วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > New&Trend > ทีโอที ใช้ 5G หนุนศักยภาพหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช เพิ่มโอกาสรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

ทีโอที ใช้ 5G หนุนศักยภาพหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช เพิ่มโอกาสรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

ทีโอที ใช้ 5G หนุนศักยภาพหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 เพิ่มโอกาสรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกกำลัง 3 ผู้นำเทคโนโลยีเครือข่ายอัจฉริยะ 5G ของไทย ได้แก่ ทีโอที เอไอเอส และทรู ซึ่งโดดเด่นในศักยภาพอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ และความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลายมาเพิ่มประสิทธิภาพให้ “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit)” รักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้เป็นอย่างดี เพื่อชีวิตและสุขภาพของคนไทย

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การผนึกกำลังของมหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยผู้นำเครือข่าย 5G เรามุ่งพัฒนาเพื่อสังคมส่วนรวมให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งชนิดตีบและแตกอย่างรวดเร็ว ด้วยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) เปรียบเสมือนการนำโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน เพื่อลดระยะเวลาในการเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตันทำให้อัตราการเสียชีวิตและพิการลดลงได้ โดยจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แบบเบ็ดเสร็จในรถ ตั้งแต่เริ่มมีอาการไม่เกิน 4 ชั่วโมง

โดยผู้พบผู้ป่วยโทรแจ้ง 1669 เข้าศูนย์เอราวัณ ทางศูนย์ฯ จะคัดกรองแล้วแจ้งต่อไปยังหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ในเขตที่ดูแลเพื่อให้เข้าไปรับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อตรวจคัดกรองอาการและนำผู้ป่วยมาที่จุดนัดพบสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ขณะเดียวกันทางศูนย์เอราวัณก็แจ้งหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่มีผู้เชี่ยวชาญโรคหลอดเลือดสมองเป็นผู้รับสายและซักถามอาการและตามทีมแพทย์ พยาบาล นักรังสีการแพทย์ และพนักงานขับรถให้ออกปฏิบัติการรับผู้ป่วยเพื่อการรักษาในรถของหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่จุดนัดพบ ตามที่ได้ประสานงานไว้แล้ว ขณะนี้ รถรุ่นใหม่หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 จำนวน 3 คัน อยู่ระหว่างการผลิต กำหนดแล้วเสร็จของรถคันที่ 2 ประมาณเดือนสิงหาคม 2563 และคันที่ 3 และ 4 จะแล้วเสร็จภายในปี 2563

นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลศิริราช ในความร่วมมือทางวิชาการ สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงข่าย 5G ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประชาชน ด้วยเป้าหมายให้ประชาชนทุกพื้นที่มีโอกาสได้รับบริการหรือได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ทีโอทีให้ความสำคัญกับการให้บริการโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากศักยภาพของโครงข่าย 5G ที่มีจุดเด่นเรื่องความเร็วสูง ความหน่วงต่ำจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้การรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ มีความละเอียดสูง สามารถสื่อสารผ่านระบบแพทย์ทางไกลความเร็วสูง ทำให้การสื่อสารมีความสะดวก รวดเร็ว คุณภาพสูง มีความแม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้การประสานงานส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยรถพยาบาลการแพทย์ฉุกเฉิน มาสู่รถ Siriraj Mobile Stroke Unit ด้วยความปลอดภัย ซึ่งการบริการโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุขของไทย ทีโอทีถือเป็นพันธกิจสำคัญในการกระจายโอกาสที่ประชาชนทุกคนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพอย่างรวดเร็ว และในอนาคต ทีโอที มีแผนงานที่จะใช้คลื่น 5G นำไปพัฒนาเพิ่มศักยภาพในด้านอื่น ๆ เพื่อจะมีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมต่อไป

ซึ่งเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร 5G ที่มีเสถียรภาพและความเร็วสูงผสานกับการออกแบบตัวรถและระบบ Mobile Stroke Unit จะช่วยเรื่องการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การส่งภาพ CT Scan สมองและสัญญาณชีพของผู้ป่วย ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเสมือนกับผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมอง แม้ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ห่างออกไปหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตรก็ตาม ด้วยข้อมูลที่เป็นเรียลไทม์และมีความละเอียดสูงจะส่งผลให้การตัดสินใจวางแผน และทำการรักษาของบุคคลากรการแพทย์สามารถกระทำได้ทันทีและแม่นยำ ก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ดังนั้น การมีเทคโนโลยี 5G จะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงของประชาชนคนไทย

ใส่ความเห็น