วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > ซีพีฟู้ดเวิลด์ บุกแหลก เปิดศึกบุฟเฟ่ต์ครบวงจร

ซีพีฟู้ดเวิลด์ บุกแหลก เปิดศึกบุฟเฟ่ต์ครบวงจร

“ซีพีเอฟ” ใช้เวลากว่า 4 ปี ปลุกปั้นธุรกิจศูนย์อาหาร “ซีพีฟู้ดเวิลด์” เพื่อเปิดช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสู่มือผู้บริโภค พร้อมๆ กับแตกไลน์เจาะ “ธุรกิจจัดเลี้ยง (Catering)” ทั้งรูปแบบการจัดเลี้ยงสไตล์บุฟเฟ่ต์ อาหารกล่อง มีลบ็อกซ์ สแน็กบ็อกซ์ และบริการอาหารเฉพาะกลุ่ม ซึ่งภาพรวมตลาดมีมูลค่าเม็ดเงินมากกว่า 62,000 ล้านบาท และกำลังเติบโตต่อเนื่องชนิดก้าวกระโดดด้วย

ที่สำคัญ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตั้งเป้าหมายสูงสุด ต้องการเป็น Food Organizer และ Food Service Provider ให้บริการด้านอาหารทุกรูปแบบ เจาะทุกตลาด และรองรับทุกความต้องการของผู้บริโภค ไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าและเปิดหน้าร้านค้าปลีก

อมร อำไพรุ่งเรือง รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ซึ่งดูแลธุรกิจการให้บริการด้านอาหาร “ซีพี ฟู้ดเวิลด์” เปิดเผย “ผู้จัดการ 360” ว่า บริษัทต้องการชูความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหารครบวงจร โดยควบคุมคุณภาพการผลิตอาหารถูกอนามัย ได้มาตรฐาน สามารถรับประกันคุณภาพและตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อาหารอย่างเป็นระบบ เพื่อเร่งขยายธุรกิจบริการอาหาร 2 รูปแบบ ทั้งธุรกิจศูนย์อาหาร (Food Court) และธุรกิจจัดเตรียมพร้อมเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มนอกสถานที่ (Catering) โดยเฉพาะกลุ่มแคทเทอริ่ง เนื่องจากตลาดรวมยังมีบริษัทรายใหญ่เข้ามาแข่งขันไม่มากนัก

ปัจจุบันกลุ่มแคทเทอริ่งภายใต้แบรนด์ “ซีพีฟู้ดเวิลด์ (CP Food World)” มีรูปแบบบริการ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอีเวนต์แคทเทอริ่ง ให้บริการในงานอีเวนต์ต่างๆ เช่น ที่ผ่านมาให้บริการอาหารในงานเปิดตัวภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง “ศรีอโยธยา” ผลงานกำกับของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ซึ่งเริ่มออกอากาศทางช่องทรูวิชั่นส์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา

เร็วๆ นี้ ซีพีเอฟยังได้สิทธิ์เข้าไปให้บริการอาหารในรายการสปอร์ตอีเวนต์ระดับโลก “โมโตจีพี 2018” ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2561 ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยคาดการณ์จะมีนักท่องเที่ยวเข้าชมการแข่งขันนับแสนคน

2. กลุ่ม On-site Catering ให้บริการอาหารพร้อมเสิร์ฟในสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม และโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันบริษัทสามารถเจาะเข้าสู่ตลาดหลายราย ได้แก่ โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (สาธิต PIM) สถาบันผู้นำ (เขาใหญ่) สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ และโรงพยาบาล ทั้งของรัฐและเอกชน เช่น โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระราม 9 โรงพยาบาลเอกชล 1

3. กลุ่มมีลบ็อกซ์และสแน็กบ็อกซ์ ซึ่งให้บริการกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ต้องการสั่งซื้อในจำนวนต่างๆ และมีให้เลือกหลากหลายราคา เริ่มต้นตั้งแต่ 35-40 บาท

ทั้งนี้ ซีพีเอฟตั้งเป้าจะเพิ่มกลุ่มลูกค้า On-site Catering ในปี 2561 อย่างน้อยอีก 5-6 ราย โดยวางแผนเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ โรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มสายการบิน และสโมสรกีฬาต่างๆ ซึ่งมีความต้องการรูปแบบอาหารแตกต่างกัน

อย่างกลุ่มโรงพยาบาลเน้นอาหารสุขภาพและอาหารรองรับกลุ่มผู้ป่วย อาหารเหลว อาหารสายยาง ขณะที่กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเน้นอาหารราคาไม่สูงมากรองรับพนักงานจำนวนมาก

ส่วนกลุ่มโรงเรียนนานาชาติเน้นอาหารคุณภาพสูง สีสันสวยงาม และกลุ่มสโมสรกีฬา ซึ่งถือเป็นฐานลูกค้าใหม่ที่บริษัทกำลังพยายามเจาะตลาด เพราะมีช่องว่างการเติบโต ซึ่งซีพีเอฟสามารถตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งในแง่การจัดเตรียมอาหารเพื่อเสริมกล้ามเนื้อและสร้างพลังงาน เช่นเดียวกับที่เคยจัดเตรียมให้บรรดานักกีฬาชุดซีเกมส์และอาเซียนพาราเกมส์ 2017

แน่นอนว่า หากเทียบกำไรเฉลี่ยต่อมื้อ บริการแคทเทอริ่งในโรงพยาบาลมีมาร์จินสูงสุด เนื่องจากเป็นอาหารเฉพาะกลุ่ม คุณภาพเทียบเท่าบริการในโรงแรมระดับ 5 ดาว และให้บริการแบบครบวงจร โดยมีทีมโภชนากรทำงานร่วมกับทีมแพทย์ของโรงพยาบาล กำหนดเมนู การปรุงอาหารอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ขณะที่ยังคงรสชาติและหน้าตาอาหารที่น่ารับประทาน พร้อมทีมงานให้บริการรับออเดอร์และเสิร์ฟอาหารถึงห้องผู้ป่วย

นอกจากนี้ มีทีมงานตรวจสอบคุณภาพ (Quality Audit: QA) ตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการและคุณภาพอาหารทุกขั้นตอนอย่างเข้มงวด มีบริการอาหารให้คณะแพทย์และพยาบาล ญาติผู้ป่วย (Room Service) โรงอาหารสำหรับพนักงานและโรงอาหารกลางของโรงพยาบาล

ขณะที่หากดูภาพรวมตลาดแคทเทอริ่งยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งเพียงไม่กี่เจ้า โดยเฉพาะในตลาดโรงพยาบาลที่มีมูลค่าเม็ดเงินมหาศาล มีศักยภาพและเติบโตสูง ล่าสุดมีเพียง 3 รายใหญ่

กลุ่มแรก “โซเด็กซ์โซ่” จากประเทศฝรั่งเศส มีเครือข่ายสาขามากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นผู้ผูกขาดตลาดมานาน เนื่องจากให้บริการแบบครบวงจร ทั้งด้านอาหาร อาคาร และอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ ล่าสุดยังร่วมกับบริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จัดตั้งบริษัท โซเด็กซ์โซ่ อมตะ เซอร์วิสเซส เพื่อให้บริการแบบครบวงจรสำหรับบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมในอมตะนครและอมตะซิตี้ รวมถึงในประเทศเวียดนาม เมียนมา และ สปป.ลาว

รายต่อมา ได้แก่ กลุ่มฟู้ดเฮ้าส์ เคเตอร์ริ่ง เซอร์วิสเซส เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท พรอพเพอร์ตี้แคร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (พีซีเอส) ในเครือโอซีเอส กรุ๊ป ประเทศอังกฤษ

กลุ่มนี้เจาะลูกค้าทั้งกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพในโรงพยาบาล มีบริการความรู้และพัฒนาเมนูอาหารสุขภาพ การให้บริการประจำห้องคนไข้ จัดรายการอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มการศึกษา ให้บริการด้านโภชนาการกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย วิทยาลัย และศูนย์การศึกษาสำหรับผู้ใหญ่

กลุ่มธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม เข้าไปเปิดฟู้ดเฮ้าส์ เคเตอร์ริ่ง เซอร์วิสเซส ให้บริการกับพนักงานภายในโรงงานตลอด 24 ชั่วโมง และกลุ่มสำนักงาน-องค์กร ให้บริการในรูปแบบศูนย์อาหาร ร้านอาหาร ขนาดเล็ก หรือรูปแบบการขายอาหารในสำนักงานให้เช่า รวมถึงการขายลักษณะเดลิเวอรี่ที่สามารถโทรศัพท์มาสั่งอาหารได้ เพื่อความสะดวกสบายกับกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเวลามานั่งรับประทานในร้านหรือลูกค้าที่มีเวลาน้อย

ยักษ์ใหญ่อีกรายที่น่าสนใจมาก คือ “กรูเมท์ เฮาส์” ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แชมป์เศรษฐีหุ้น ซึ่งถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจแคทเทอริ่ง เพื่อรองรับอาณาจักรธุรกิจในเครือ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ล่าสุดมีเครือข่ายโรงพยาบาลมากกว่า 44 แห่ง ภายใต้แบรนด์โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล และมีแผนผุดบิ๊กโปรเจกต์ “บีดีเอ็มเอส เวลเนสคลินิก” เพื่อขยายฐานลูกค้าต่างชาติกลุ่มเมดิคอลทัวริซึ่มที่แห่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย

ว่ากันเฉพาะ 4 รายยักษ์ใหญ่ ซีพี โซเด็กซ์โซ่ ฟู้ดเฮาส์ และกรูเมท์ เฮาท์ เทียบกันชอตต่อชอต ทุนต่อทุน บริการ เครือข่าย และออปชัน

สงครามอาหารบุฟเฟ่ต์-แคทเทอริ่ง ไม่ธรรมดาแน่

ใส่ความเห็น