วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > จุดพลุรถอีวีสู้น้ำมันแพง ศึกหั่นราคาขยายตลาด

จุดพลุรถอีวีสู้น้ำมันแพง ศึกหั่นราคาขยายตลาด

มหกรรมยานยนต์ Motor Show 2022 (บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43) ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม-3 เมษายน 2565 กลายเป็นสนามแข่งขันปั่นกระแสยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ท่ามกลางวิกฤตราคาน้ำมันแพงขึ้นทุกวัน และคาดว่าจะผลักดันยอดจดทะเบียนอีวีปีนี้พุ่งพรวดก้าวกระโดดมากกว่า 10,000 คัน

แน่นอนว่า แรงส่งสำคัญมาจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ไฟเขียวแพ็กเกจส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตการใช้ยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle: BEV) ในประเทศตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ทุกประเภท ทั้งมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษีโดยเป็นมาตรการระยะสั้น ระหว่างปี 2565-2568

ตามแผนแบ่งช่วง 2 ปีแรก (ปี 2565-2566) เน้นสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ทั้งการนำเข้ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) และกรณีรถยนต์/รถยนต์กระบะ/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) ผ่านการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุน เพื่อเพิ่มอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการในไทย

อีก 2 ปีถัดไป (ปี 2567-2568) เน้นการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยยกเลิกการยกเว้น/ลดอากรนำเข้า รถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และเงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป เพื่อทำให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันที่นำเข้าสูงกว่ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ

หากแยกรายละเอียดให้ชัดเจน คือ 1. รถยนต์ ราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้าน แต่ต้องผลิตและประกอบในประเทศไทย จะได้สิทธิประโยชน์ลดอากรนำเข้าสูงสุด 40% (ปี 2565-2566) ลดภาษีสรรพสามิตรถจาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0% ให้เงินอุดหนุน (ปี 2565-2568) 70,000 บาทต่อคัน แต่แบตเตอรี่ต้องต่ำกว่า 30 kWh ให้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน แต่แบตเตอรี่ต้องมากกว่า 30 kWh

2. รถยนต์ ราคาขายปลีก 2-7 ล้านบาท ลดอากรนำเข้าสูงสุด 20% (ปี 2565-2566) ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2%

3. รถกระบะ ราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้าน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เป็น 0% (ปี 2565-2568) ให้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน สำหรับแบตเตอรี่ไฟฟ้า 30 kWh เฉพาะผลิตในประเทศไทย (ปี 2565-2568)

แต่ค่ายรถยนต์ผู้ผลิตต้องผลิตรถชดเชยเท่ากับจำนวนที่นำเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน ช่วงปี 2565-2566 ในปี 2567 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า หรือนำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน และผลิต BEV รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถที่มีราคาขายปลีกราคา 2-7 ล้านบาทต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามา

4. รถจักรยานยนต์ ราคาขายปลีกไม่เกิน 150,000 บาท ได้เงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน ทั้งการผลิตในประเทศ และการนำเข้า (ปี 2565-2568) โดยต้องเป็นผู้ประกอบการในประเทศ ผลิตรถชดเชยในปี 2567 เท่าจำนวนนำเข้าในอัตราส่วน 1.5 เท่า หรือนำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน

หลังมีมติ ครม. ถัดมาไม่กี่วัน กรมสรรพสามิตจัดพิธีลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 2 ราย ได้แก่ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กับกลุ่มบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งสามารถใช้สิทธิรับเงินอุดหนุนจากการจำหน่ายรถยนต์ BEV ในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ได้ทันทีและคาดว่าจะมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์รายอื่นๆ เข้าร่วมลงนามข้อตกลงต่อเนื่อง ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เช่น ค่าย เนต้า จากจีน ได้ยื่นขอเข้าร่วมมาตรการแล้ว

สำหรับบริษัท เกรท วอลล์ฯ นำรถยนต์ BEV มาจำหน่าย 3 รุ่น ได้แก่ ORA Good Cat รุ่น 400 TECH ลดราคาจาก 989,000 บาท เหลือ 828,500 บาท ORA Good Cat รุ่น 400 PRO จากราคา 1,059,000 บาท เหลือ 898,500 บาท และ ORA Good Cat รุ่น 500 ULTRA จาก 1,199,000 บาท เหลือ 1,038,500 บาท โดยมีรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมจำหน่าย 1,500 คัน

ขณะที่บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด นำมาจำหน่าย 3 รุ่น ได้แก่ MG ZS EV, MG EP และ MG EP PLUS โดยมีรถยนต์พร้อมจำหน่าย 500 คันและลดราคาทุกรุ่น 2.27-2.40 แสนบาท

ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานจัดงานมอเตอร์โชว์ 2022 กล่าวว่า การจัดงานมอเตอร์โชว์ถือเป็นการกระตุ้นตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกให้คึกคัก โดยมีค่ายรถยนต์-รถจักรยานยนต์ชั้นนำเข้าร่วมงานมากกว่า 37 แบรนด์ บนพื้นที่กว่า 170,960 ตารางเมตร ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เชื่อว่าตลอด 10 วันของการจัดงานจะมียอดจองมากถึง 40,000 คัน เงินสะพัดมากกว่า 40,000 ล้านบาท

ที่สำคัญ ปีนี้ขยายพื้นที่โซน EV Smart City เพื่อรองรับการจัดแสดงของรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 20 รุ่น จากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ 8 แบรนด์ ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) มินิ (MINI) เกรทวอลล์ (GWM) มิตซูบิชิ (Mitsubishi) เอ็มจี (MG) นิสสัน (Nissan) วอลโว่ (Volvo) และปอร์เช่ (Porsche) และเป็นครั้งแรกของ บริษัท อรุณพลัส ในเครือ ปตท. ที่จะเข้าร่วมนำเสนอเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มที่จะใช้ในการผลิตรถยนต์

ทั้งนี้มี 8 รุ่นไฮไลต์ ได้แก่ นิสสัน ลีฟ (Nissan Leaf) เอ็ม แซดเอส อีวี (MG ZS EV) วอลโว่ เอ็กซ์ซี-40 มินิ Electric Collection Edition เพียว อิเล็กทริค (Volvo XC40 Recharge Pure Electric) บีเอ็มดับเบิลยู ไอเอ็กซ์ 3 (BMW iX3) ออร่า กู๊ดแคท (ORA Good Cat) รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจาก เกรท วอลล์ มอเตอร์ ปอร์เช่ ไทคานน์ ครอส ทัวริสโม ใหม่ (The new Taycan Cross Turismo) มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Mitsubishi Outlander PHEV)

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มแบบก้าวกระโดด คาดปีนี้อยู่ที่ 5,000 คัน จากปี 2564 จดทะเบียนเพียง 1,900 คัน และหากนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าราคาเพียงคันละ 6-6.5 แสนบาทได้ บวกนโยบายรัฐลดภาษี และมีส่วนลด รวมทั้งค่ายรถตื่นตัวออกโปรโมชั่น มีความเป็นไปได้ที่ยอดจดทะเบียนปีนี้อาจถึง 8,000-10,000 คัน

ล่าสุดมีค่ายรถได้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาเตรียมจำหน่ายในราคาซึ่งถูกลงกว่าเดิมแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 คัน โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์จากจีน หากเป็นรถที่มีราคาประมาณ 900,000 บาท อาจเห็นการลดราคาเหลือ 700,000 บาท ส่วนรถยนต์ 400,000-500,000 บาท จะลดเหลือ 300,000-400,000 บาท รถยนต์ราคา 1.4 ล้านบาท จะเหลือประมาณ 1.2 ล้านบาท

หลายฝ่ายในวงการจึงต่างจับตากระแสอีวีจะจุดติดและขยายวงกว้างขวางได้จริงหรือไม่.

ใส่ความเห็น