วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > ทาคาชิมายะ บูมบิ๊กไฮไลท์ ครบ 2 ปี ฝ่ามรสุมค้าปลีกไทย

ทาคาชิมายะ บูมบิ๊กไฮไลท์ ครบ 2 ปี ฝ่ามรสุมค้าปลีกไทย

สยาม ทาคาชิมายะ กลายเป็นห้างสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่ถูกจับจ้องความเคลื่อนไหวก้าวต่อไป หลังเปิดดำเนินการเมื่อปี 2561 พร้อมๆ กับอภิมหาโครงการไอคอนสยาม และจะดีเดย์ครบรอบ 2 ปี ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้

ขณะเดียวกัน ชื่อชั้น “ทาคาชิมายะ” ถือเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ดำเนินธุรกิจยาวนานมากกว่า 190 ปี ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1829 ที่เมืองเกียวโต โดยนายอีดะ ชินกิชิ ระยะแรกเน้นจำหน่ายสินค้าปลีกประเภทเสื้อผ้า ผ้าฝ้าย จนขยายอาณาจักรธุรกิจและผุดสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 20 แห่ง

ส่วนสาขาในต่างประเทศเริ่มบุกประเทศสิงคโปร์ โดยเป็นผู้เช่าหลักในศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดใจกลางถนนสายหลักออร์ชาร์ด และขยายต่อเนื่อง ได้แก่ สาขาเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน สาขาโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม จนล่าสุด คือ สยามทาคาชิมายะ ไอคอนสยาม ประเทศไทย เป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทลูก ทาคาชิมายะ สิงคโปร์ สัดส่วน 51% กับกลุ่มไอคอนสยาม 49%

หากย้อนไปวันแรกของการเผยโฉมในประเทศไทยนั้น ชิเกรุ คิโมโตะ ประธานบริหาร บริษัท ทาคาชิมายะ จำกัด กล่าวว่า สยาม ทาคาชิมายะเป็นการขยายสาขาห้างสรรพสินค้าในเอเชียลำดับที่ 4 ต่อจากสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ และโฮจิมินห์ ตามยุทธศาสตร์การขยายสาขาในต่างประเทศ ซึ่งมีกลุ่มอาเซียนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้เงินลงทุนรวม 3,000 ล้านบาท พื้นที่ 7 ชั้น รวม 36,000 ตารางเมตร

คอนเซ็ปต์ของห้าง คือ การผสมผสานระหว่างที่สุดของห้างสรรพสินค้าในไทยและทาคาชิมายะของญี่ปุ่น รวบรวมของดีจากแดนอาทิตย์อุทัย ทั้งเสื้อผ้าและของใช้สุภาพสตรี เครื่องสำอาง นาฬิกา เสื้อผ้าและของใช้สุภาพบุรุษ เสื้อผ้าเด็ก ของใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงร้านอาหาร รวมกว่า 530 แบรนด์

ในจำนวน 530 แบรนด์ เป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น ประมาณ 180 แบรนด์ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% และมีร้านค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นครั้งแรกอีกกว่า 80 ร้าน โดยตั้งเป้าจะถึงจุดคุ้มทุนและมีกำไรได้ในปีที่ 2 จากจำนวนผู้มาใช้บริการมากกว่า 30 ล้านคนต่อปี รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและผู้บริโภคระดับ B ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เหมือนเจอปัญหากำลังซื้อและต้องพยายามนำเสนอสินค้าตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า รวมถึงเกิดผลกระทบต่อเนื่องมาถึงปี 2563 เจอพิษการแพร่ระบาดของไวรัสอันตราย โควิด-19 ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจค้าปลีกไทยทรุดหนัก โดยเฉพาะกลุ่มศูนย์การค้าที่จับลูกค้าต่างชาติเป็นเป้าหมายหลัก

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากการรายงานผลประกอบการของบริษัทแม่ ทาคาชิมายะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2562 พบว่า สยาม ทาคาชิมายะ มีรายได้สุทธิจากการดำเนินงาน (Operating Income) ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยมีรายได้จากการดำเนินงาน (Operating revenue) 800 ล้านเยน หรือประมาณ 222 ล้านบาท ขาดทุน 400 ล้านเยน หรือราว 111 ล้านบาท เทียบกับทาคาชิมายะ เวียดนาม มีรายได้จากการดำเนินงาน 900 ล้านเยน หรือประมาณ 249 ล้านบาท อยู่ในระดับเสมอตัว ส่วนทาคาชิมายะ สิงคโปร์ มีรายได้จากการดำเนินงาน 8,200 ล้านเยน หรือประมาณ 2,277 ล้านบาท กำไรมากถึง 2,200 ล้านเยน หรือราว 611 ล้านบาท

นั่นทำให้คาดการณ์ผลดำเนินงานในปี 2563 มีแนวโน้มไม่ดีนักตามกระแสที่เกิดขึ้นกับธุรกิจทั่วทั้งโลก เพราะผลกระทบจากโควิด-19 และที่สำคัญ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองใช้เวลาเจรจาเกือบ 1 ปี กว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจน

เดิมทีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นหนึ่งใน 8 เส้นทางศึกษาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองของสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2552 เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบนถนนเจริญนครจนถึงถนนสมเด็จเจ้าพระยา แต่เนื่องจากแผนการดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้แผนโครงการเส้นทางสายรองทั้งหมดถูกยุบลง

ต่อมา ปี 2560 ชฎาทิพ จูตระกูล ผู้บริหารกลุ่มสยามพิวรรธน์ ได้รับคำแนะนำจาก คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกลุ่มบีทีเอส ให้เข้าพูดคุยกับกรุงเทพมหานคร เพื่อขอรื้อฟื้นโครงการและสร้างเส้นทางรอง ขนส่งผู้โดยสารจากโครงการไอคอนสยามเข้ารถไฟฟ้าสายหลัก 3 เส้นทางโดยรอบ ไอคอนสยามจึงเสนองบประมาณการก่อสร้างให้กรุงเทพมหานครเข้าดำเนินการ ก่อนได้รับการอนุมัติการดำเนินการจริงในปี 2561

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองเริ่มต้นจากสถานีกรุงธนบุรี โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม วิ่งไปตามแนวถนนเจริญนคร ผ่านศูนย์การค้าไอคอนสยาม สำนักงานเขตคลองสาน สิ้นสุดในช่วงแรกที่บริเวณแยกวงเวียนเล็ก (สมเด็จเจ้าพระยา-ประชาธิปก) รวมระยะทาง 5.7 กิโลเมตร โดยโครงการอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ และจะเปิดให้บริการในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 อัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ซึ่งหากโครงการมีผู้ใช้บริการและสร้างรายได้ตามเป้าหมาย กรุงเทพมหานครจะเดินหน้าขยายโครงการระยะที่ 2 ต่อไป

แน่นอนว่า ก่อนการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้ช่วง 2 เดือนสุดท้าย ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เป็นโอกาสที่ทาคาชิมายะต้องปลุกกระแสดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้บริการในห้างมากขึ้น และก่อนหน้านี้มีการขยายป๊อปอัปสโตร์แห่งแรกในไทยที่สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ นำสินค้าลักชัวรีแบรนด์เอ็กซ์คลูซีฟ และคอลเลกชั่นพิเศษจากญี่ปุ่น ทั้งสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่น กระเป๋าสตรีและบุรุษ จัดแคมเปญลดราคาเฉพาะสาขาด้วย

ส่วนแคมเปญฉลองครบรอบ 2 ปี ภายใต้ชื่อ “TAKASHIMAYA 2nd ANNIVERSARY” บริษัทรวบรวมไฮไลท์ 5 ความเป็นญี่ปุ่น เริ่มจากไฮไลท์แรก All Real Japan Food รวมรสชาติแห่งต้นตำรับร้านอาหารจากทั่วภูมิภาคญี่ปุ่น ได้แก่ ร้าน Tsukiji Takewaka (สึคิจิ ทาเควากะ) จากกรุงโตเกียว เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นระดับตำนาน วัตถุดิบส่งตรงจากตลาดปลาซึจิกิ โชว์กระบวนการตั้งแต่การนวดแป้งที่นำเข้าจากฮอกไกโด

ร้าน Kyoto Uji Saryo (เกียวโต อุจิ ซาเรียว) เป็นมัทฉะคาเฟ่ระดับตำนานจากเมืองอุจิ-เกียวโต

ร้าน Kissyan (คิชชัน) ร้านชาบู ชาบู ที่โด่งดังมากในญี่ปุ่น มีถึง 6 สาขาที่โอซาก้า และเปิดที่ห้างสรรพสินค้าสยาม ทาคาชิมายะ เป็นสาขาต่างประเทศแห่งแรก โดยเสิร์ฟเฉพาะเนื้อโกเบระดับ A5 ผ่านการรับรอง “Kobe Beef Certificate” เท่านั้น และมีเนื้อหมูคุโรบุตะ พร้อมน้ำซุป 3 รสชาติ ได้แก่ ชาบู ชาบู สุกี้ยากี้ และซุปมิโสะสไตล์ญี่ปุ่น

ร้าน Otaru Masazushi (โอตารุ มาซาซูชิ) ร้านอาหารแบบโอมากาเสะระดับตำนานเชี่ยวชาญเรื่องซูชิ จากฮอกไกโด มาเปิดสาขานอกญี่ปุ่นเป็นแห่งแรกที่สยาม ทาคาชิมายะ โดยเชฟใหญ่ Nakamura Takayuki เชฟมือวางอันดับ 4 ของโลก และ DonQ (ดอนคิว) ร้านเบเกอรี่ระดับตำนานอายุกว่า 100 ปีต้นกำเนิดที่เมืองโกเบ เป็นเบเกอรี่สไตล์ฝรั่งเศสที่นำมาปรับปรุงในสไตล์ของคนญี่ปุ่น ปัจจุบันมีสาขากว่า 200 สาขา รวมถึงในสยาม ทาคาชิมายะ

ไฮไลท์ที่ 2 “Autumn is the best” ช่วงเวลาแห่งความอร่อยในงาน Japan Autumn Food Fest 2020 ส่งตรงอาหารและผลไม้ในฤดูใบไม้ร่วงจากแหล่งผลิตที่ญี่ปุ่น

ไฮไลท์ที่ 3 การชมศิลปะการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น Ikebana Art of flower หนึ่งในสามของวัฒนธรรมเก่าแก่ดั้งเดิมที่อยู่คู่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคเฮอันหรือราวศตวรรษที่ 8 โดยร่วมกับสมาคมอิเคบานะอินเตอร์เนชั่นแนล แบงคอค แชปเตอร์ 177 ภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เชิญศิลปินนักจัดดอกไม้อิเคบานะชื่อดังจาก 3 สถาบันเก่าแก่จากญี่ปุ่น ได้แก่ อิเคโนโบะ โอฮาระ และโซเก็ทสึ มาจัดแสดงผลงาน ตั้งแต่วันที่ 13-22 พฤศจิกายน

ไฮไลท์ที่ 4 การเดินแฟชั่นโชว์ในสไตล์ญี่ปุ่นครั้งแรกในไทยกับเสื้อผ้าเจแปนแบรนด์ที่จำหน่ายเฉพาะที่สยาม ทาคาชิมายะ และแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ และไฮไลท์สุดท้าย การจัดโปรโมชั่นที่ดีที่สุดในรอบปีกับแบรนด์ญี่ปุ่นและแบรนด์ดังทั่วโลก ลดทั้งห้างสูงสุด 50%

ด้านไอคอนสยามประเดิมบิ๊กอีเวนต์ ICONSIAM Magic Comes Alive Celebrating With BANGKOK ILLUMINATION 2020 เพื่อปลุกบรรยากาศต่อเนื่องส่งท้ายปี เป็นเทศกาลประดับไฟตกแต่งริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นำผลงานของกราฟิกดีไซเนอร์ชั้นนำระดับโลก Mike Perry ออกแบบลวดลายตกแต่งต้นคริสต์มาส ประดับแสงไฟที่ยาวที่สุดริมแม่น้ำเจ้าพระยา

มีหุ่นยักษ์เรืองแสง Peeping Corner & What’s that ออกแบบโดยศิลปินทัศนศิลป์จากออสเตรเลีย Amanda Parer และประติมากรรมแท่งไฟเรืองแสงของศิลปินระดับโลกชาวนิวยอร์ก “SOFTlab” กับ Infinity Forest พร้อมการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดังหมุนเวียนยาวถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน

ทว่า ทั้งหมดเป็นเพียงการโหมโรงก่อนลุยแคมเปญยักษ์ฉลองปีใหม่ หากไม่เกิดอุปสรรคความเสี่ยงการระบาดรอบสองในประเทศไทย เพราะชื่อชั้นระดับไอคอนสยาม ทาคาชิมายะ และชฎาทิพ จูตระกูล ไม่ใหญ่จริงไม่จัดแน่

ใส่ความเห็น