วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > ค้าปลีกอาเซียน…เดือด ทีซีซี เซ็นทรัล อิออน บุกหนัก

ค้าปลีกอาเซียน…เดือด ทีซีซี เซ็นทรัล อิออน บุกหนัก

แนวรบตลาดค้าปลีกอาเซียนร้อนเดือดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ คือ กลุ่มทีซีซีของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เครือเซ็นทรัลของกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ และอิออนกรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น กำลังขับเคี่ยวเร่งขยายเครือข่ายสาขา และเพิ่มจำนวนคู่ค้าขนานใหญ่ เพื่อแย่งชิงยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาค

ล่าสุด นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ออกมาเปิดเผยแผนการเปิดห้างบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์แห่งแรกในประเทศมาเลเซีย ภายหลังการเข้าพบกษัตริย์ของประเทศมาเลเซีย และมีการตกลงกันเบื้องต้นจะให้กลุ่มทีซีซีกรุ๊ปเข้าลงทุนในมาเลเซียตามวิสัยทัศน์การเชื่อมต่อและสร้างเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางในภูมิภาคอาเซียน

แน่นอนว่า หมากเกมนี้ของนายเจริญกำลังก้าวรุดหน้าหลังจากกลุ่มธุรกิจในเครือบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีเจซี” เข้าไปทำธุรกิจต้นน้ำ ทั้งโรงงานผลิตขวดแก้ว โรงงานผลิตมันฝรั่งทอดกรอบและขนมขึ้นรูป ที่มาเลเซียตั้งแต่ปี 2551 แผนขั้นต่อไป คือ การนำธุรกิจอื่นๆ ทั้งกลางน้ำและปลายน้ำเข้าไปขยายเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดในเครือบีเจซี

ขณะเดียวกัน มาเลเซียจะกลายเป็นอีกประเทศเป้าหมายที่นายเจริญต้องการปักหมุดเชื่อมเครือข่ายค้าปลีกกับประเทศไทยและกลุ่ม CLMV อีก 4 ประเทศหลัก ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม

ปัจจุบัน บิ๊กซีและบีเจซีในประเทศไทยมีห้างค้าปลีกในเครือรวมทุกรูปแบบมากกว่า 1,200 สาขาในภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเทศไทยเป็นแกนหลัก เชื่อมต่อกับหมุดหลักแรก “เวียดนาม” ซึ่งมีห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต (MM Mega Market) จำนวน 19 แห่ง และร้านสะดวกซื้อบีสมาร์ท (B’s Mart) มากกว่า 170 สาขา และมีโอกาสขยายได้อีกจำนวนมาก เนื่องจากเวียดนามเป็นตลาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมากถึง 90 ล้านคน

ประเทศลาว บีเจซีมีร้านสะดวกซื้อ เอ็มพ้อยท์มาร์ท (M-point Mart) จำนวน 23 สาขา เป็นเบอร์ 1 ในเวียงจันทน์ และมีแนวโน้มขยายสาขาได้อีกมาก รวมถึงการขยายสาขาห้างบิ๊กซี

สำหรับประเทศกัมพูชา บริษัทเตรียมนำบิ๊กซีเข้าไปเปิดให้บริการใน 3-4 เมืองหลัก เช่น เสียมเรียบ พนมเปญ และบริเวณท่าเรือสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของประเทศกัมพูชา

ขณะที่ประเทศไทยในฐานะแกนกลางสมรภูมิอาเซียน บีเจซีวางแผนขยายสาขาในประเทศไทยและสร้างเครือข่ายลอจิสติกส์รองรับค้าปลีกทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะการเปิดสาขาใหม่บริเวณชายแดน เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อกับสาขาในประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น บิ๊กซีสาขาอุดรธานี สามารถเชื่อมกับประเทศลาว สาขาอุบลราชธานี เชื่อมต่อกับช่องเม็ก ประเทศลาว สาขาตราดและจันทบุรีเชื่อมต่อประเทศกัมพูชา ส่วนภาคใต้เชื่อมต่อกับรัฐกลันตัน มาเลเซีย ซึ่งบิ๊กซีกำลังเร่งศึกษาแผนเปิดสาขาแห่งใหม่

ด้านกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งชูธงปักหมุดในเวียดนามเป็นจุดยุทธศาสตร์แรก โดยตั้งกลุ่มธุรกิจประเทศเวียดนาม (Central Group Vietnam) เมื่อปี 2554 และเริ่มบุกตลาดเออีซีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ทั้งการเปิดตัวร้าน ซูเปอร์สปอร์ตแห่งแรกในเวียดนาม ตามด้วยร้าน ครอคส์ (Crocs) ร้านนิวบาลานซ์ (New Balance) และร่วมลงทุนกับบริษัทค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของเวียดนาม “เหงียน คิม เทรดดิ้ง จอยท์ สต็อค คอมพานี” ขยายกิจการค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพาเวอร์บายผ่านสาขาของเหงียน คิม ทั่วประเทศ

ในส่วนธุรกิจห้างสรรพสินค้า กลุ่มเซ็นทรัลลงทุนเปิดห้างสรรพสินค้าโรบินส์ในเมืองฮานอยและนครโฮจิมินห์ ก่อนขยายสาขาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเตรียมเปิดตัวโครงการเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ (Central i-City) ศูนย์การค้าในต่างประเทศแห่งแรกของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา ที่ประเทศมาเลเซีย ในโครงการ i-City เมืองชาห์อลัม รัฐสลังงอร์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่ม i-Berhad เจ้าของโครงการ i-City โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2561

ที่สำคัญ กลุ่มเซ็นทรัลยังร่วมกับกลุ่มเหงียน คิม ทุ่มเม็ดเงินกว่า 1.23 แสนล้านบาท ฮุบกิจการ “บิ๊กซีเวียดนามจาก “คาสิโนกรุ๊ป” กวาดสาขาทั้งหมด 43 สาขา ในประเทศเวียดนาม แบ่งเป็นสาขาไฮเปอร์มาร์เกต 33 สาขา คอนวีเนียนสโตร์ 10 สาขา และเป็นศูนย์การค้า 30 แห่ง ซึ่งทำให้บีเจซีไม่สามารถใช้ชื่อ “บิ๊กซี” บุกตลาดเวียดนาม และต้องเร่งปลุกปั้นแบรนด์ไฮเปอร์มาร์เกต “เอ็มเอ็ม เมก้า” ของตัวเอง

สำหรับกลุ่ม “อิออนมอลล์” หลังยกทัพผู้บริหารชุดใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรไทยเมื่อปี 2559 ล่าสุดเดินหน้าตามยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจครั้งใหญ่ Vision 2020 เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกในภูมิภาคเอเชีย (Asia’s No.1 Super-Regional Retailer) โดยวางกลยุทธ์ยึด 3 ตลาดหลัก ประกอบด้วยตลาดญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดหลักอันดับ 1 ของกลุ่ม ปัจจุบันมีเครือข่ายค้าปลีกแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 144 แห่ง มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมมากกว่า 1,000 ล้านคนต่อปี และตั้งเป้าขยายต่อเนื่องปีละ 5-6 สาขา

ตลาดที่ 2 จีน โดยบุกเข้าสู่สมรภูมิแดนมังกรเมื่อปี 2551 ล่าสุดเปิดสาขาอิออนมอลล์รวม 12-15 แห่ง ครอบคลุมภูมิภาคหลัก ทั้งด้านเหนือในกรุงปักกิ่งและเมืองเทียนจิน ด้านตะวันออกในมณฑลเจียงซูและเจ้อเจียง ตอนกลางยึดเมืองหูเป่ย และด้านใต้จับฐานมณฑลกวางตุ้ง สามารถดึงชาวจีนทั่วประเทศเข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 66 ล้านคนต่อปี และวางแผนขยายสาขาปีละ 5-6 สาขา

ตลาดหลักที่ 3 อาเซียน อิออนมอลล์ปักหมุดใน 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม 3 แห่ง ในนครโฮจิมินห์ และฮานอย กัมพูชา 1 แห่งในกรุงพนมเปญ และอินโดนีเซีย 1 แห่งในกรุงจาการ์ตา โดยวางแผนขยายสาขาเฉลี่ยปีละ 2 สาขา ขณะที่ในมาเลเซียมีสาขาอิออนมอลล์ 24 แห่ง และบริษัทแม่อิออน ประเทศญี่ปุ่น วางแผนลงทุนเพิ่มอีก 5 สาขาในปี 2560-2561

ในส่วนประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท อิออน ไทยแลนด์ จำกัด นั้น บริษัทแม่วางแผนขยายสาขาซูเปอร์มาร์เกต แม็กซ์แวลู ขนาดใหญ่ ปีละ 10 สาขา และแม็กซ์แวลูทันใจ ซึ่งเป็นโมเดลมินิซูเปอร์มาร์เกต พื้นที่ขนาดเล็ก เจาะย่านชุมชน แหล่งธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยว ปีละ 50 สาขา โดยต้องการขยายแม็กซ์แวลูทันใจครบ 300 สาขาภายใน 5 ปี นอกจากนี้ ยังเดินหน้าลงทุนอิออน ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ สาขา 2 ในปี 2561 ทำเลย่านนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ชลบุรี พื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร หลังจากเปิดสาขาแรกที่ศรีราชาเมื่อปลายปี 2558

วัดกันหมัดต่อหมัด แผนบุกขยายของ 3 ยักษ์ค้าปลีก ซึ่งต่างตั้งเป้าต้องการเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกในอาเซียนและเอเชีย สมรภูมินี้ไม่มีใครยอมใครแน่

ใส่ความเห็น