วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ทุนนอกไหลเข้าอาเซียน หวังหลบภัยสงครามการค้า

ทุนนอกไหลเข้าอาเซียน หวังหลบภัยสงครามการค้า

ความเป็นไปของอาเซียนโดยเฉพาะกรณีว่าด้วยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ดูจะเป็นประหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน เพราะไม่เพียงแต่จะมีส่วนส่งเสริมการขยายฐานการลงทุนแล้ว กรณีดังกล่าวยังเชื่อว่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานภายในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาพัฒนาการและแนวโน้มด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งขาเข้าและขาออกทั้งหมดภายในอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มูลเหตุหนึ่งที่ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอาเซียน (ASEAN FDI) มีลักษณะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น นอกจากจะเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการลงทุนภายในอาเซียนเอง ที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าธุรกรรมด้านการซื้อขายและควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition: M&A) แล้ว การพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคและสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนในระดับภูมิภาคก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเปิดโอกาสการลงทุนที่มากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของการลงทุนจากแหล่งใหม่ (Emerging Sources) ที่มีจีนเป็นผู้เร่งปฏิกริยา

การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้มีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ไหลรินเข้าสู่ประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลของการอาศัยหลักการผลิตที่ได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ อัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า ข้อได้เปรียบจากขนาดของการผลิต (economy of scale) และห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในการผลิตสินค้า ส่งผลทำให้จีนเปลี่ยนจากประเทศที่รับจ้างผลิต มาเป็นผู้ส่งออกสินค้า และแปลงสถานะมาเป็นคู่ค้าที่ได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในที่สุด

สัดส่วนของการค้าและการลงทุนในประเทศจีนที่มากล้น จนมีมูลค่าและสัดส่วนของการลงทุนที่มากเกินกว่าจะขยายได้ในประเทศ ทำให้ในปัจจุบันไม่เพียงแต่จีนจะกลายมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าให้กับโลกแล้ว ยังรวมไปถึงการส่งเงินทุนออกไปภายนอกประเทศ (Outward Foreign Direct Investment: OFDI) โดยมีการไหลออกของทุนเข้ามาสู่ประเทศอาเซียนมากที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นภาพสะท้อนทางยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative: BRI) อย่างแนบแน่นด้วย

การส่งเงินทุนออกไปภายนอกประเทศ (Outward Foreign Direct Investment: OFDI) ของจีนในช่วงที่ผ่านมาจึงเน้นไปที่การสร้างความเชื่อมโยงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนต้องการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคให้เติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่การเข้ามาทำการค้าและการลงทุนของจีนในแต่ละประเทศ ก็ก่อให้เกิดเสียงสะท้อนหลากหลาย และดูเหมือนว่ากรณีดังกล่าวอยู่นอกเหนือกรอบโครงของ BRI ที่ไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ที่แน่นอน

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจในความสัมพันธ์จีน-อาเซียน ก็คือภายหลังที่มีข้อตกลงทางการค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Free Trade Area: CAFTA) มูลค่าการค้าและการลงทุนของจีนกับประเทศอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากระดับ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2543 เป็น 4.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 ขณะที่การลงทุนของจีนในอาเซียนนับจาก ปี 2546-2558 ก็มีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 58.2% ซึ่งมากที่สุดหากเทียบกับ 64 ประเทศที่อยู่ในความร่วมมือ BRI ของจีน

ความเคลื่อนไหวด้วยการลงทุนในต่างประเทศ (Outward FDI) ของจีนในอาเซียน สอดรับกับนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของนโยบายต่างประเทศที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของจีน ภายใต้ภารกิจ 4 ระดับ ทั้งการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Physical Level) ในพื้นที่ต่างๆ ตามบริเวณที่เส้นทางสายไหมผ่าน การเชื่อมโยงสถาบันต่างๆ (Institutional Level) ที่เกี่ยวข้องในแผนยุทธศาสตร์เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกเพื่อการพัฒนาและลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการต่างๆ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลแต่ละประเทศ

การลงทุนพัฒนาโครงการโดยการหาแหล่งทุน และความร่วมมือทางการเงิน (Financial Level) ที่ดำเนินผ่านธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (The Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) และกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) และการสร้างความไว้วางใจในทุกระดับ (Mental Level) และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรมและสังคมในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี หากไม่นับการลงทุนโดยตรง (FDI) จากอาเซียนด้วยกันเองแล้ว ญี่ปุ่นยังคงนับได้ว่าเป็นนักลงทุนโดยตรงอันดับ 1 ในอาเซียน ด้วยมูลค่า FDI เฉลี่ยกว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นให้ความสำคัญและเน้นลงทุนในกลุ่มอาเซียน-5 เป็นหลัก หากแต่ในระยะหลังญี่ปุ่นพิจารณาลงทุนในกลุ่ม CLMV มากขึ้น โดยจากมูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศสะสมของญี่ปุ่น (Outward Direct Investment) ณ สิ้นปี 2557 มาจนถึงสิ้นปี 2560 จะเห็นได้ว่า อัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีของ ODI จากญี่ปุ่นในกลุ่มประเทศ CLMV อยู่ที่ร้อยละ 9.3 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าของอาเซียน-5 ที่ร้อยละ 5.4 ต่อปีอีกด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ รูปแบบของการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในกลุ่ม CLMV เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยอุตสาหกรรมที่นักลงทุนญี่ปุ่นเลือกลงทุนมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิต (Non-manufacturing sector) ที่ขยายตัวจากสัดส่วนร้อยละ 39 ในปี 2557 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 43 ในปี 2560 เพื่อตอบสนองทิศทางของการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติต่อหัวของกลุ่มประเทศ CLMV ที่นับได้ว่าเป็นปัจจัยดึงดูด FDI ที่สำคัญ และสวนทางกับตลาดผู้บริโภคของญี่ปุ่นเองที่เริ่มหดตัว

แม้ว่าภาคการเงินการธนาคารยังคงเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับ FDI มากที่สุด หากแต่การลงทุนของญี่ปุ่นในภาคอสังหาริมทรัพย์และการขนส่งใน CLMV นับได้ว่าสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเน้นการพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับการลงทุนภาคเอกชนและการขยายตัวของชุมชนเมืองในอนาคต

ปัจจัยว่าด้วยข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการหลั่งไหลของเงินทุน และการย้ายฐานการลงทุนเข้าสู่อาเซียน โดยผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีนจำนวนไม่น้อยต่างทยอยย้ายฐานการผลิตมาสู่อาเซียน โดยมีเวียดนามเป็นจุดหมายด้านการลงทุนที่สำคัญลำดับต้นๆ ของนักลงทุนต่างชาติ ด้วยเหตุที่เวียดนามมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการลงทุน และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP สูงถึงร้อยละ 7.38 ซึ่งนอกจากจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนแล้ว เวียดนามยังเติบโตในอัตราดังกล่าวต่อเนื่องมาหลายปีอีกด้วย

ความน่าสนใจของเวียดนามอีกประการหนึ่งอยู่ที่ข้อได้เปรียบทางการค้าและการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการลงนามในข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป (Vietnam-EU Free Trade Agreement: Vietnam-EU FTA) และกำลังอยู่ระหว่างการทำข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา Vietnam-US FTA ซึ่งจะยิ่งเอื้ออำนวยต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าสู่ประเทศคู่สัญญายิ่งขึ้นอีก

ภายใต้สถานการณ์ที่ข้อพิพาททางการค้าจีน-สหรัฐฯ ยังปราศจากข้อยุติและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นนี้ ทำให้นักลงทุนจากจีนหลั่งไหลเข้ามาในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากนับรวมการลงทุนจากฮ่องกงเป็นการลงทุนจากจีนด้วยแล้ว การลงทุนจากจีนในเวียดนามในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2562 จะมีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 40 เลยทีเดียว สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามขาดแคลนในขณะนี้ จึงไม่ใช่คำสั่งซื้อ หากแต่เป็นที่ดินและแรงงานที่จะตอบสนองต่อการขยายตัวครั้งใหม่

ขณะเดียวกันนักลงทุนและผู้ประกอบการจากไต้หวันก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่หลบภัยสงครามการค้าและย้ายฐานการผลิตเข้าสู่เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทยอยย้ายฐานการผลิตจากจีนมาสู่แหล่งผลิตใหม่ในเวียดนามมากขึ้น และพร้อมที่จะเปลี่ยนให้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคตอีกด้วย

การไหลเข้าของการลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนามในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 ส่งผลให้ FDI ของเวียดนามปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 38.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า 1,360 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 6.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ หากรวมถึงการเพิ่มมูลค่าในการลงทุน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนามในช่วงดังกล่าวจะอยู่ที่ 9.09 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561

เวียดนามจัดลำดับความสำคัญการลงทุนจากต่างประเทศไว้ที่โครงการไฮเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็พยายามปกป้องสินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกมายังเวียดนามเพื่อ Re-export ด้วยหวังจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยรัฐบาลเวียดนามได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินการพัฒนาของข้อพิพาททางการค้าและกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างทันที

แม้ว่าผลพวงของสงครามการค้าอาจจะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าบางรายการของเวียดนาม แต่อาจทำให้จีดีพีของประเทศลดลงร้อยละ 0.2-0.3 โดยรัฐบาลเวียดนามได้เตรียมมาตรการเพื่อรักษาการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมั่นคงในเวียดนาม รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการของเวียดนาม และปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุน

ภายใต้บริบทของสถานการณ์การค้าโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง อาเซียนซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเร่งเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP: Regional Comprehensive Economic Partnership) อาจเป็นข้อต่อสำคัญในการช่วยสร้างความเชื่อมั่น และเสริมสร้างความเข้มแข็งและความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภูมิภาคของอาเซียน

ปัญหาอยู่ที่ว่าประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประชาคมอาเซียนนี้ จะได้รับอานิสงส์หรือผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมและบริหารจัดการกับความท้าทายนี้อย่างไรเท่านั้น

ใส่ความเห็น