วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ค่า GP ของ Food Delivery ทางรอด ความหวัง หรือการซ้ำเติม

ค่า GP ของ Food Delivery ทางรอด ความหวัง หรือการซ้ำเติม

จากมาตรการของภาครัฐที่มีเป้าประสงค์ที่จะสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นผลให้ร้านค้า ร้านอาหาร ไม่สามารถเปิดให้ผู้บริโภคเข้ามานั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้ ทำได้เพียงการบริการซื้อกลับบ้าน

เหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องมองหาช่องทางอื่นในการจำหน่ายอาหาร เพียงหวังให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แม้เม็ดเงินที่จะเข้ามาอาจไม่เท่ากับช่วงเวลาในสถานการณ์ปกติ

Food Delivery จึงเป็นทางออกที่ดูจะเหมาะเจาะกับสถานการณ์อันยากลำบากนี้ บริษัทผู้พัฒนาแอปพลิเคชันจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย โดยมุ่งหวังจะเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างร้านอาหารและผู้บริโภค แม้เข้ามาดำเนินธุรกิจอยู่ในไทยได้ระยะหนึ่งแล้วก็ตาม

ทว่า ยังไม่สามารถสร้างความนิยมได้มากนักในช่วงแรก ทั้งจากการที่ยังมีร้านค้าเข้าร่วมใช้บริการไม่มากนัก รวมไปถึงข้อจำกัดของเส้นทางการขนส่ง และพนักงานขับรถส่งอาหารยังมีไม่มากพอ

ปัจจุบัน Food Delivery แอปพลิเคชันแทบจะกลายเป็นแอปพลิเคชันพื้นฐานที่ปรากฏอยู่บนอุปกรณ์สื่อสารของคนไทย และช่วงเวลาที่สถานการณ์อันเลวร้ายที่สร้างข้อจำกัดการเข้าถึงร้านอาหารของผู้บริโภคในการนั่งรับประทานอาหารภายในร้าน นับตั้งแต่ที่โคโรนาไวรัสระบาดในไทยตั้งแต่ต้นปี 2563

หากพูดถึงในแง่มุมของผลประโยชน์ที่ร้านอาหารจะได้จากการเข้าร่วมแอป นั่นคือ Food Delivery แอปพลิเคชัน เป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ร้านอาหาร ร้านค้า มีโอกาสสร้างรายได้ในช่วงเวลาวิกฤตเพิ่มขึ้น เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวที่ใช้บริการแอปพลิเคชันส่งอาหารถึงสองค่ายบอกกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า “ถึงจะโดนหักค่าคอมมิชชั่นที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ต้องยอม อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เราจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ในเมื่อเราเห็นว่าช่องทางนี้สร้างรายได้แน่ๆ ทำไมจะไม่ทำล่ะ ถึงเวลาที่เราต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง”

ขณะที่ร้านอาหารขนาดเล็กหรือร้าน Street food หลายร้านคล้ายกับถูกกระแสความนิยมของแอปพลิเคชัน Food Delivery เข้ามาแผ่อิทธิพล ซึ่งมีตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นแรงจูงใจ กระทั่งตัดสินใจเข้าร่วมเป็นผู้ใช้บริการในระยะแรก ทว่า เพียงไม่นาน ด้วยเงื่อนไขจากตัวแอปพลิเคชันทำให้ร้าน Street food จำนวนหนึ่งตัดสินใจกลับมาใช้ช่องทางดั้งเดิมในการจำหน่ายอาหาร นั่นคือ ลูกค้าซื้อจากหน้าร้านเพียงอย่างเดียว

มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า เงื่อนไขหลายข้อจากผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่ส่งผลให้ร้านค้า ร้านอาหารที่เข้าไปใช้บริการแล้วตัดสินใจหยุดและไม่ใช้บริการแอปพลิเคชันนั้นอีก คือเรื่องค่า GP (Gross Profit) ซึ่งเป็นค่าคอมมิชชันที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแอปสั่งอาหาร และเป็นค่าดำเนินการที่ทางแพลตฟอร์มเรียกเก็บ โดยส่วนใหญ่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันส่งอาหารจะเรียกเก็บค่า GP สูงถึง 30-35% นอกจากนี้ ร้านค้า ร้านอาหาร ยังไม่สามารถรับเงินจากการขายได้ทันที ซึ่งผู้ให้บริการบางรายจะส่งมอบเงินในวันถัดไป หรือรอบบิลถัดไป เงื่อนไขข้อนี้อาจส่งผลให้ร้านค้าที่ไม่มีเงินจำนวนมากไว้หมุนเพื่อซื้อวัตถุดิบพบความยากลำบากมากขึ้น

ต้องอย่าลืมว่า ค่าใช้จ่ายของร้านอาหารมีทั้งค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ค่าเช่าอาคารสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนพนักงาน หากดูเผิน ๆ การคิดค่าดำเนินการ 30-35% ต่อ 1 ออร์เดอร์อาจดูเล็กน้อย แต่เมื่อคิดเป็นรายเดือนแล้ว จำนวนเงินค่าบริการนี้ถือว่าสูงมากทีเดียว

ความกังวลว่าผู้ให้บริการแอปส่งอาหารอาจสร้างเงื่อนไขและข้อจำกัด รวมไปถึงการคิดอัตราค่าใช้บริการที่สูงเกินไป ส่งผลให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงการเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นนักลงทุนจากต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ภาครัฐต้องออกโรงเตือนในช่วงต้นปี 2563

มีข้อมูลจากสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ระบุถึงประเด็นนี้เมื่อปี 2563 ว่า ในช่วงที่คนไทยต้องระวังตัวไม่ให้ติดเชื้อและไม่ออกไปแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลายคนจึงต้องหันมาเลือกใช้บริการส่งอาหาร (Food delivery services) ผ่านแอปพลิเคชันกันมากขึ้น รัฐบาลจึงให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) กรมการค้าภายใน เร่งเข้ากำกับดูแล หลังมีเสียงร้องเรียนว่ามีการเรียกเก็บอย่างไม่เป็นธรรม เหมือนซ้ำเติมภาระค่าใช้จ่ายของทั้งผู้ค้าและผู้บริโภค

มีประชาชนร้องเรียนผ่านสื่อต่างๆ ว่าปัจจุบันมี Food delivery services หลายราย โดยเฉพาะผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันรายใหญ่ เรียกเก็บค่าบริการจากร้านอาหารในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น จากเดิมร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 35-40 หรือเรียกเก็บค่าบริการอื่นๆ จากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการส่งเสริมการขายจากร้านอาหาร เช่น หากร้านอาหารร้านใดจ่ายเงินสูงกว่าร้านอื่น ก็จะได้ปรากฏอยู่บนหน้าจอในลำดับต้นๆ ยากที่ผู้ใช้ค้นหารายการร้านอาหาร

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ กับร้านอาหาร เช่น จะต้องใช้เวลาถึง 45 วันหลังจากให้บริการไปแล้ว ร้านค้าที่เข้าร่วมบริการจึงจะได้รับเงิน การบังคับให้ร้านค้าที่จะเข้าร่วมบริการต้องทำสัญญาร่วมธุรกิจกับผู้ให้บริการอย่างน้อย 12 เดือน หรือผู้ให้บริการบางรายกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินธุรกิจกับผู้ให้บริการรายนั้นรายเดียวเท่านั้น

เหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแก่ผู้บริโภค รวมทั้งเกิดความไม่เป็นธรรมกับร้านค้าที่เข้าร่วมให้บริการในแพลตฟอร์มเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ร้านค้าและร้านอาหารต่างๆ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 มากอยู่แล้ว ถึงขนาดที่บางกิจการมีความจำเป็นต้องปิดตัวลงชั่วคราว และต้องผันตัวมาทำธุรกิจประกอบอาหารขาย และเข้าร่วมเป็นผู้ค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม ในขณะเดียวกันประชาชนที่ทำงานที่บ้านก็ต้องพึ่งพาบริการส่งของหรือส่งอาหารเช่นนี้มากขึ้นทุกวัน

โดย สขค. ได้แจ้งเตือนผู้ให้บริการส่งอาหารโดยเฉพาะรายใหญ่แล้วว่า กำลังจับตาดูพฤติกรรมทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจและหากพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยหากประชาชนเห็นว่ามีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการรายใหญ่ต่อรายเล็กอย่างไม่ชอบธรรม เป็นการสมรู้ร่วมคิดกำหนดราคาค่าบริการให้เท่ากันโดยไม่เกิดการแข่งขันกัน หรือพฤติกรรมที่เห็นว่าเป็นการประกอบกิจการที่เป็นพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้

ด้านกรมการค้าภายในยังได้หารือกับผู้ประกอบการ Food delivery services บริษัทต่างๆ แล้ว และได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างๆ อย่าดำเนินการประกอบการค้าที่เป็นการเอาเปรียบหรือไม่เป็นธรรมกับผู้ค้าหรือผู้บริโภค จนอาจเป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เช่น มาตรการ 29 ที่ห้ามมิให้ผู้ประกอบการจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำหรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใดๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนประสบความยากลำบากในการประกอบธุรกิจ ประกอบอาชีพ และดำรงชีวิต โดยกรมการค้าภายในจะช่วยดูแลให้กลไกตลาดเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันทุกบริษัทได้แจ้งกับกรมการค้าภายใจว่า ยินดีให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีประเด็นที่ประชาชนเรียกร้องผ่านสื่อต่างๆ Grab ได้ปรับลดเก็บเงินค่า Commission Fee จากร้านอาหารจากร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 30

แม้ Food Delivery แอปพลิเคชันจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สร้างรายได้ให้แก่ร้านค้าร้านอาหาร แต่นั่นต้องหลังจากหักค่าใช้บริการ ค่าคอมมิชชั่น หากจะมองว่านี่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการร้านอาหารภายใต้สถานการณ์อันยากลำบากก็คงจะไม่ผิดนัก

กระนั้นอีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใจจึงแทบไม่มีนักลงทุนไทยในตลาด Food Delivery เลย ปัจจุบันมีเจ้าตลาดอย่าง LINE MAN, Grab, Gojek, Foodpanda และรายล่าสุดที่เข้ามาในตลาดเมื่อช่วงกลางปี 2563 อย่าง Robinhood ที่พัฒนาด้วยบริษัทลูกของ SCB อย่าง เพอร์เพิล เวนเจอร์ส นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งผู้ให้บริการที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก คือ Eatable ที่พัฒนาโดย บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ในเครือธนาคารกสิกร โดยสองรายหลังมีข้อดีตรงที่ไม่มีค่าสมัคร และค่า GP เหมาะกับร้านอาหารที่ต้องการตัวเลือกที่ส่งผลให้เหลือรายได้เพิ่มขึ้น หรือร้านอาหารที่เพิ่งเปิดดำเนินกิจการได้ไม่นาน

คงจะดีถ้านับจากนี้จะมีผู้เล่นหรือนักพัฒนาแอปพลิเคชันไทยลงเล่นในตลาด Food Delivery เพิ่มมากขึ้น และเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการร้านค้าร้านอาหารได้มากกว่าเจ้าตลาดเดิมที่มาจากต่างชาติ เพราะดูเหมือนสถานการณ์นี้ข้อจำกัดของจำนวนผู้เล่นในตลาดเหมือนเป็นตัวบีบบังคับให้ธุรกิจร้านอาหารต้องเลือก

เงื่อนไขการใช้บริการของ Food delivery แอปพลิเคชัน

Grab Food
– ไม่มีค่าแรกเข้าและค่าสมัคร
– คิดค่าคอมมิชชั่น 35% (ก่อนรวม VAT 7%) ของรายการอาหารที่ถูกสั่งผ่าน Grab ในระยะเวลาสัญญา 12 เดือน
– ร้านค้าต้องมีมือถือหรือแท็บเล็ตระบบ Android เท่านั้น
– ใช้อีเมลที่เป็น @gmail เพื่อดาวน์โหลดและลงทะเบียนเข้าแอป GrabMerchant เพื่อรับคำสั่งซื้อ
– รูปภาพอาหารต้องไม่ใช้ซ้ำกับเว็บไซต์อาหารอื่น
– ร้านค้าจะได้รับยอดขายสุทธิหลังหักค่าบริการต่างๆ ในวันถัดไป
– ร้านค้าจะต้องมีบัญชีธนาคารกสิกรไทย (Kbank) หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (Krungsi) เท่านั้น
– ปัจจุบันมีผู้ใช้งานประมาณ 2 ล้านคน Driver ประมาณ 100,000 คน

Foodpanda
– มีค่าแรกเข้า 399 บาท และค่าบริการรายเดือน 99 บาท ในการสมัคร
– มีนโยบายการันตีราคา ร้านค้าจึงไม่สามารถเพิ่มราคาจากราคาปกติที่ลูกค้ารับประทานที่ร้านได้
– คิดค่าคอมมิชชั่น 32% จากมูลค่าของออร์เดอร์ทั้งหมดที่สั่งผ่าน Foodpanda และจะถูกหัก VAT 7% (สำหรับออร์เดอร์ที่ชำระบัตรเครดิต จะละเว้นค่าธรรมเนียม 3%)
– ร้านค้าจะได้รับแท็บเล็ต โดยร้านค้าสามารถเปิด/ปิดร้านอาหาร ตรวจสอบยอดขายได้ด้วยตัวเองผ่านทางแท็บเล็ต และยังสามารถส่งข้อความติดต่อกับ foodpanda ได้โดยตรงเมื่อพบปัญหา หรือต้องการแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับร้านค้า
– ได้รับ Gift Voucher ส่วนลด 50 บาท จำนวน 100 ใบ สำหรับนำไปแจกให้กับลูกค้าของร้านเพื่อเป็นการโปรโมตร้านค้า
– ใช้ได้ทุกธนาคาร แนะนำ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะหากเป็นธนาคารอื่นจะได้รับเงิน 1-2 วันหลังจากวันที่จ่ายเงิน
ตัวอย่าง รอบที่ 1 ยอดขายวันที่ 1-7 ร้านค้าจะได้รับเงินวันที่ 16 (SCB) แต่หากเป็นต่างธนาคารร้านค้าจะได้รับเงินวันที่ 17-18
รอบที่ 2 ยอดขายวันที่ 8-15 ร้านค้าจะได้รับเงินวันที่ 24 (SCB) ต่างธนาคารจะได้รับเงินวันที่ 25-26
รอบที่ 3 ยอดขายวันที่ 16-22 ร้านค้าจะได้รับเงินวันที่ 30-31 (SCB) ต่างธนาคารจะได้รับเงินวันที่ 1-2 ของเดือนถัดไป
รอบที่ 4 ยอดขายวันที่ 23-31 ร้านค้าจะได้รับเงินวันที่ 9 (SCB) ต่างธนาคารจะได้รับเงินวันที่ 10-11 ของเดือนถัดไป
– ปัจจุบันมีผู้ใช้งานประมาณ 7 ล้านคน Driver ประมาณ 100,000 คน

Robinhood แพลตฟอร์มสัญชาติไทย ในเครือ เอสซีบีเท็นเอกซ์
– ไม่เสียค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม
– ใช้ได้กับระบบ iOS และ Android
– จะเก็บเฉพาะค่า LS แค่ 8% เท่านั้น (LS คือส่วนลดค่าส่งอาหารจากร้านค้าที่ Robinhood จะส่งต่อให้ลูกค้า 100% และนำไปเป็นส่วนลดโดยตรงให้กับลูกค้าในออร์เดอร์นั้นๆ)
– ต้องมีบัญชี SCB ออมทรัพย์ หรือบัญชีเงินสะพัด และมี SCB Easy App
– ร้านค้าได้รับเงินภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากมีการชำระค่าอาหาร
– เจ้าของร้านเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารเพื่อขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น
– พื้นที่ให้บริการ Robinhood กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร (อำเภอเมือง และกระทุ่มแบน) และนครปฐม (อำเภอนครชัยศรี, พุทธมณฑล, บางเลน)

LINE MAN พันธมิตร “วงใน”
– ไม่มีค่าใช้จ่ายในการสมัครและการให้บริการ
– ร้านค้าไม่ถูกหักเปอร์เซ็นต์ใดๆ จาก Line Man โดยคิดค่าส่งตามระยะทางในอัตราปกติ ค่าส่งเริ่มต้นที่ 62 บาท
– แต่ถ้าเข้าร่วม Line Man GP ค่าส่งเริ่มต้น 0 บาท ร้านจะได้รับค่าส่งอาหารที่ถูกกว่า และได้รับการโปรโมตพิเศษ เพื่อช่วยให้ร้านได้รับออร์เดอร์และดันยอดขายมากขึ้นกว่าเดิม
– Line Man GP จะหัก 30% (ยังไม่รวม VAT)
– ถ้าลูกค้าจ่ายเงินสด ร้านรับเงินสดจากไรเดอร์ แต่หักค่า GP โดยนำไปรวมกับยอดที่ลูกค้าจ่าย e-payment ออกใบแจ้งหนี้มาเก็บอีกที
– ยอด e-payment ต้องมียอดเงินสะสมหลังหัก GP ถึง 500 บาท Line Man ถึงจะโอนเงินเข้าบัญชีให้ในวันถัดไป ถ้ายอดไม่ถึง 500 บาท ต้องสะสมยอดต่อไปจนครบเดือน
– จะมีใบแจ้งหนี้ทางอีเมลภายในวันที่ 1-2 ของเดือนถัดไป ชำระภายในวันที่ 20
– ใช้บัญชีธนาคารกสิกรไทย หรือธนาคารกรุงศรีอยุธยา

Gojek รีแบรนด์มาจาก Get เดิม
– มีค่าคอมมิชชัน 30% (ไม่รวม VAT 7%)
– ร้านค้าจะต้องมีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตในระบบ Android เพื่อใช้สำหรับแอปพลิเคชัน GoBiz ในการจัดการร้านค้า
– ร้านค้าจะได้รับรายงานยอดขายและรายงานยอดรับในแต่ละวันทางอีเมล ซึ่งประกอบไปด้วยรายงานจำนวนยอดขายรายวัน รายวันที่ร้านค้าจะได้รับหลังหักค่าธรรมเนียม รายละเอียดค่าบริการ
– ร้านค้าสามารถดาวน์โหลดรายงานการขาย โดยการกดที่ปุ่ม “ดาวน์โหลดรายงาน” รูปแบบรายงานจะอยู่ในรูปแบบไฟล์ Excel
– ใช้บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์

ใส่ความเห็น