วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Life > ถนอมเทโลเมียร์ช่วยยืดอายุขัย

ถนอมเทโลเมียร์ช่วยยืดอายุขัย

Column: Well – Being

เกิด… แก่… เจ็บ… ตาย คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เราพึงสำเหนียกว่า ไม่มีใครหลีกเลี่ยงหรือหนีพ้นได้ แต่วิทยาศาสตร์พยายามหาหนทางควบคุมกระบวนการเสื่อมชราให้ทรงประสิทธิภาพได้มากกว่าที่คุณคาดคิดด้วยซ้ำ

ขึ้นกับเทโลเมียร์เท่านั้น
นิตยสาร GoodHealth รายงานข้อเท็จจริงว่า เมื่อพูดถึงกระบวนการเสื่อมชราของคนเรา จุดเริ่มต้นทั้งหมดเริ่มจากสิ่งที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของเรา โครงสร้างของแต่ละเซลล์ประกอบด้วยโครโมโซมที่ทำหน้าที่เป็นตัวพาหน่วยพันธุกรรมของเรา และตรงส่วนปลายสุดของโครโมโซมมีปลอกหุ้มที่เป็นโปรตีนเรียกว่า เทโลเมียร์ (telomeres)

เมื่อแรกเกิด เทโลเมียร์เหล่านี้ยาว 10,000 คู่เบส แต่พออายุมากขึ้นราว 35 ปี เทโลเมียร์จะลดความยาวเหลือเพียง 7,500 คู่เบส เมื่อเทโลเมียร์เริ่มสั้นลง เซลล์ของเราจะไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือผลกระทบที่เกิดขึ้น คือเราเริ่มแก่ตัวลงในเชิงชีววิทยา

ศาสตราจารย์เอลิซาเบธ แบล็คเบิร์น นักอณูชีววิทยาเจ้าของรางวัลโนเบล และศาสตราจารย์เอลิซซา เอเปล สองนักวิจัยชั้นนำด้านศาสตร์ชะลอวัยผู้ทุ่มเทเวลาถึง 2 ทศวรรษให้กับการศึกษาด้านความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเซลล์ร่างกายมนุษย์ โดยเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เมื่อเวลาล่วงเลยไปในแต่ละปี ให้คิดว่าร่างกายของเราก็เหมือนลังบรรจุผลแอปเปิลจนเต็ม “เซลล์ในร่างกายคนที่ยังแข็งแรง เปรียบเหมือนแอปเปิลที่ยังสด มีผิวใสชุ่มน้ำ แต่ลองคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าในลังนั้นมีแอปเปิลเน่าหนึ่งลูก มันจะทำให้แอปเปิลอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ เน่าเสียตามไปด้วย แอปเปิลเน่าที่ว่านี้ก็เหมือนเซลล์ที่แก่ตัวนั่นเอง”

พวกเธอค้นพบในการวิจัยว่า “เซลล์ที่แก่ตัวเหล่านี้ก็เหมือนซอมบี้ที่ไม่สามารถทำงานตามหน้าที่ให้ลุล่วงได้ ไม่สามารถตอบสนองต่อความเครียดที่เข้ามากระทบตามปกติได้ ไม่ว่าจะในทางกายภาพหรือจิตใจ” จึงสะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของเส้นผมที่เปลี่ยนเป็นสีเทา ริ้วรอยเหี่ยวย่น หรือผิวตกกระ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงเซลล์ที่แก่ลงของเรา

สิ่งที่ทำให้เราแลดูแก่คืออะไรล่ะ
“ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเสื่อมชราในปัจจุบันย้ำว่า เมื่อเวลาผ่านไป ดีเอ็นเอในเซลล์ของเราถูกทำลายมากขึ้น ส่งผลให้เซลล์แก่ตัวลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และไม่สามารถทำงานตามหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ศาสตราจารย์แบล็คเบิร์นและศาสตราจารย์เอเปลยังอธิบายว่า “เราสงสัยเสมอว่า ดีเอ็นเอตัวไหนที่ถูกทำลาย และอะไรเป็นตัวที่เข้ามาทำลาย” พวกเธอค้นพบว่า หัวใจสำคัญในเซลล์ของเราคือ เทโลเมียร์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เราจินตนาการว่า เทโลเมียร์นี้คล้ายกับปลอกหุ้มพลาสติกที่หุ้มตรงส่วนปลายสุดของเชือกผูกรองเท้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่า เซลล์จะแก่ตัวลงเร็วแค่ไหน

ปกป้องเซลล์ของเรา
เราแก่ตัวลงอย่างมีคุณภาพแค่ไหน ส่วนใหญ่ขึ้นกับสุขภาพของเซลล์ในร่างกาย มีผลการวิจัยจำนวนมากขึ้นที่ระบุว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำลงไปนั้นเป็นตัวกำหนดว่า เราจะยังคงความอ่อนเยาว์ไว้ได้นานแค่ไหน เมื่อมีเซลล์แข็งแรงเกิดขึ้น เทโลเมียร์ในเซลล์เหล่านั้นก็ยังทำหน้าที่ของมันได้อย่างแข็งขัน ทุกครั้งที่เซลล์มีการแบ่งตัว เทโลเมียร์จะทำให้แน่ใจว่า การทำสำเนาของหน่วยพันธุกรรมในเซลล์นั้นลุล่วงโดยสมบูรณ์ แต่ในทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัว เทโลเมียร์จะถูกทำลายลงเล็กน้อย จนในท้ายที่สุด มันจะสั้นลงจนถึงจุดที่เซลล์นั้นตายลง

นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว ถ้าเซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก มันจะ “สับสนและหมดแรง” ซึ่งศาสตราจารย์แบล็คเบิร์นและศาสตราจารย์เอเปลกล่าวว่า “มันจะไม่สามารถเข้าใจสัญญาณต่างๆ ที่มันรับเข้ามาได้อย่างถูกต้อง และในทางกลับกันก็ไม่สามารถส่งสารที่ถูกต้องออกไปได้ บรรดาเซลล์ที่แก่ตัวยังส่งสัญญาณเตือนภัยผิดๆ ด้วยการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบเข้าสู่ร่างกาย”

กระบวนการเหล่านี้ไม่เพียงทำให้เราดูแก่ลง ยังเพิ่มความเสี่ยงของการมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ การเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ซ้ำร้ายกว่านั้น เซลล์อายุมากเหล่านี้ยังไม่สามารถขับของเสียทิ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ของเสียที่สะสมในร่างกายสามารถก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทด้วย

ทางแก้ปัญหาคือ เราจำเป็นต้องปกป้องดีเอ็นเอที่อ่อนไหวนี้ให้อยู่ในภาวะเสถียรให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปัจจัยสำคัญคือ การมีเทโลเมียร์ที่แข็งแรง ซึ่งก็คือ การมีเอนไซม์เทโลมีเรสปริมาณมากที่ช่วยให้สามารถซ่อมแซมและฟื้นฟูเทโลเมียร์ของเรานั่นเอง

ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ณ จุดนี้ ปัจจัยเกี่ยวกับวิถีชีวิตเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ เช่น การลดความเครียด การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นผลดีอย่างแท้จริงต่อสุขภาพของเราโดยลงลึกไปถึงระดับเซลล์เลยทีเดียว

ศาสตราจารย์แบล็คเบิร์นและศาสตราจารย์เอเปลสรุปว่า เทโลเมียร์ “เชื่อฟังเรา มันรับคำสั่งที่เราส่งให้ด้วย วิถีชีวิตของเราสามารถสั่งให้เทโลเมียร์เร่งกระบวนการเสื่อมชราให้เร็วขึ้น แต่มันก็สามารถชะลอกระบวนการให้ช้าลงได้เช่นกัน

ใส่ความเห็น