วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจพลังงาน: ทางเลือกเพื่อทดแทนหรือกระแสทุน?

ธุรกิจพลังงาน: ทางเลือกเพื่อทดแทนหรือกระแสทุน?

ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ประเด็นว่าด้วยการขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนของบรรษัทใหญ่น้อย ทั้งที่เป็นธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการรุกคืบเข้ามาขยายธุรกิจของกลุ่มทุนใหญ่เพื่อแสวงหาช่องทางรายได้ใหม่ในอนาคต หลังจากที่ธุรกิจเดิมเริ่มส่อเค้าว่ากำลังเดินทางเข้าสู่หนทางตัน กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจไม่น้อยเลย

ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐไทยพยายามส่งเสริมให้ประเทศไทยพึ่งพาการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้กำหนดแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 หรือ AEDP: 2015 (Alternative Energy Development Plan: AEDP 2015) ซึ่งนับเป็นกรอบโครงในการพัฒนาพลังงานที่มีระยะยาวถึง 20 ปี ภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลักของประเทศทดแทนการนำเข้าน้ำมันได้ในอนาคต เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในประเทศ และเพื่อวิจัยพัฒนาส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนสัญชาติไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดสากล

ควบคู่กับการกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนตามแผน AEDP 6 ประเด็น ประกอบด้วย การส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนอย่างกว้างขวาง การปรับมาตรการจูงใจสำหรับการลงทุนจากภาคเอกชนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การแก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสายส่ง สายจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งการพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid การประชาสัมพันธ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชน การส่งเสริมให้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนแบบครบวงจร

หากแต่เป้าหมายในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตาม AEDP: 2015 กลับมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในภาพรวมอยู่ที่เพียงร้อยละ 20 ของปริมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้ารวมสุทธิ และเป็นเหตุให้มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เป็นร้อยละ 40 ของปริมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้า (Energy) รวมสุทธิ ภายในปี 2579 ซึ่งเป็นเป้าหมายในอีก 20 ปีข้างหน้าแทน

เป้าหมายของการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าว ในด้านหนึ่งกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้บรรษัทธุรกิจจำนวนไม่น้อยประเมินว่าธุรกิจพลังงานทดแทนจะเป็นอนาคตใหม่ และทางเลือกทางรอดของผู้ประกอบการ ภายใต้มิติมุมมองในเชิงธุรกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากต่างเตรียมพร้อมที่จะก้าวเดินเข้าสู่สมรภูมิพลังงานทดแทน เนื่องเพราะกรณีดังกล่าวย่อมติดตามมาด้วยการให้สิทธิประโยชน์หลากหลายต่อผู้ลงทุนให้ได้เก็บเกี่ยวผลกำไรในระยะยาว ขณะเดียวกันพัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้ประเด็นว่าด้วยต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มลดต่ำลง ทำให้ความสามารถที่จะแข่งขันมีความเป็นไปได้มากขึ้น

ความเป็นไปของพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กลายเป็นจุดสนใจที่โดดเด่นมากในช่วงที่ผ่านมา และก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในทางธุรกิจอย่างเอิกเกริก ซึ่งในด้านหนึ่งอาจจะเนื่องเพราะเป็นพลังงานทางเลือกที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากผลของเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขัน และที่สำคัญประการหนึ่งก็คือการได้รับการประเมินว่าเป็นเทคโนโลยีสะอาดสำหรับอนาคต ที่ส่งเสริมให้ภาพลักษณ์องค์กรดูโดดเด่นขึ้นด้วย

แม้ว่าธุรกิจพลังงานทดแทนจะเป็นนโยบายที่ภาครัฐพยายามผลักดัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าในอนาคต โดยมีผลตอบแทนให้กับผู้เข้าลงทุนและมีสัญญาระยะยาว หากแต่ในความเป็นจริงผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการลงทุน (IRR: Internal Rate of Return) ในระดับร้อยละ 10 ในกรณีของพลังงานแสงอาทิตย์ หรือร้อยละ 14-15 ในกรณีของชีวมวล-ชีวภาพ ต้องใช้เวลาคืนทุนไม่น้อยกว่า 5-6 ปีขึ้นไป ตามแต่ความสามารถในการบริหารต้นทุนและทรัพยากรของผู้ประกอบการแต่ละรายอย่างไม่อาจเลี่ยง

จริงอยู่ที่ว่าอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องออกไปได้อีกไม่น้อยกว่า 10 ปี ด้วยอัตราการเติบโตในระดับร้อยละ 13-16 ต่อปี จากเหตุที่ได้การสนับสนุนจากภาครัฐ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan PDP: 2015) ที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558-2579 และทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยพยายามเบียดแทรกเข้ามาแสวงโอกาสเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งในขุมทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาลนี้

หากแต่ประเด็นที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าวอยู่ที่การนำเสนอข่าวของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา ที่ต่างพยายามเร้ากระแสว่าด้วยการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งส่งผลให้เกิดการปรับตัวขึ้นของราคาหลักทรัพย์ที่เสนอข่าวเหล่านั้น อยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทเหล่านี้มีความสามารถทางเงินทุน พัฒนาการทางเทคโนโลยี และข้อสำคัญก็คือมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA: Power Purchase Agreement) ที่จะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ให้บริษัทกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดหรือไม่

นอกจากนี้ รายได้หรือผลตอบแทนในระดับสูงที่ผู้ประกอบการเคยได้รับจากผลของนโยบายที่พยายามดึงดูดให้มีผู้ประกอบการลงทุนในอดีต มีแนวโน้มลดลง ไม่ใช่เพียงเพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นแต่โดยลำพังเท่านั้น หากยังเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนระบบการรับซื้อไฟฟ้าจากเดิมที่อยู่ในรูปแบบส่วนเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้า (Adder) มาเป็นรูปแบบ Feed in Tariff (FiT) ที่มีผลมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 ยิ่งสะท้อนให้เห็นอัตราของผลตอบแทนและกำไรที่ลดลงอย่างชัดเจน ไม่นับรวมสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าด้วยการขอ PPA ที่จะเป็นไปในลักษณะของการประมูล ซึ่งย่อมทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้น และอาจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นไปของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วย

ความพยายามของผู้ประกอบการด้านพลังงานทดแทนในการอยู่รอดท่ามกลางกรอบโครงนโยบายและมาตรการที่ขาดความชัดเจนจากภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนต้องแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในต่างแดน ทั้งในภูมิภาคอาเซียน หรือแม้แต่ในญี่ปุ่นที่มีความชัดเจนในแผนพลังงาน เพื่อเป็นหลักประกันไม่เฉพาะในมิติของรายได้ หากแต่การดำรงอยู่ของธุรกิจในภาพรวมขององค์กรด้วย

ธุรกิจพลังงานทางเลือกในมิติที่ว่านี้จึงอยู่บนทางแพร่งว่าจะได้รับการหนุนนำให้เป็นอีกขุมพลังเพื่อการทดแทนการใช้พลังงานรูปแบบอื่นๆ ตามแนวทางแห่งนโยบายและแผนการพัฒนาพลังงานของชาติในกรอบระยะเวลา 20 ปี ที่ได้กำหนดใน AEDP: 2015 หรือจะเป็นเพียงมิติทางเลือกในเชิงธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ เท่านั้นที่จะครอบครองส่วนแบ่งและจัดสรรประโยชน์ผ่านกลไกที่พร้อมจะเกื้ออำนวยอำนาจการผูกขาดจากธุรกิจอื่นๆ ให้ขยายเข้ามาสู่พื้นที่ที่เปิดกว้างแห่งนี้เพิ่มขึ้นอีก นี่จึงเป็นความท้าทายที่ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องให้ความสนใจพิจารณาไม่น้อย

ใส่ความเห็น