วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > จับตาขยาย “เคอร์ฟิว” จี้แผนรับมือเศรษฐกิจ Worst Case

จับตาขยาย “เคอร์ฟิว” จี้แผนรับมือเศรษฐกิจ Worst Case

2 สิงหาคม 2564 ครบกำหนดมาตรการเคอร์ฟิว 14 วัน หลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. สั่งบังคับใช้มาตรการล่าสุดในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด พร้อมๆ กับมาตรการคุมเข้มอีกหลายข้อเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนตัวเลขต่างๆ ทั้งยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังพุ่งสูงทำนิวไฮทุกวัน โดยเฉพาะยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 20,000 คน

ล่าสุด กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์สถานการณ์การระบาด COVID-19 ของประเทศไทย ระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2564 พบว่า หากล็อกดาวน์ 1 เดือน จะสามารถชะลอจุดสูงสุดของการใช้ทรัพยากรถึงต้นเดือนตุลาคม

แต่หากล็อกดาวน์ 2 เดือน ร่วมกับมาตรการกระจายวัคซีนในผู้สูงอายุได้ผลดีและดำเนินการได้รวดเร็ว คาดว่าในเวลาไม่เกิน 2 เดือน จะช่วยรักษาระดับการใช้เครื่องช่วยหายใจไม่เกิน 1,500 รายต่อวัน และชะลออุบัติการณ์การเสียชีวิตไม่เกิน 200 รายต่อวันไปจนถึงเดือนธันวาคม

ดังนั้น ศบค. และโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ต้องคิดหนัก จะขยายมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวหรือไม่

หากขยายจะต้องเตรียมมาตรการเยียวยารองรับอย่างชัดเจนและทั่วถึง เนื่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจสั่งสมความรุนแรงแสนสาหัสและลามไปทั่วประเทศ หยั่งรากลึกถึงผู้คนทุกระดับชั้น ประชาชนมีรายได้ลดลงหรือเป็นศูนย์ ค่าครองชีพสูงขึ้นและสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด ซึ่งมีปัญหาการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งการตรวจเชื้อ การรอเตียง และการรอยารักษา เกิดสถานการณ์ “รอเตียงจนตาย” และหลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตายหนีพิษเศรษฐกิจรุมเร้าอย่างหนัก

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส

ขณะเดียวกันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน จากข้อมูลของ Bank of International Settlement (BIS) ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดและในช่วงวิกฤต สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของการพึ่งพาสินเชื่อในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทยและมีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอาจปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีก หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยังรุนแรงต่อเนื่องจนทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดต่ำลงกว่าที่คาด

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม สมาพันธ์และพันธมิตรองค์กรทุกอาชีพรวม 26 องค์กร ได้ส่งหนังสือเร่งรัดให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หลังจากทำหนังสือเสนอ 6 มาตรการเร่งด่วนถึง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ในหนังสือชี้แจงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยไล่จี้ 6 มาตรการแก้ไขเร่งด่วน ประกอบด้วย 1. มาตรการพักต้น พักดอก ระยะเวลา 6 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น 2. มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 3. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท

4. มาตรการยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) 2 ปี 5. เร่งใช้มาตรการกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้ไมโครเอสเอ็มอีสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และ 6. จัดทำกองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย

ที่สำคัญ รัฐบาลควรทำแพ็กเกจช่วยเหลือพร้อมกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะการพักหนี้เว้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยกึ่งหนึ่งสำหรับผู้ที่ยังพอค้าขายได้และหยุดหนี้เสีย เพราะจากการสำรวจของหลายองค์กร หนี้ครัวเรือนของไทยสูงถึง 90% วงเงินกว่า 14 ล้านล้านบาท คนมีรายได้น้อยลงและมีเงินเหลือใช้จ่ายแค่ 1 เดือนสำหรับคนต่างจังหวัด และไม่เกิน 3 เดือนสำหรับคนเมือง ซึ่งหากการแพร่ระบาดโควิดยังไม่คลี่คลายภายในเดือนสิงหาคมนี้น่าจะถึงขั้นไม่มีอะไรกินแล้ว

ด้านสมาคมผู้ค้าปลีกไทยออกมาประเมินผลกระทบขณะนี้มีเอสเอ็มอีในระบบกว่า 200,000 รายต้องปิดตัว ลูกจ้าง 1-1.5 ล้านรายขาดรายได้และไม่มีงานทำ

ที่สำคัญ การจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้าและห่างไกลเป้าหมายการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นและกระทบแผนการเปิดประเทศ 120 วัน ล้มเหลว ซึ่งหมายถึงการสูญเสียรายได้อีกจำนวนมหาศาล

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถควบคุมการระบาดโควิด-19 และพบตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อเป้าหมายรายได้และจำนวนการท่องเที่ยว ทั้งในตลาดไทยเที่ยวไทยและตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์ทั้งปี 2564 ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 แสนล้านบาท จำนวน 1.2 ล้านคน รายได้จากตลาดไทยเที่ยวไทย 5.5 แสนล้านบาท มีการเดินทางท่องเที่ยวจำนวน 100 ล้านคน/ครั้ง โดยประเมินว่า หากรัฐบาลขยายการใช้มาตรการล็อกดาวน์จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยที่อาจเผชิญกับภาวะตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ภาพรวมรายได้ของการท่องเที่ยวอาจเหลือเพียง 3.5-4 แสนล้านบาท ลดลงกว่า 50-56% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 8.1 แสนล้านบาท

สำหรับปี 2565 ททท. ตั้งประมาณการไว้ 3 กรณี คือ 1. สถานการณ์เลวร้ายที่สุด (Worst Case) มีรายได้รวม 1.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย 10 ล้านคน มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 122 ล้านคน/ครั้ง

กรณี 2 สถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้มากสุด คือ มีรายได้รวม 1.58 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย 13 ล้านคน มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 140 ล้านคน/ครั้ง และกรณี 3 สถานการณ์ดี (Best Case) มีรายได้รวม 1.93 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย 18 ล้านคน มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 160 ล้านคน/ครั้ง ส่วนกรณีใดจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ต้องประเมินสถานการณ์การระบาดโควิดทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมด้วย

ณ เวลานี้จึงถือเป็นจุดชี้ชะตาหลายสิ่งของประเทศไทย ชี้ชะตาธุรกิจ ชี้ชะตาชีวิตคนไทยทั้งประเทศ ชี้ชะตาเศรษฐกิจ และอาจหมายถึงการชี้ชะตาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

ใส่ความเห็น