเกิดความเสียหายสูงมาก หากเมืองนั้นมีสภาพเป็นแอ่งมีตะกอนหนาหรือเป็นดินอ่อนก็จะขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้พื้นดินสั่นแรงขึ้น สร้างความเสียหายมากขึ้น การรับมือแผ่นดินไหวให้มีประสิทธิภาพจึงต้องสร้างองค์ความรู้เพื่อลดผลกระทบจากธรณีพิบัติ แต่ในประเทศไทยทุนวิจันด้านนี้มีสัดส่วนไม่มากนักยเมื่อเทียบกับภัยพิบัติอื่น แผ่นดินไหวจึงเป็นภัยธรรมชาติที่จำเป็นต้องมีความพร้อมในการรับมืออยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของไทยจะเกิดความสูญเสียสูงมาก” ผศ.ดร.ภาสกรระบุ

*** ภาพแสดงการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3-8.1 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่คืนวันที่ 4 ถึง เช้าตรู่วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564 (เครดิตภาพ USGS)

ใส่ความเห็น