วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > จาก OBOR สู่ ALIPAY การรุกคืบที่เป็นรูปธรรมจากจีน

จาก OBOR สู่ ALIPAY การรุกคืบที่เป็นรูปธรรมจากจีน

ข่าวว่าด้วยสังคมไร้เงินสดในจีน ที่จุดพลุกระตุ้นความสนใจจากความสำเร็จของ ALIPAY ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบชำระเงินออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือชั้นนำของโลก และเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซจากประเทศจีน ในด้านหนึ่งดูจะได้รับการประเมินอย่างจำกัดในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดใหม่ที่เอื้ออำนวยความสะดวกในเชิงพาณิชย์ให้ดำเนินไปอย่างคล่องตัว

แต่หากพิจารณาภายใต้กรอบโครงความเป็นไปทางยุทธศาสตร์ระดับมหภาคของจีน ทั้งในมิติของการประกาศนโยบายเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ The Silk Road Economic Belt and the 21st-century Maritime Silk Road รวมถึงความพยายามของจีนที่จะผลักดันให้เงินสกุลหยวนเป็นที่ยอมรับและมีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจการเมืองระดับนานาชาติ ผ่านการจัดตั้งธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) จังหวะก้าวของ ALIPAY ในการรุกคืบสร้างสังคมไร้เงินสดก็เป็นประหนึ่งข้อต่อเชื่อมในเชิงรูปธรรมให้กับยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ของจีนอย่างไม่อาจมองข้ามได้

การเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมไร้เงินสด ภายใต้การนำของ ALIPAY ไม่ได้มีผลในการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอย่างจำกัดเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริงกลไกของสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังเป็นประหนึ่งการนำไปสู่การเกิดขึ้นของเงินสกุลใหม่ที่สามารถไหลบ่าและเคลื่อนย้ายสถานที่ไปได้อย่างเสรี ที่อยู่เหนือระเบียบข้อกำหนดไปไกล

ยอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทางการเงินที่มีมากถึงกว่า 600 ล้านครั้งในประเทศจีน ดำเนินไปอย่างมีอัตราเร่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะในช่วงระยะเวลาเพียง 2-3 ปีที่ผ่านมายอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทางการเงินมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 3.4 เท่า จากระดับ 177 ล้านครั้งในปี 2014 มาสู่ระดับกว่า 600 ล้านครั้งในปัจจุบัน ถือเป็นอัตราการเติบโตที่รวดเร็วแซงหน้าพัฒนาการที่ปรากฏขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนทั้งระบบ ที่มีอัตราการเติบโตเพียง 2.5 เท่าอย่างไม่อาจเทียบกันได้

และเมื่อคิดคำนวณจากฐานประชากรขนาดมหึมาของจีน ดูเหมือนโอกาสที่การเติบโตของสกุลเงินออนไลน์จากผู้ประกอบการจากจีนจะยิ่งมีมากขึ้น และทำให้ภูมิทัศน์ของผู้ประกอบการทั้งในแวดวงการเงิน รวมถึงผู้ให้บริการและจำหน่ายสินค้าในภูมิภาคอาเซียนต้องปรับตัวให้สอดรับกับคลื่นนักท่องเที่ยวจากจีนที่พร้อมจะไหลบ่าเข้าท่วมทับ ไม่ต่างจากกองกำลังติดอาวุธที่พร้อมยกพลขึ้นบก เข้าแทรกซึมและยึดครองบริบทธุรกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมผ่านอุปกรณ์มือถือและ QR Code ที่ทรงประสิทธิภาพนี้

การแถลงข่าวประกาศตัวเป็นพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนเพื่อรองรับการเชื่อมต่อเข้ากับระบบของ ALIPAY ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมา กลายเป็นการสร้างมาตรฐานทางการเงินชนิดใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวจีน เพราะนอกจากพวกเขาจะไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินตราจากสกุลเงินหยวนเป็นสกุลเงินท้องถิ่นในแบบเดิมแล้ว พวกเขายังสามารถเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อหาบริการและสินค้าโดยได้รับสิทธิประโยชน์และข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติมอีกด้วย

“ALIPAY ไม่ได้เป็นแค่แอปพลิชันสำหรับชำระค่าสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นซูเปอร์แอปพลิเคชันที่ทำอะไรๆ ได้มากกว่าการชำระเงิน นั่นหมายถึงการให้ความสะดวกสบายและบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์แก่ผู้ใช้แอปฯ ขณะเดียวกันร้านค้าที่ใช้ระบบของเราก็จะได้ช่องทางการทำตลาด การเข้าถึงลูกค้า การวิเคราะห์ยอดขาย และประโยชน์มหาศาลจากฐานข้อมูลระดับ Big Data ที่ ALIPAY มีอยู่” ผู้บริหารของ ALIPAY ระบุในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อไม่นานมานี้

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งจากปรากฏการณ์ที่ว่านี้ก็คือ การเกิดขึ้นของ ALIPAY มีจุดประสงค์หลักอยู่ที่การนำบริการชำระเงินที่สะดวกสบายมาเสนอต่อผู้บริโภค และให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่นักท่องเที่ยวจีน ขณะที่ประโยชน์ที่ร้านค้าที่เข้าร่วมจะได้รับอยู่ที่การได้รับคำแนะนำและการยกระดับความสามารถในการทำการตลาดและการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนให้มากขึ้นเป็นด้านหลัก

สอดรับกับทัศนะของผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป และบริษัท ทรู มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการ อี-เปย์เมนต์ ครบวงจร ที่ระบุว่าการร่วมมือกับ ALIPAY จะช่วยขยายบริการรับชำระสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย ให้สะดวกสบายเหมือนจ่ายสินค้าอยู่ในประเทศตัวเอง ด้วยการเชื่อมต่อระบบกับกระเป๋าเงินของ ALIPAY ทำให้ร้านค้าทั่วประเทศสามารถรับชำระสินค้าออนไลน์จาก ALIPAY ได้โดยตรง ซึ่งหากประเมินในมิติที่ว่านี้ ประเทศไทยก็มีสภาพไม่ต่างจากการถูกผนวกให้มีสถานะใกล้เคียงกับการเป็นเพียงมณทลห่างไกลอีกแห่งหนึ่งของจีนในทัศนะของนักท่องเที่ยวจีนไปแล้ว

เงินสกุล QR Code ที่ออกโดย ALIPAY กำลังแสดงบทบาทข้ามพ้นการควบคุมของกลไกรัฐและบริบทการทำธุรกิจของสถาบันการเงินแบบเดิมไปไกลกว่าความคิดคำนึงของผู้คนในสังคมเกษตรกรรมที่ประกอบส่วนความเป็นไปภายใต้การพึ่งพิงและพร้อมจะอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ว่าเป็นเหตุปัจจัยทางธรรมชาติ หากแต่ห้อมล้อมด้วยวาทกรรมแห่งความทะเยอทะยานว่าด้วยไทยแลนด์ 4.0 จะจินตนาการไปถึง

จังหวะก้าวของ ALIPAY ภายใต้วิสัยทัศน์ของ Jack Ma ไม่เพียงแต่เป็นภาพสะท้อนกระบวนทัศน์ของระบบธุรกิจยุคหลังสมัยใหม่ (post-modern economy) ที่กำลังโลดแล่นอยู่บนกระแสธารของ internet of things ที่กำลังท่วมทับกลไกเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมที่เน้นความได้เปรียบเชิงแรงงานและการผลิตสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเท่านั้น มาสู่การสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค เพื่อมาตอบสนองกลไกทางธุรกิจ

แต่ประเด็นที่มีความแหลมคมมากกว่านั้นก็คือ ความเป็นไปของ Jack Ma และบทบาทของ ALIPAY ในการสร้างสังคมไร้เงินสด เป็นยิ่งกว่าการสร้างสรรค์เศรษฐกิจที่ระเบิดออกจากด้านในตามแนวทางทฤษฎีเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายพยายามกล่าวถึง แต่กลับไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นจริงในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงสากลได้

สิ่งที่ Jack Ma ดำเนินการในการสร้างสังคมไร้เงินสดในหลายมณทลของประเทศจีนย่อมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยง่ายหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลไกรัฐของจีน ที่ประเมินและเล็งผลไปสู่ความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนกระบวนทัศน์ทางยุทธศาสตร์

หาก OBOR หรือ One Belt One Road จะมีสถานะเป็นกรอบโครงของมหายุทธศาสตร์ (grand strategy) ในมิติของนโยบายของจีน ที่อาจให้ความรู้สึกในการรับรู้เป็นทั้งความร่วมมือในเชิงเศรษฐกิจและภัยคุกคามในการแผ่อิทธิพลของจีนแล้ว ความเป็นไปของ ALIPAY ย่อมเป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้เป้าหมายของจีนในการขยายบทบาทไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ผ่านเครื่องมือการเงินชนิดใหม่นี้ เป็นไปอย่างที่พร้อมได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจท้องถิ่นอย่างปราศจากแรงต้าน และกลายเป็นเครื่องมือในการรุกคืบเข้าไปแทรกซึมระบบเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจ

ภายใต้ความเคลือบแคลงของมหาอำนาจคู่แข่งขันในระดับนานาชาติ ที่ติดตามมาด้วยข้อวิพากษ์ถึงความพยายามในการสร้างอาณานิคมและขยายจักรวรรดินิยมจีนผ่านยุทธศาสตร์ OBOR บางทีความเป็นไปของ ALIPAY ที่ดำเนินอยู่นี้อาจเป็นยิ่งกว่าเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการจ่ายเงินชำระค่าบริการ หากแต่เป็นอาวุธลับที่อาจพร้อมทำให้เงินสกุลต่างๆ กลายเป็นสิ่งล้าหลังไปโดยปริยาย

ใส่ความเห็น