วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ทุนใหญ่รุกธุรกิจสื่อทีวี ช่องทางที่จำเป็นต้องมี?

ทุนใหญ่รุกธุรกิจสื่อทีวี ช่องทางที่จำเป็นต้องมี?

ข่าวการรุกคืบเข้ามาในธุรกิจสื่อทีวีของกลุ่มทุนใหญ่ที่มีองค์ประกอบทางธุรกิจหลากหลายไม่ว่าจะเป็นจังหวะก้าวของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ที่เข้าซื้อช่องอมรินทร์ 34 และช่อง GMM25 หรือการรุกของกลุ่มปราสาททองโอสถ ที่มีช่อง PPTV อยู่ในมือ ควบคู่กับการเข้าซื้อช่อง ONE จากกลุ่ม Grammy กำลังปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของธุรกิจสื่ออย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางการล้มหายไปของผู้ประกอบการสื่อรายเดิม ที่ดูเหมือนว่านับวันจะยิ่งอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่า “กู่ไม่กลับ” ไปโดยปริยาย

การเข้าซื้อกิจการทีวีดิจิทัลของกลุ่มทุนใหญ่ ได้รับการประเมินว่าเกิดขึ้นจากเหตุที่เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ด้วยจำนวนผู้ประกอบการที่มีมากขึ้น ขณะที่การหารายได้และโฆษณากลับหดตัว จนเจ้าของธุรกิจเดิมเริ่มแบกรับภาระไม่ไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประกอบส่วนกับรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากผลของพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ทำให้แพลตฟอร์มในการสื่อสารกับผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ความเป็นไปของธุรกิจสื่อ ซึ่งประสบปัญหารายได้ลดลงและขาดทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กลายเป็นภาพที่เห็นได้เจนตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของ BEC อสมท Grammy RS รวมถึง อมรินทร์พริ้นติ้ง ซึ่งล้วนแต่มีรายได้และผลกำไรลดลง หรือจนถึงขั้นขาดทุน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัลโดยเฉพาะการจ่ายค่าใบอนุญาตที่สูง ทำให้บริษัทมีปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจอย่างไม่อาจเลี่ยง

ความพยายามของผู้ประกอบการสื่อที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อมั่นในความคิดที่ว่า information is power หรือ content is King กำลังถูกกระแสธารของเทคโนโลยีและพลังแห่งทุนโหมกระหน่ำ จนไม่สามารถที่จะรักษาเสถียรภาพและบทบาทนำได้อย่างที่เคยเป็นเคยมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่สถานการณ์เศรษฐกิจบีบคั้น จนทำให้บางรายเลือกที่จะปรับลดสัดส่วนการถือครองหุ้น หรือตัดทอนธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เพื่อรักษาที่อยู่ที่ยืนในสังเวียนธุรกิจนี้ต่อไป

โอกาสของผู้ประกอบการที่ต่างเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่จึงเปิดกว้างขี้นในการเบียดแทรกเข้ามาในธุรกิจที่กำลังตกต่ำจนเกือบจะถึงจุดต่ำสุด ด้วยเม็ดเงินและมูลค่าการลงทุนที่กล่าวได้ว่ามีความคุ้มค่าการลงทุนที่สุด เพราะด้วยเงินลงทุนเพียงหลัก 850 ล้านบาทในกรณีของการเข้าซื้อหุ้นอมรินทร์พริ้นติ้งในช่วงปลายปี 2559 เพื่อถือครองหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 47.62 หรือเงินจำนวน 1,200 ล้านบาท ในการซื้อหุ้น จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง โดยกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ เพื่อสิทธิในการถือครองหุ้นร้อยละ 50 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นเงินลงทุนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนในโครงการอื่นของมหาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้

หากแต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาย่อมมิใช่ลำพังเฉพาะปริมาณเม็ดเงินหรือมูลค่าการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งสัดส่วนการถือครองหุ้นที่ทำให้กลุ่มทุนใหญ่ๆ ที่เข้ามาในธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัลกลายสภาพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากจากกรณีเหล่านี้ ก็คือกลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการขยายธุรกิจเข้ามาในสื่อทีวีนี้อย่างไร

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจนอกเหนือจากการขยายพอร์ตการลงทุนให้มีความหลากหลายและครอบคลุมบริบททางธุรกิจรอบด้านแล้ว ต้องยอมรับว่าสื่อทีวีดิจิทัลคือช่องทางในการทำตลาด หรือแม้กระทั่งการสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งในแต่ละปีกลุ่มทุนขนาดใหญ่เหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีงบประชาสัมพันธ์ในส่วนนี้อยู่แล้ว การได้มาซึ่งช่องทางสื่อสารที่เป็นของตัวเองจึงไม่ต่างจากการผันงบประชาสัมพันธ์ให้กลายเป็นเงินลงทุน ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมีนัยสำคัญ

เป็นการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่ไปไกลกว่าการหวังผลตอบแทนการลงทุนจากการมีรายได้จากค่าโฆษณาในสื่อทีวีดิจิทัล หากเป็นการขยายช่องทางที่จะนำพาสินค้า บริการ และภาพลักษณ์ขององค์กร ซึมแทรกเข้าสู่การรับรู้ในระดับสาธารณะอย่างมีระบบและต่อเนื่อง ซึ่งหากประเมินในมิติที่ว่านี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า เงินลงทุนจำนวนเล็กน้อยที่เติมเข้ามาในสื่อทีวีดิจิทัลมีพลังอำนาจเพิ่มขึ้นอีกเท่าทวี

กระนั้นก็ดี การรุกคืบเข้ามาของกลุ่มทุนใหญ่ทั้งไทยเบฟเวอเรจและกลุ่มปราสาททองโอสถ ก็มีประเด็นให้เปรียบเทียบอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะในขณะที่ไทยเบฟเวอเรจใช้เงินลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาท เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งในอมรินทร์พริ้นติ้ง ในสัดส่วนร้อยละ 47.62 และร้อยละ 50 ในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี เทรดดิ้ง ที่มีเครือข่ายทางธุรกิจทั้ง ช่อง GMM25 คลื่นวิทยุเอไทม์มีเดีย จีเอ็มเอ็ม ทีวี และเอไทม์ ทราเวิลเลอร์ กลุ่มปราสาททองโอสถก็ใช้เงินจำนวนถึง 1.9 พันล้านบาทในการซื้อหุ้นร้อยละ 50 ในบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพร์ส ที่มีช่อง ONE อยู่ในมือ

แม้รูปแบบธุรกิจของกลุ่มทุนใหญ่ที่รุกเข้ามาในธุรกิจทีวีดิจิทัล อาจไม่ได้ปรากฏภาพของการเป็นคู่แข่งขันทางการค้าชนิดที่ต้องสู้กันในระดับผลิตภัณฑ์ต่อผลิตภัณฑ์ หากแต่การขยายมหาอาณาจักรธุรกิจที่คลี่แผ่ขอบเขตรุกคืบเข้ายึดครองพื้นที่และบริบททางธุรกิจอย่างต่อเนื่องของกลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าดำเนินไปท่ามกลางการแข่งขันและช่วงชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในที

ก่อนหน้านี้กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ของธนินท์ เจียรวนนท์ อาจให้ภาพของการเป็นมหาอาณาจักรทางธุรกิจที่ครอบคลุมบริบทและวิถีชีวิตคนไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งจากผลิตภัณฑ์อาหาร พืชผลทางการเกษตร เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ โทรศัพท์มือถือ เคเบิลทีวี ช่องทีวีดิจิทัล True4U

หากแต่ในความเป็นจริง กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ของเจริญ สิริวัฒนภักดี กลับกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีสรรพกำลังมหาศาลที่จะครอบครองและดูดซับธุรกิจหลากหลายประเภทตลอดเส้นทางที่บรรษัทแห่งนี้เคลื่อนผ่าน ให้กลายมาเป็นอีกส่วนที่ต่อขยายและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้เติบใหญ่อย่างไม่สิ้นสุด

แนวรบระหว่างกลุ่มทุนใหญ่ที่ขยายพื้นที่เข้ามาในธุรกิจทีวีดิจิทัล อาจเป็นสนามประลองสรรพกำลังครั้งใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้กลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้อาจต้องปะทะสัมพันธ์กันผ่านบริบทของสมรภูมิธุรกิจค้าปลีก การช่วงชิงพื้นที่ผืนงามเพื่อปลุกปั้นแลนด์มาร์กใหม่ในย่านธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการแข่งขันช่วงชิงการมีสถานะและบทบาทนำในการบอกกล่าวหรือข้อเสนอในการกำหนดทิศทางในเชิงนโยบายแห่งรัฐ

ประเด็นที่น่าพิจารณาจากนี้ก็คือ ภายใต้การมาถึงของกลุ่มทุนใหญ่ที่เข้าครอบครองช่องทางในการสื่อสารเช่นที่ว่านี้ ผู้ประกอบการและผู้คนในแวดวงสื่อจะสามารถดำรงตนเป็น content provider ที่ยืนหยัดในฐานะนักวิชาชีพสื่อ ที่มีความเป็นมืออาชีพ และพร้อมจะวิพากษ์ระบบกลไกแห่งทุนที่ถาโถมนี้ หรือจะยอมถอยตัวออกไปเป็นเพียงพนักงานลูกจ้างที่ทำหน้าที่รายงานข่าวประชาสัมพันธ์ให้กับองค์กรที่เป็นเจ้าของทุนในสื่อเหล่านี้เท่านั้น

ใส่ความเห็น