วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > ถั่วลันเตาทดแทนเวย์โปรตีนได้ & ฝึกหายใจช่วยลดภาวะเลือดเป็นกรด

ถั่วลันเตาทดแทนเวย์โปรตีนได้ & ฝึกหายใจช่วยลดภาวะเลือดเป็นกรด

Column: Well – Being

ถั่วลันเตาทดแทนเวย์โปรตีนได้

ข่าวดีในวงการอาหารตอนนี้ คือ ทุกคนมีสิทธิได้รับประโยชน์อันเอกอุจากถั่วลันเตา

นิตยสาร Shape กล่าวถึงผลการศึกษาในฝรั่งเศสว่า หลังการออกกำลังกายแบบ resistance training แล้ว ผู้ที่บริโภคโปรตีนจากถั่วลันเตายอมรับว่า รู้สึกได้รับความแข็งแรงมากพอๆ กับผู้ที่ดื่มเวย์โปรตีนหลังออกกำลังกายเหมือนกัน

ดร.นิโคลัส บาบอลท์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งมหาวิทยาลัย Burgundy–Franche–Comte กล่าวว่า “โปรตีนถั่วลันเตาก็เหมือนเวย์โปรตีนที่เป็นแหล่งโครงสร้างของกรดอะมิโนที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และโดยเหตุที่บางคนอาจมีปัญหาการย่อยเวย์โปรตีน โปรตีนถั่วลันเตาจึงเป็นทางเลือกที่วิเศษสุด”

วารสาร Nutrient ยังรายงานว่า ถั่วลันเตาช่วยให้คุณรู้สึกอิ่มท้อง อาหารมื้อที่มีถั่วลันเตาและถั่วปากอ้า ทำให้ผู้บริโภครู้สึกอิ่มทนเหมือนได้กินเนื้อและไข่ที่มีโปรตีนและเส้นใยในปริมาณเท่ากัน ปัจจุบันวงการจึงได้เห็นผลิตภัณฑ์โปรตีนถั่วลันเตารูปโฉมใหม่ที่หลากหลายมากมายตั้งแต่น้ำปั่นไปจนถึงอาหารว่างให้ลิ้มลองกัน

ฝึกหายใจช่วยลดภาวะเลือดเป็นกรด
นิตยสาร Shape รายงานว่า ปัจจุบันวงการเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีกำลังคลั่งไคล้การฝึกกำหนดลมหายใจเข้าและออกกันยกใหญ่ ผู้คนพากันหลั่งไหลสมัครเข้าชั้นเรียนการฝึกกำหนดลมหายใจ ผู้ที่นิยมการฝึกแนวทางนี้ยืนยันว่า การฝึกหายใจเป็นจังหวะสม่ำเสมอช่วยพวกเขาได้เมื่อต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ตนเองได้

“การกำหนดลมหายใจทำให้ความคิดนิ่ง ทำให้คุณเชื่อมโยงกับร่างกายและความรู้สึกของคุณได้” ซารา ซิลเวอร์สไตน์ ครูฝึกสอนการกำหนดลมหายใจในบรุคลิน, รัฐนิวยอร์ก กล่าว

และถ้าคุณไม่สะดวกไปเข้าชั้นเรียน คุณสามารถทำที่บ้านเองก็ได้

ฝึกหายใจสามจังหวะ ลดภาวะเลือดเป็นกรด
รูปแบบการหายใจมี 3 ประเภทด้วยกัน แต่ที่เป็นพื้นฐานคือ การหายใจสามจังหวะ ซึ่งฝึกได้ด้วยการสูดลมหายใจผ่านทางปากให้ลึกเข้าสู่ช่องท้อง และให้เข้าสู่ช่องอกอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นพ่นลมหายใจออก จำไว้ว่าทุกขั้นตอนต้องทำผ่านปากทั้งหมด ทำซ้ำ 7–35 นาที

“คุณต้องหายใจเข้าและออกซ้ำๆ กัน เพื่อให้ได้รับการไหลเวียนที่ดีของออกซิเจน และรูปแบบการหายใจเป็นจังหวะ ทำให้คุณหลุดพ้นจากความคิดที่วนเวียนอยู่ในหัวได้” ซิลเวอร์สไตน์อธิบายและเพิ่มเติมว่า การรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเป็นไปอย่างมีพลังสูงมาก “เมื่อคุณหายใจเป็นจังหวะเร็ว ทำให้สามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีโมเลกุลเป็นกรดได้มากขึ้น เป็นการเปลี่ยนค่า pH ในเลือดของคุณให้มีความเป็นด่างมากขึ้น ส่งผลให้เซลล์ประสาทรับความรู้สึกและประสาทควบคุมการเคลื่อนไหว รวมทั้งเซลล์ประสาทในระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้น” แพทย์หญิงอเล็กซานดรา พัลมาอธิบาย

คุณอาจสังเกตได้ถึงความรู้สึกโปร่งโล่งสบายทั่วร่างกาย หรือแม้แต่รู้สึกเป็นสุขมากจนอดแปลกใจไม่ได้

มีความตั้งใจมั่น
เมื่อรู้ว่าคุณต้องการอะไรจากการฝึกกำหนดลมหายใจ คุณคาดหวังด้านความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ ต้องการแก้ปัญหาส่วนตัวหรือไม่

ซิลเวอร์สไตน์พูดถึงประเด็นนี้ว่า “มันจะเป็นประโยชน์มากในการเริ่มต้นด้วยความตั้งใจมั่นอย่างเจาะจง เพราะการกำหนดลมหายใจทำให้คุณได้สำรวจบางสิ่งบางอย่างที่ติดข้องอยู่ในจิตใจ หรือสะสมอยู่ในร่างกายของคุณ และทำให้คุณค้นพบแนวคิดใหม่ได้” แต่เธอย้ำให้มีความยืดหยุ่นด้วย “บางครั้งจิตใจคุณอาจวอกแวกไปบ้าง ยอมปล่อยให้เป็นไปตามนั้นเถอะ เพราะการพยายามควบคุมความคิดของคุณสามารถทำให้เกิดความล้มเหลวได้”

สร้างความแข็งแกร่งให้ร่างกาย
คุณสามารถใช้การกำหนดลมหายใจเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น “มีหลักฐานบ่งชี้ว่า การฝึกกำหนดลมหายใจสามารถเปลี่ยนวิธีที่ระบบภูมิคุ้มกันของคุณรับมือกับภาวะอักเสบได้” ดร.พัลมาระบุ “ผลการศึกษาพบว่า หลังได้รับพิษจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้เข้ารับการฝึกกำหนดลมหายใจอย่างสม่ำเสมอ มีการตอบสนองต่อการอักเสบขั้นรุนแรงน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยรับการฝึกมาก

หากพูดกันตามทฤษฎี ผลการศึกษาดังกล่าวสามารถช่วยให้คุณหายจากโรคภูมิแพ้หรืออาการไข้หวัดได้เร็วขึ้น หรือสามารถป้องกันคุณจากการเจ็บป่วยด้วยซ้ำ

ใส่ความเห็น