วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ทีซีซี ดัน “ปากซองคอฟฟี่” เปิดศึกฮุบกาแฟหมื่นล้าน

ทีซีซี ดัน “ปากซองคอฟฟี่” เปิดศึกฮุบกาแฟหมื่นล้าน

หลังจากใช้เวลากว่า 10 ปี บุกเบิกธุรกิจไร่กาแฟ เนื้อที่ 19,000 ไร่ บนที่ราบสูงบอละเวน ในเมืองปากซอง ประเทศ สปป.ลาว ภายใต้สัญญาสัมปทานกับรัฐบาลลาว ระยะเวลา 50 ปี ล่าสุด ทีซีซี กรุ๊ป ของเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังเร่งเปิดฉากรุกสมรภูมิร้านกาแฟครั้งใหญ่ เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินในตลาดมากกว่า 17,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ในเครือทีซีซี กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทได้ทดลองโครงการร้านกาแฟแบรนด์ใหม่ “กาแฟปากซอง” (Paksong Coffee) โดยเปิดร้านต้นแบบในอาคารสำนักงานใหญ่ของบีเจซี ซอยรูเบีย ถนนสุขุมวิท 42 แทนร้านกาแฟ “สเปเชียลตี้ส์” ที่เคยเปิดทดลองตลาดช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากประเมินว่า แบรนด์ “ปากซองคอฟฟี่” มีความชัดเจนในแง่แหล่งที่มาของกาแฟ ซึ่ง “ปากซอง” ถือเป็นเมืองหลวงกาแฟของประเทศลาว มีผลผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

ช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจกาแฟของทีซีซี กรุ๊ป ยังเน้นเรื่องการผลิตเมล็ดกาแฟ เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยก่อตั้งบริษัท ปากซองไฮแลนด์ จำกัด เป็นตัวแทนบริหารโครงการไร่กาแฟเกือบ 2 หมื่นไร่ ซึ่งช่วงเริ่มต้นเมื่อปี 2551 เจริญดึง ดร.อนันต์ ดาโลดม อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เข้ามาเป็นที่ปรึกษาบุกเบิกและวางแผนธุรกิจให้บริษัท ปากซอง ไฮแลนด์ จำกัด

จากเมล็ดกาแฟดิบส่งออก บริษัทปากซองไฮแลนด์จึงเริ่มจัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟสู่กลุ่มผู้บริโภคผ่านร้านกาแฟเพื่อสร้างแบรนด์ “Paksong Coffee” ซึ่งทีซีซี กรุ๊ปตั้งเป้าหมายภายในปี 2020 จะพัฒนาไร่กาแฟในเมืองปากซองเป็นฐานผลิตเมล็ดกาแฟที่ใหญ่ที่สุด และเป็น Best Coffee Valley Hotel & Resort รวมถึงสร้าง Coffee Academy สำหรับวงการกาแฟโลก และพัฒนาพื้นที่ในส่วนต่างๆ เป็นแหล่งผลิตไม้ดอกไม้ผลเมืองหนาว เช่น ทิวลิป สตรอว์เบอร์รี ลิลลี่ และอะโวคาโด เพื่อเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยวด้วย

ปี 2559 อัศวิน เจริญเตชะวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีเจซี ซึ่งกำลังเร่งจัดทัพค้าปลีกเพื่อเสริมฐานบิ๊กซี มองว่า ตลาดกาแฟสดมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และเป็นโอกาสของบีเจซีที่จะแตกไลน์ธุรกิจกาแฟ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เนื่องจากมีไร่กาแฟอราบิก้าของเครือทีซีซีเป็นฐานใหญ่

บีเจซีจึงเริ่มศึกษาและพัฒนารูปแบบร้านกาแฟปากซอง แม้จนถึงเวลานี้ โครงการร้านกาแฟปากซองยังไม่นิ่ง แต่ทยอยทดลองเปิดสาขาตามบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในทำเลที่มีศักยภาพและกลุ่มลูกค้าสอดคล้องกัน รวมทั้งตั้งเป้าผลักดันให้เป็นแม็กเน็ตตัวใหม่ตามแผนปรับโฉม “มินิบิ๊กซี” รองรับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ตามแหล่งชุมชนต่างๆ ทั้งย่านธุรกิจ แหล่งอาคารสำนักงาน และแหล่งท่องเที่ยว เช่น ย่านถนนสุรวงศ์ ปทุมธานี และโคราช

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก กาแฟปากซองยังเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ราคาไม่สูงมาก เช่น ปากซองซิกเนเจอร์ ราคาแก้วละ 35 บาท ปากซองอเมริกาโน่ร้อน 25 บาท คาปูชิโน่ร้อน 29 บาท คาราเมล คาปูชิโน่ร้อน 35 บาท ลาเต้ร้อน 29 บาท โกโก้ดัทช์ร้อน 39 บาท เพื่อสร้างการรับรู้และดึงดูดกลุ่มเป้าหมายเข้ามาทดลองลิ้มรสกาแฟ

ในเวลาไม่ต่างกันมากนัก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของฐาปน สิริวัฒนภักดี ลูกชายของเจริญ ตัดสินใจเปิดตัวบริษัท ฟู้ดออฟเอเชีย พร้อมๆ กับเปิดตัวร้านอาหารในเครือ เพื่อสร้างเชนร้านอาหารที่ชูความเป็นอาเซียน ความเป็นเอเชีย และตอบโจทย์ความนิยมของคนเอเชีย ซึ่งต่างจากร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นของโออิชิ กรุ๊ป โดยปัจจุบันบริษัท ฟู้ดออฟเอเชีย มีร้านอาหารในเครือรวม 6 แบรนด์

ได้แก่ ร้านอาหาร So Asean Cafe & Restuarant ล่าสุดเปิดแล้ว 4 สาขา ที่เดอะสตรีท รัชดา, เกตเวย์ เอกมัย, เอฟวายไอเซ็นเตอร์ และไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ 2. ร้านกาแฟ So Asean Coffee มี 2 สาขา ที่อาคารแสงโสมและไซเบอร์เวิลด์ทาวเวอร์ 3. ภัตตาคารจีนสไตล์กวางตุ้ง “Man Fu Yuan” (หม่าน ฟู่ หยวน) ล่าสุดเปิด 3 สาขาที่สโมสรราชพฤกษ์ในโครงการนอร์ธปาร์ค ศูนย์การค้าสยามพารากอนกับสยามดิสคัฟเวอรี่ 4. ฟู้ดคอร์ต ภายใต้แบรนด์ “Food Street” เปิดสาขาแรกในโครงการไลฟ์สไตล์มอลล์ “เดอะสตรีท” ย่านรัชดาภิเษก และขยายเพิ่มในศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ และไซเบอร์เวิลด์ทาวเวอร์

5. ร้านเค้กและเบเกอรี่ MX ซึ่งบริษัทร่วมทุนกับกลุ่มแม็กซิม กรุ๊ป ฮ่องกง เปิดบริษัท แมกซ์ เอเชีย จำกัด เพื่อบุกตลาดเค้กและเบเกอรี่ ส่วนแบรนด์ที่ 6 คือ เคเอฟซี ซึ่งอยู่ระหว่างปิดดีลให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้

แน่นอนว่า แผนทั้งหมดของทีซีซี กรุ๊ป จากไร่กาแฟขนาดใหญ่ในเมืองปากซอง ผลิตและส่งออกเมล็ดกาแฟ กำลังขยายเข้าสู่ธุรกิจปลายน้ำ

ด้านหนึ่งผ่านร้านกาแฟปากซอง ซึ่งบีเจซีเตรียมปูพรมสาขาเข้าสู่ห้างบิ๊กซีทั่วประเทศ อีกด้านหนึ่งผ่านร้านอาหารของบริษัท ฟู้ดออฟเอเชีย ทุกแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น ร้านกาแฟ So Asean Coffee ร้าน So Asean Cafe & Restaurant ฟู้ดคอร์ต “ฟู้ดสตรีท” หรือแม้กระทั่งร้านเคเอฟซีในอนาคตด้วย

การเปิดสงครามร้านกาแฟที่มีทั้งร้านกาแฟปากซองเจาะตลาดแมส และ So Asean ที่เน้นเจาะคอกาแฟระดับพรีเมียม ย่อมทำให้ภาพรวมตลาดและคู่แข่งต้องปรับกลยุทธ์มากขึ้น เนื่องจากตลาดร้านกาแฟที่มีมูลค่ามากกว่า 17,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นร้านกาแฟทั่วไป 9,000 ล้านบาท และร้านกาแฟระดับพรีเมียมอีก 8,000 ล้านบาทนั้น ทีซีซี กรุ๊ปกำลังเปิดเกมรุกเจาะทั้ง 2 ตลาด

สำหรับผู้นำตลาดพรีเมียมอย่าง “สตาร์บัคส์” เวลานี้เร่งขยายสาขาให้ครบ 400 สาขาภายในปี 2562 เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทุกพื้นที่ ส่วน “ทรูคอฟฟี่” ของทรูคอร์ปอเรชั่นในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) วางแผนเปิดร้านทรูคอฟฟี่เพิ่มอีกกว่า 40 สาขา จากปีที่ผ่านมามี 234 สาขา และกำลังปลุกปั้นร้านโมเดลใหม่ ภายใต้ชื่อ “GO True Coffee” เพื่อขยายฐานลูกค้าระดับกลาง เน้นเปิดร้านในพื้นที่ที่มีทราฟฟิกสูง โดยทดลองผุดสาขาแรกในมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วางราคาเครื่องดื่มถูกกว่าร้านทรูคอฟฟี่ ประมาณ 50%

ด้าน “คาเฟ่อเมซอน” ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ล่าสุดผุดสาขาไดรฟ์ทรูแห่งแรกในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ย่านถนนพระราม 2 พร้อมกับลุยขยายร้านเฉลี่ยปีละ 300 สาขา กระจายในทุกทำเล ทั้งปั๊ม ปตท. ศูนย์การค้า โรงพยาบาล สถานที่ชุมชน คอมมูนิตี้มอลล์ ตามเป้าหมาย 3,000 สาขาภายใน 3 ปี จากปัจจุบันมีเกือบ 1,900 สาขา

ขณะที่กลุ่มซีพีออลล์ อีกขาหนึ่งของเครือซีพี ซุ่มแตกแบรนด์ร้านกาแฟมากถึง 6 แบรนด์ และวางกลยุทธ์เจาะตามช่องทางต่างๆ ได้แก่ ออลล์ คาเฟ่, คัดสรร, กาแฟมวลชน, เบลลินี เบค แอนด์ บรู ,จังเกิ้ล คาเฟ่ และอาราบิเทีย คาเฟ่ โดยเฉพาะออลล์ คาเฟ่ ตะลุยเปิดจุดขายมากกว่า 2,000 สาขาในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ร้านกาแฟอีกหลายค่าย ทั้งเซกาเฟรโดของกลุ่มเซ็นทรัล กาแฟพันธุ์ไทยของปั๊มพีที อินทนิลของค่ายบางจาก หรือแม้กระทั่งบริษัทไทยออยล์ ตัดสินใจกระโดดเข้าสู่สมรภูมิ เผยโฉมร้านกาแฟแบรนด์ “ไรโน้” จำหน่ายทั้งเครื่องดื่มกาแฟและเมล็ดกาแฟ

ดูเหมือนว่า กาแฟรสชาติขมๆ ยังสามารถดึงดูดกลุ่มทุนรายใหญ่เข้ามาช่วงชิงเม็ดเงินหมื่นล้านต่อเนื่อง ที่สำคัญ เมื่อยักษ์อย่าง “ทีซีซี” บุกเข้ามาเต็มรูปแบบด้วยแล้ว เกมนี้ใครไม่เก่งจริง มีสิทธิ์เจ็บแน่

 

Paksong
เมืองหลวงกาแฟของลาว

“เมืองปากซอง” อยู่ในแขวงจำปาศักดิ์ โดยแขวงจำปาศักดิ์มีพื้นที่ทั้งหมด 15,415 ตารางกิโลเมตร ติดต่อกับประเทศไทยและกัมพูชา ตำแหน่งที่ชายแดนทั้ง 3 ประเทศบรรจบกันเรียกว่า “สามเหลี่ยมมรกต” สภาพพื้นที่ประกอบด้วยพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำเซโดนบริเวณตอนกลาง มีแนวเทือกเขาสูงทางทิศเหนือและทิศตะวันออก และติดต่อกับที่ราบสูงบอละเวนทางทิศตะวันออก ซึ่งมีความสูงประมาณ 1,500-1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส แต่บริเวณทางทิศเหนือของแขวงที่เมืองปากซองมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสและมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ปริมาณน้ำฝนระดับ 1,400-2,000 มิลลิเมตรต่อปี

แขวงจำปาสักประกอบด้วยเมืองบริวารทั้งหมด 10 เมือง คือ เมืองปากเซ เมืองชนะสมบูรณ์ เมืองบาเจียงเจริญสุข เมืองปากซอง เมืองปทุมพร เมืองโพนทอง เมืองจำปาศักดิ์ เมืองสุขุมา เมืองมูนปาโมกข์ และเมืองโขง

สำหรับเมืองปากซอง อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของแขวงจำปาสัก อยู่ในเขตภูเขา พื้นที่ต่ำสุด สูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร สูงสุดประมาณ 1,400 เมตร

กาแฟ สำหรับชาวเมืองปากซองนับเป็นพืชประจำบ้าน บ้านทุกหลังมักมีพื้นที่ปลูกกาแฟและใช้ลานหน้าบ้านเป็นที่ตากเมล็ดกาแฟ การเข้ามาของกาแฟในบริเวณนี้เริ่มในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครอง สปป.ลาว เป็นยุคแห่งการล่าอาณานิคม โดยฝรั่งเศสใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ปลูกกาแฟและเป็นเมืองสำหรับพักตากอากาศ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี ที่ราบสูงแห่งนี้เป็นเขตภูเขาไฟเก่า ความอุดมสมบูรณ์จึงมีสูงมาก และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า “ปากซอง” เมืองหลวงด้านกาแฟของประเทศลาว

 

ใส่ความเห็น