วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > จากจอมยุทธ์หมากล้อม สู่ “ครูใหญ่” สาธิต PIM

จากจอมยุทธ์หมากล้อม สู่ “ครูใหญ่” สาธิต PIM

ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ใช้เวลากว่า 13 ปี เป็นหัวหอกลุยธุรกิจด้านการศึกษาในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจ จากเป้าหมายเริ่มต้น เร่งผลิต “คน” ป้อนธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เพื่อรุกขยายอาณาจักรค้าปลีก ผุดวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ยกระดับการเรียนการสอนขั้นอุดมศึกษา จนล่าสุดลงทุนสร้าง โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ “สาธิต PIM” ซึ่งจะประเดิมเทอมแรกในปีการศึกษา 2560

แน่นอนว่า เป้าหมายของก่อศักดิ์ในฐานะผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสาธิต PIM เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องการสร้าง “คน” ให้เป็นนักจัดการมืออาชีพ มีความคิดเชิงกลุยทธ์ และไม่ใช่เพียงแค่ความเก่งกาจในวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน

นั่นทำให้จอมยุทธ์หมากล้อมคนนี้สวมบทคุณครูหยิบเอา “โกะ” เข้ามาเป็นวิชาเสริมในหลักสูตรของ “สาธิต PIM” หลังจากได้ผลพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า หมากล้อมหรือ “โกะ” คืออาวุธชิ้นสำคัญ ที่ช่วยให้เขาและ “เซเว่นอีเลฟเว่น” สามารถขยายอาณาจักรธุรกิจร้านสะดวกซื้อได้อย่างยิ่งใหญ่

ก่อศักดิ์เคยกล่าวว่า เขามองประเทศไทยทั้งประเทศเป็นเสมือนกระดานหมากล้อมกระดานหนึ่ง เร่งเปิดร้านค้าในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะสุดยอดกลยุทธ์ของโกะไม่ใช่การจับกิน หรือทำลายฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นการสร้างดินแดนให้มากกว่าคู่ต่อสู้ ด้วยการวางเม็ดหมากล้อมเพื่อ “ปิดช่อง” ตาเดินของคู่ต่อสู้ คล้ายกับการหาทำเลในการขยายสาขาใหม่ของเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อปิดล้อมและสกัดการแจ้งเกิดของร้านสะดวกซื้อรายอื่นๆ อย่างได้ผลครั้งแล้วครั้งเล่า

ขณะเดียวกัน กระดานโกะขนาด 19 x 19 เส้น ซึ่งใหญ่กว่ากระดานหมากรุกถึง 5 เท่าครึ่ง ไม่ต่างจากการทำสงครามที่มีการสู้รบอยู่หลายสนามรบ การเล่นโกะจึงต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ ทรัพยากรที่เสียไป สิ่งที่จะได้มา และบริหารทรัพยากรให้คุ้มค่า หมายถึงการรวมเม็ดหมากให้เกิดพลังสูงสุด เหมือนการรวมคนและรวมองค์กรให้เกิดพลังสูงสุดที่ไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่ลงมาเป็นกำไรพอควร เพื่อความสุขสูงสุดและสร้างพลังสูงสุดขององค์กรที่จะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

ที่สำคัญ ก่อศักดิ์ศึกษากลยุทธ์ของหมากล้อมตั้งแต่เด็ก เพราะเขาเรียนภาษาจีนตั้งแต่เป็นเด็กชั้นประถม และยังเป็นคนที่ชอบอ่านนิยายวรรณกรรมของจีนอย่างมาก ทำให้รู้ว่าหมากล้อมคือศิลปะชนิดหนึ่งของเหล่าบัณฑิตชาวจีน เป็นกีฬาทางสมองของผู้บริหารผู้ปกครองประเทศ ทั้งจีน เกาหลี และญี่ปุ่น นิยมเล่นกัน และผู้บริหารประเทศเหล่านั้นจะได้แง่คิดและปรัชญาชีวิตมากมาย

ทว่า ช่วงเวลาหลายปีตั้งแต่วัยเด็กจนย่างเข้าวัยรุ่น ก่อศักดิ์รู้จักหมากล้อมจากตัวหนังสือเท่านั้น ไม่เคยได้เล่นอย่างจริงจัง จนปี 2526 ไปดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร รับผิดชอบการค้าระหว่างประเทศ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประจำฮ่องกง จึงมีโอกาสกลับมาเล่นหมากล้อมอีกครั้งหนึ่ง เพราะนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นและจีนส่วนใหญ่นิยมเล่นหมากล้อม การเล่นหมากล้อมจึงกลายเป็นกีฬาสานสัมพันธ์ทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การเล่นโกะในช่วงนั้นเป็นเพียงความสนุกสนาน ไม่ได้ลึกซึ้งถึงกลยุทธ์ต่างๆ กระทั่งเพื่อนชาวญี่ปุ่นแนะนำให้รู้จักกับอาจารย์โฆษา อารียา ซึ่งไปสอนหนังสือที่ประเทศญี่ปุ่นและเล่นหมากล้อมเก่งมากระดับแชมป์จังหวัดนารา ประเทศญี่ปุ่น

โฆษาจึงเสมือนอาจารย์สอนกลยุทธ์เล่นหมากล้อมคนแรกที่ทำให้ก่อศักดิ์เรียนรู้ยุทธศาสตร์ต่างๆ และจากยุทธศาสตร์ “หมากล้อม” กลายเป็นยุทธศาสตร์การจัดการทางธุรกิจในซีพีออลล์ ทั้งการจัดการองค์กร จัดการบุคลากรและจัดการธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดหากเด็กได้เรียนรู้กลยุทธ์ต่างๆ ตั้งแต่พื้นฐานอายุระดับมัธยมศึกษา การรู้จักขบคิดจะช่วยให้กระบวนการทางความคิดดียิ่งขึ้น และยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย

รศ.ดร.พิชิต ฤทธิ์จรูญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในฐานะผู้บริหารโครงการโรงเรียนสาธิต PIM กล่าวว่า โรงเรียนสาธิต PIM จัดให้วิชาหมากล้อมเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ซึ่งเด็กนักเรียนทุกคนจะได้เรียน 1 คาบต่อสัปดาห์ โดยเป็นแนวคิดของคุณก่อศักดิ์ที่ต้องการให้นักเรียนศึกษาหมากล้อม เพราะเป็นกีฬาสอนกลยุทธ์เชิงรุก ไม่ได้เน้นเล่นเพื่อเอาชนะ แต่เล่นให้รู้จักปรัชญาเบื้องต้นในการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้มีประโยชน์สูงสุด

การเล่นหมากล้อมยังสามารถสะท้อนคุณลักษณะของเด็ก ซึ่งจะทำให้อาจารย์ประเมินเบื้องต้นถึงอารมณ์ วุฒิภาวะ ไอคิวและอีคิวของเด็กได้อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ หัวหน้าโครงการวิจัย ปัญญาสมาพันธ์ และอาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เคยศึกษาวิจัยโครงการการศึกษาผลของการเล่นหมากล้อมต่อ 4 ทักษะ คือ เชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และความคิดเชิงระบบ ของเยาวชนไทยในระดับมัธยมศึกษาพบว่า เยาวชนที่เล่นกีฬาหมากล้อมมีการเปลี่ยนแปลงทางบวกในด้านพัฒนาเชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และความคิดเชิงระบบ ช่วยให้ผู้เล่นมีสมาธิและความจดจำดีขึ้น รวมถึงความสามารถในการวางแผนเพิ่มขึ้น

เหนืออื่นใด ความสำเร็จของก่อศักดิ์ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) และความยิ่งใหญ่ของ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เจ้าตลาดคอนวีเนียนสโตร์ในประเทศไทย น่าจะเป็นบทพิสูจน์ผลลัพธ์ของหมากล้อมได้ดีที่สุด

 

กว่าจะเป็น “โกะ”

หมากล้อม หรือ กัวะ หรือ “เหวยฉี” ในภาษาจีน ถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อประมาณ 3,000-4,000 ปีมาแล้ว โดยนิยมเล่นกันในหมู่ปัญญาชนชั้นสูงและขุนนางผู้บริหารประเทศ เป็นหมากกระดานประจำชาติจีน จัดเป็น 1 ใน 4 ศิลปะประจำชาติจีน ได้แก่ หมากล้อม ดนตรี กลอน ภาพ ขณะที่หมากรุกจีนยังมีเค้าว่ารับมาจากอินเดียและแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ถัง

ต่อมา เหวยฉี แพร่เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งในญี่ปุ่นเรียกชื่อใหม่ว่า “กัวะ” และรุ่งเรืองอย่างมากในญี่ปุ่น สมัยโชกุนโทะกุงะวะ สนับสนุนให้ทหารเล่นกัวะ เปลี่ยนวิธีการรบด้วยกำลังเป็นการรบด้วยปัญญา และยังสนับสนุนให้กัวะแพร่หลายมากยิ่งขึ้นอีก โดยตั้งสำนักกัวะ 4 สำนัก เพื่อคัดเลือกผู้เป็นยอดฝีมือกัวะของญี่ปุ่น มาประลองฝีมือเพื่อชิงตำแหน่ง “เมย์จิน”

การส่งเสริมกัวะของญี่ปุ่นทำให้อีก 100 ปีต่อมา มาตรฐานฝีมือนักเล่นกัวะของญี่ปุ่นก้าวล้ำนำจีน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกัวะรวมทั้งประเทศเกาหลีไปไกลมาก

ปัจจุบันกัวะเรียกชื่อสากลว่า Go (โกะ) และเล่นแพร่หลายทั่วโลกในกว่า 50 ประเทศ ในทวีปออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา และเอเชียเกือบทุกประเทศรวมทั้งไทย

สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งญี่ปุ่น (Japan Go Association) ได้จัดการแข่งขันหมากล้อมสมัครเล่นชิงแชมป์โลกขึ้นครั้งแรกในปี 2522 มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมแข่งขัน 15 ประเทศ และเพิ่มเป็น 29 ประเทศในปี 2525 จึงมีการจัดตั้งสหพันธ์หมากล้อมนานาชาติ (International Go Federation) มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์หมากล้อมนานาชาติเมื่อปี 2526 และปี 2527 ได้ส่งตัวแทนไปแข่งครั้งแรกที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น

วันที่ 25 สิงหาคม 2536 ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ก่อตั้งชมรมหมากล้อม (กัวะ) ประเทศไทย ทำให้มีคนไทยเล่นมากขึ้นและมีการบรรจุเป็นกีฬาอย่างเป็นทางการในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 23 ตั้งแต่ปี 2539 ต่อมาปี 2544 มีการจดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาหมากล้อม และปี 2546 กลายเป็นสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย

กีฬาหมากล้อมในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้นจนได้รับการบรรจุเป็นกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2551

 

ใส่ความเห็น