วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > Cover Story > จับตาค่าเงินบาท ปัจจัยลบเศรษฐกิจไทย?

จับตาค่าเงินบาท ปัจจัยลบเศรษฐกิจไทย?

ความกังวลใจว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงดูจะอยู่ที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมาก จนมาอยู่ในระดับแข็งค่ามากเป็นประวัติการณ์ในรอบ 6 ปีเมื่อช่วงวันสุดท้ายก่อนสิ้นปี 2562 และทำให้หลายฝ่ายพุ่งเป้าความสนใจจับตาการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในช่วงปี 2563 ว่าจะมีทิศทางอย่างไร พร้อมกับประเมินผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐในช่วงวันที่ 30-31 ธันวาคม 2562 และในวันที่ 1 มกราคม 2563 จากระดับ 29.92 มาสู่ระดับ 29.87 และที่ระดับ 29.71 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐตามลำดับ ได้รับการอธิบายจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเป็นผลที่เกิดจากการเร่งทำธุรกรรมก่อนสิ้นปีของผู้ประกอบการบางรายในสภาวะที่ตลาดมีสภาพคล่องต่ำ ความต้องการซื้อและขายเงินตราต่างประเทศไม่สมดุลในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลเงินภูมิภาคในช่วงปลายปีด้วย

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทมีทิศทางและแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ภายใต้ปัจจัยหลักมาจากโครงสร้างของประเทศไทยที่อยู่ในภาวะเกินดุลเดินสะพัด ขณะเดียวกันรายได้หลักของประเทศที่เดิมได้รับจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้ประเด็นค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นสิ่งที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกันจับตามองเป็นพิเศษ

ทิศทางค่าเงินบาทไทยในปี 2563 ได้รับการคาดหมายว่าจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกเล็กน้อย โดยตลอดปี 2562 ที่ผ่านมาค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 7-8 ซึ่งเป็นการแข็งค่าขึ้นกว่าปกติแล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์บางสำนักประเมินว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2563 ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าไปถึงระดับ 28.70 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ขณะที่บางสำนักคาดการณ์ว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ที่ระดับ 29.25 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ

สถานการณ์ของค่าเงินบาทที่ได้รับการประเมินว่าจะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2563 และจะไปเคลื่อนไหวในกรอบ 29.25-28.70 ต่อเหรียญสหรัฐดังกล่าวนี้ แม้ว่าจะทำให้ผู้ที่ซื้อหรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้รับประโยชน์จากผลของการได้สินค้าในราคาที่ถูกลง และคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศจะได้รับประโยชน์จากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น แต่นั่นอาจไม่ได้เอื้ออำนวยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในเชิงโครงสร้างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ที่ต้องเสียประโยชน์ทั้งจากการที่สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งขันรายอื่นๆ ในตลาดโลกจากผลของราคาสินค้าที่สูงขึ้นตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งกรณีที่ว่านี้ส่งผลเป็นการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและเสียเปรียบคู่แข่งขันมากขึ้น ไม่นับรวมถึงกรณีที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ประเมินว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายการเดินทางที่ไม่คุ้มค่า เพราะต้องใช้จ่ายในระดับราคาที่ต้องเพิ่มและแพงขึ้นอีกด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีแนวโน้มค่าเงินบาทไทยแข็งค่าอีกด้านหนึ่งอยู่ที่สถานการณ์และปัจจัยในปี 2563 ยังไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นในมิติของเงินทุนสำรองของไทยที่มีอยู่มาก การที่นักลงทุนระยะสั้นเข้าลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น รวมถึงการลงทุนระยะสั้นเพื่อทำกำไรจากค่าเงินบาท เพราะหากนำเงินเข้ามาลงทุนในไทยเมื่อปี 2561 ที่เงินบาทอยู่ในระดับ 35 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐหากจะนำเงินออกด้วยการเปลี่ยนเงินบาทเป็นเหรียญสหรัฐก็ได้กำไรมากถึงกว่าร้อยละ 15 และยังได้กำไรจากผลตอบแทนพันธบัตรที่ได้ลงทุนไป ซึ่งเมื่อคิดรวมแล้วนักลงทุนกลุ่มนี้อาจได้กำไรไปมากถึงกว่าร้อยละ 20 ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี นับว่าเป็นกำไรที่มากทีเดียว

ข้อเสนอที่เกิดมีขึ้นต่อเมื่อในขณะนี้จึงอยู่ที่การหาทางที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีกร้อยละ 0.25-0.5 เพื่อให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติที่ได้ลงทุนไปแล้ว ได้กำไรที่คาดหวังไว้ โดยหวังว่านักลงทุนจากต่างประเทศจะส่งเงินไหลกลับออกไปบ้าง อันจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง และนักลงทุนส่วนที่จะเข้ามาใหม่จะไม่ส่งเงินเข้ามาอีก ซึ่งต้องมองจากมุมของนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก ไม่ใช่การประเมินโดยให้นักธุรกิจไทยใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าไปลงทุนต่างประเทศอย่างเดียว

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการจากการแข็งค่าของเงินบาทในรอบปี 2562 ที่ผ่านมาก็คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 8 ได้ส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทของภาคเอกชนไทยหดหายไปด้วย โดยผู้ส่งออกสินค้าได้รับเงินบาทน้อยลงเรื่อยๆ หากไม่ปรับราคาสินค้าส่งออกให้แพงขึ้นในรูปของเงินเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อปรับราคาสินค้าสูงขึ้นในรูปของเงินเหรียญสหรัฐ ผู้นำเข้าก็ไม่ซื้อ หรือซื้อน้อยลง

ข้อมูลว่าด้วยการส่งออกของไทยในปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะลดลงร้อยละ 3 จะส่งผลให้รายได้ส่งออกในรูปของเงินเหรียญสหรัฐจะหายไปประมาณ 7,589 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 229,188 ล้านบาท เมื่อคิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และเมื่อคิดด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยปี 2562 ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ รายได้การส่งออกทั้งปีของไทยจะหายไปถึง 235,259 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่น้อยเลย

ความแหลมคมของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาทที่กำลังดำเนินอยู่นี้ อาจเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลประยุทธ์ต้องคิดทบทวนนโยบายเศรษฐกิจที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 5 ปี ว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์รอบข้างที่เป็นไปหรือไม่ และจะจัดลำดับความสำคัญใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ใหม่ เพื่อผลักดันและพัฒนาให้เศรษฐกิจไทยสามารถขับเคลื่อนเดินไปข้างหน้าได้ดีกว่าที่ผ่านมาอย่างไร

เพราะท่ามกลางปัจจัยลบไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่มีแนวโน้มย่ำแย่จากเหตุที่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกของไทยเริ่มจะล้าสมัย และการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ยังมีน้อยมาก การลงทุนที่ลดลงและตกต่ำมาตลอด 5 ปีกว่าส่งผลให้การส่งออกไม่ขยายตัว อีกทั้งปีหน้าไทยจะถูกสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีในสินค้าหลายรายการอีกด้วย ยิ่งจะทำให้การส่งออกของไทยแย่ลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทั้งจากต่างประเทศและในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงมีไม่มากพอที่จะปรับให้ไทยก้าวไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่

นอกเหนือจากประเด็นว่าด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวไทยแล้ว ปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 5 แสนคนจากผลของการลงทุนที่ลดลง ทำให้การจ้างงานไม่เพิ่ม และยังมีโรงงานหลายแห่งปิดตัวจากความล้าสมัยของอุตสาหกรรมที่ดำเนินอยู่ เศรษฐกิจไทยยังกำลังเสี่ยงที่จะเผชิญกับหนี้เสียในระบบธนาคารที่เพิ่มขึ้น จากรายได้ของประชาชนที่ลดลง และจากบริษัทห้างร้านที่ธุรกิจย่ำแย่ตามภาวะเศรษฐกิจและต้องปิดตัวลง

สิ่งที่น่ากังวลยิ่งไปกว่านั้นก็คือการบริโภคของประชาชนยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากรายได้ของประชาชนไม่เพิ่ม แถมยังมีแนวโน้มลดลง เพราะรัฐบาลไม่ได้ขับเคลื่อนนโยบายที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน โดยที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้นำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนอย่างถาวรนอกจากการแจกเงินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ

บางทีค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนอกจากจะส่งผลลบกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างหนักหน่วงแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่วิ่งสวนทางอย่างท้าทายกับเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐนาวาประยุทธ์ในห้วงปี 2563 หรือปีชวดนี้อีกด้วย

ใส่ความเห็น