วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ชัยชนะของ โจ ไบเดน และอานิสงส์ที่ไทยได้รับ

ชัยชนะของ โจ ไบเดน และอานิสงส์ที่ไทยได้รับ

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลให้ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะกลายเป็นอดีตประธานาธิบดี โดยมีโจ ไบเดน ในวัย 77 ปี ซึ่งชนะการเลือกตั้งกลายเป็นว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนใหม่ พร้อมกับสถิติการเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังปรากฏผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนมากขึ้น ในด้านหนึ่งได้รับการประเมินว่าจะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะงักงันจากผลของกรณีพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ต่อเนื่องยาวนานน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จากผลของนโยบายด้านการต่างประเทศของโจ ไบเดน ที่มีลักษณะผ่อนปรนและประนีประนอมมากกว่านโยบายแข็งกร้าวที่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินมาตลอดระยะ 4 ปีที่เขาครองอำนาจในทำเนียบขาว

นักวิเคราะห์จำนวนมากประเมินว่า นโยบายของโจ ไบเดน จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภูมิภาค เศรษฐกิจไทย และตลาดการเงิน รวมทั้งธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ หลากหลายลักษณะ ซึ่งโดยภาพรวมเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากโจ ไบเดนมีแนวคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมผสมสังคมนิยมประชาธิปไตยอ่อนๆ ถือเป็นกลุ่มผู้นำทางการเมืองสายกลาง ซึ่งจะทำให้การเผชิญหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกจะลดลง และมีเสถียรภาพ สันติภาพมากขึ้น

ขณะที่ระบบการค้าเสรีของโลกภายใต้ข้อตกลงแบบพหุภาคี จะกลับมามีบทบาทมากขึ้น โดยสหรัฐอเมริกาอาจเริ่มต้นพิจารณาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) อีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย

ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของประเทศไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น ขณะที่ในปี 2563 มูลค่าการค้าไทยและสหรัฐอเมริกาในช่วง 9 เดือนแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท เลื่อนขึ้นจากลำดับที่ 4 มาเป็นลำดับที่ 2 รองจากอาเซียน โดยตัวเลขการส่งออกไทยไปสหรัฐอเมริกาเดือนมกราคม-กันยายน รวม 9 เดือนแรกของปี มีมูลค่าการค้า 7.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.7 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย ซึ่งเฉพาะในเดือนกันยายน ปี 2563 การส่งออกไทยไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.7 ซึ่งสินค้า 4 กลุ่มหลักสำคัญประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์, อาหาร, เครื่องตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน และอุปกรณ์วัสดุทางการแพทย์

ขณะเดียวกันนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดการกีดกันการค้าลงในยุคสมัยของโจ ไบเดนจะส่งผลบวก โดยเฉพาะผลดีอย่างมากต่อธุรกิจอุตสาหกรรมไทยที่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมต่อกับสินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐอเมริกา เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางเป็นส่วนประกอบสำคัญ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไม้และเฟอร์นิเจอร์

ความเป็นไปของการค้าระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาพบว่าในปี 2562 สหรัฐอเมริกา ส่งออกมาไทย มูลค่ารวม 1.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.08 แสนล้านบาท ส่วนไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกา รวมมูลค่า 3.35 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.03 ล้านล้านบาท ซึ่งหมายความว่าสหรัฐอเมริกาขาดดุลสะสม 2.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.18 แสนล้านบาท

ขณะที่ในปี 2563 นับตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน สหรัฐอเมริกาส่งออกมาไทย มูลค่า 8.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.57 แสนล้านบาท ส่วนไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกา มูลค่า 2.74 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.4 แสนล้านบาท รวมแล้วสหรัฐอเมริกาขาดดุลสะสม 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.83 แสนล้านบาท โดยไทยเป็นประเทศที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลสะสมมากที่สุดเป็นอันดับ 11 ขณะที่ จีนเป็นคู่ค้าที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลสะสมมากเป็นอันดับหนึ่ง

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งอยู่ที่การเจรจาทางการค้าระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา หลังจากที่มีการประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) ต่อสินค้าไทยในช่วงก่อนหน้านี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางการไทยเชื่อว่าจะสามารถยื่นขอให้ทบทวนให้ได้รับสิทธิกลับคืนมาได้ ด้วยการนำเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน และประเด็นสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานสากลเป็นข้อแลกเปลี่ยนได้ อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังประเมินว่าการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐอเมริกาต่อสินค้าไทยครั้งล่าสุด มีผลกระทบทางลบต่อภาคส่งออกไทยและเศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มากนัก เพราะอัตราการขยายตัวภาคส่งออกไทยไปสหรัฐอเมริกายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และน่าจะเพิ่มอีกในยุคของโจ ไบเดน ขณะที่สินค้าไทยที่เป็นคู่แข่งกับจีนอาจมีการเติบโตลดลงบ้าง

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทำเนียบขาวไม่เพียงแต่ส่งผลต่อธุรกิจการค้าของไทยเท่านั้น หากแต่ยังประกอบส่วนด้วยนโยบายด้านการระหว่างประเทศ โดยเฉพาะท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่จะมีต่อจีนในอนาคต ซึ่งได้รับการประเมินว่านโยบายของสหรัฐอเมริกาในยุคของโจ ไบเดน ที่มีต่อจีนจะดำเนินไปในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ มากกว่าในฐานะคู่แข่งทางเศรษฐกิจและศัตรูทางเศรษฐกิจการค้าที่ต้องใช้มาตรการภาษีตอบโต้ หรือคว่ำบาตรด้วยมาตรการทางธุรกิจและกฎหมาย

กระนั้นก็ดี สงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะยังไม่ยุติลง เพียงแต่ผ่อนคลายขึ้น เพราะสหรัฐอเมริกายังต้องการจำกัดการขยายอิทธิพลและบทบาทจีนในภูมิภาคและในโลก โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน อาจจะใช้ Non-Tarriffs Barriers หรือข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในการตอบโต้ต่อจีนและประเทศเอเชียบางประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อม

ความน่าสนใจอีกมิติหนึ่งอยู่ที่การเคลื่อนตัวของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจพลังงานน้ำมันฟอสซิลและก๊าซธรรมชาติ อาจเคลื่อนย้ายมายังประเทศเอเชียและประเทศดาวรุ่งทางเศรษฐกิจ หรือตลาดเกิดใหม่ และธุรกิจเหล็กและอะลูมิเนียม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาจเคลื่อนย้ายมาอาเซียนมากขึ้น กรณีธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียม อาจมีการลดกำแพงภาษีลง ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมทางด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกจะเติบโตเพิ่มขึ้น พร้อมกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์แบบใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งตอกย้ำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยต้องเร่งปรับตัวโดยด่วน และต้องลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

จังหวะก้าวและแนวนโยบายของโจ ไบเดน ดูจะแตกต่างจากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เน้น American First ซึ่งติดตามมาด้วยการตัดความช่วยเหลือด้านต่างๆ ต่อพันธมิตร และองค์กรระหว่างประเทศเกือบทั้งหมด ขณะที่โจ ไบเดน น่าจะไม่ลดความช่วยเหลือทางการทหาร ทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษาวิจัย เพราะไม่ต้องการลดบทบาทตัวเองในฐานะผู้นำโลก และคาดว่าการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด และโรคระบาดอุบัติใหม่ ในระดับโลกจะดีขึ้นจากการสนับสนุนองค์การอนามัยโลกมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับผู้อำนวยการอนามัยโลกดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสว่าด้วยบรรยากาศโลก และปัญหาภาวะโลกร้อน (Paris Climate Agreement) อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้ถอนตัวออกมาอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ แม้ว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นงานที่ท้าทายโจ ไบเดน ในการผลักดันและอาจไม่เกิดขึ้นโดยง่าย เพราะวุฒิสภาซึ่งมีแนวโน้มว่าจะครองเสียงข้างมากโดยพรรครีพับลิกันอาจไม่เห็นชอบด้วย

แม้ว่าชัยชนะของโจ ไบเดนมีแนวโน้มที่จะส่งผลบวกต่อบรรยากาศทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ขณะที่ไทยก็ดูจะยินดีกับอานิสงส์ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต หากแต่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากกว่าในระยะเวลานับจากนี้ ก็คือท่ามกลางการเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจของไทยที่ทรุดหนักมายาวนาน เราจะแสวงหาหนทางในการเติบโตในยุคสมัยของการแข่งขันหนักหน่วงนี้อย่างไร

ใส่ความเห็น