วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมใหม่ ภาระหนักครัวเรือนไทย?

ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมใหม่ ภาระหนักครัวเรือนไทย?

ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไร้ข้อสรุปว่าด้วยการเกิดมีขึ้นของรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงขณะปัจจุบันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้วางกรอบงบประมาณจัดการเลือกตั้งไว้สูงถึง 5,800 ล้านบาท ยังไม่สามารถดำเนินการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ และกลายเป็นประหนึ่งกับดักหลุมพรางที่ทำให้องคาพยพของสังคมด้านอื่นต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงันของหล่มปลักไปด้วยโดยปริยาย

ก่อนหน้านี้นักธุรกิจและบรรดาผู้สันทัดกรณีทางเศรษฐกิจต่างโหมประโคมความมั่นใจว่าภายหลังการเลือกตั้งซึ่งควรจะติดตามมาด้วยความชัดเจนของการจับขั้วทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภายหลังยุคสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เศรษฐกิจไทยน่าจะกระเตื้องขึ้นได้พร้อมกับความมั่นใจของผู้ประกอบการลงทุนต่างชาติ หากแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันคือ เศรษฐกิจไทยกำลังถอยหลังอย่างที่ไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ใด

ทัศนะเช่นว่านี้ย่อมไม่ใช่คำกล่าวหาที่เลื่อนลอย หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ควบคุมกลไกอำนาจรัฐในห้วงปัจจุบันตระหนักและพยายามประคับประคองสถานการณ์ด้วยหวังว่าหากมีโอกาสกลับมามีบทบาทอีกครั้งจะสามารถเอ่ยอ้างต่อยอดผลงานที่เป็นประหนึ่งฟองครีมที่อยู่บนผืนหน้าเค้กที่ประดับประดาด้วยสิ่งเล็กน้อยที่ทำให้ความขมขื่นของสังคมกลายเป็นความหอมหวานที่เคลือบแฝงด้วยภัยร้ายในระยะยาว

ความพยายามที่จะนำเสนอมาตรการพยุงเศรษฐกิจรอบใหม่ในช่วงรอยต่อของรัฐบาล คสช. กับรัฐบาลชุดใหม่ที่ยังมองไม่เห็นว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ที่ดำเนินผ่านมาตรการภาษีว่าด้วยการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัย เพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงการควมคุมราคาสินค้า หรือแม้กระทั่งการแจกคูปองการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิดที่ว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจให้ไม่ชะลอตัวลงมากไปกว่าที่เป็นอยู่

มาตรการที่ฝ่ายควบคุมกลไกอำนาจอยู่ในปัจจุบันเชื่อว่าจะรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ได้ในระดับที่เรียกว่า “ไฮอิมแพ็กต์” แต่ไม่ถึงกับต้องใช้ยาแรงนี้ เน้นไปที่มาตรการที่เกี่ยวข้องกับด้านการบริโภค การกระตุ้นการท่องเที่ยว การลงทุน ด้านอสังหาริมทรัพย์ และการใช้จ่ายของประชาชนที่ยากจน เกิดขึ้นควบคู่กับปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่งปรับลดประมาณการขยายตัว มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งทำให้ต้องออกมาตรการมาพยุงในช่วงรอยต่อในครั้งนี้ ในขณะเดียวกันก็เร่งผลักดันกฎหมายสรรพากรที่จะช่วยให้จัดเก็บภาษีค้าขายออนไลน์ให้ได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสแรกกับไตรมาส 2 ปีนี้จะเติบโตเพียงร้อยละ 3 ซึ่งทำให้รัฐจำเป็นต้องพยุงการเติบโตไว้ หากปล่อยให้ชะลอลงมาก เวลาจะดึงขึ้นต้องใช้ทรัพยากรมาก และนำมาสู่มาตรการเบื้องต้น ทั้งมาตรการด้านการบริโภค เงินอุดหนุนให้ท่องเที่ยวเมืองรอง และการให้หักลดหย่อนภาษีกรณีค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวทั่วประเทศ

ขณะที่มาตรการด้านการใช้จ่ายของประชาชน จะมีมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายสำหรับซื้อเสื้อผ้า เครื่องใช้ เครื่องกีฬา รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่กำลังจะดำเนินการในช่วงก่อนเปิดเทอมนี้ ด้วยมาตรการหักลดหย่อนสำหรับการซื้อหนังสือ ซึ่งกลไกรัฐเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมทุนมนุษย์ในอนาคต และจะให้ใช้สิทธิได้ตลอดปี

ประเด็นว่าด้วยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานรวมเป็นเงินมากถึง 27,500 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายว่าด้วยค่าเทอมถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระให้กับผู้ปกครองในสัดส่วนสูงสุด

จากผลของการสำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองที่มีบุตรหลานกำลังศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเปิดเทอม และพยายามปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน ควบคู่หารายได้เสริมเพิ่ม ซึ่งความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเปิดเทอม ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันโดยตรง ขณะที่ความจำเป็นในการจับจ่ายสินค้าด้านการศึกษาทั้งชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ต้องมองหาสินค้าราคาประหยัดมาทดแทน

แม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงเปิดเทอมในแต่ละปีจะมีลักษณะคงที่เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หากแต่ภาระว่าด้วยชุดเครื่องแบบนักเรียน ค่าเรียนเสริมพิเศษ ดูจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับแหล่งที่มาของรายได้และงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายด้านการศึกษาที่แต่ละครัวเรือนต้องแบกรับ

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของไทยดูจะมีความน่ากังวลไม่น้อย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ายอดคงค้างเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือ “หนี้ครัวเรือนไทย” ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 12.827 ล้านล้านบาทในไตรมาส 4/2561 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ถึงร้อยละ 2.2 และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีกทั้งในช่วงไตรมาสที่ 1/2562 และไตรมาส 2/2562 ที่พร้อมจะดำเนินไปด้วยอัตราเร่ง

ภาพรวมของหนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากจะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ขยับขึ้นจากระดับร้อยละ 78.3 มาสู่ระดับร้อยละ 78.6 ในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ในอีกด้านหนึ่งได้สะท้อนข้อเท็จจริงและความเป็นไปของสังคมไทยว่าตกอยู่ในภาวะด้อยประสิทธิภาพประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ และทำให้ประชาชนจำนวนมากดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ความฝืดเคือง

ภาพสะท้อนว่าด้วยการขยายตัวของปริมาณเงินค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากปีที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่าผู้ปกครองให้ความสนใจในการส่งเสริมการพัฒนาบุตรหลานน้อยลง หากแต่เกิดขึ้นจากผลของปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า ซึ่งแม้ว่าค่าใช้จ่ายที่สำคัญโดยเฉพาะค่าเทอม อาจจะยังไม่มีการปรับตัวสูงขึ้นหรือจัดเก็บในอัตราเดิม แต่ด้วยภาระและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้นอกจากจะต้องนำเงินออมออกมาใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของบุตรหลานแล้ว ผู้ปกครองบางส่วนยังต้องแสวงหาเงินกู้ยืมจากแหล่งอื่นๆ มาเพิ่มเติมเพื่อรองรับกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ด้วย

แม้ว่าผลสำรวจของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ในช่วงที่ผ่านมาจะระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ประจำไตรมาส 1 ปี 2562 ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 45.9 ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 มาสู่ระดับ 46.1 ในไตรมาส 1 ปี 2562 จากผลที่ประชาชนฐานรากมีความรู้สึกเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น และมีความคาดหวังด้านเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่ารัฐบาลใหม่จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ/สนับสนุนผู้มีรายได้น้อยใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

กระนั้นก็ดีเมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ เทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า แม้ความสามารถในการชำระหนี้ การหารายได้ และโอกาสในการหางานทำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่การจับจ่ายใช้สอยและการออมกลับปรับตัวลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความระมัดระวังในการใช้จ่ายของประชาชนฐานราก และส่วนต่างที่ตีบแคบของรายรับ รายจ่าย เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่เช่นนี้ ทำให้คาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2562 จะปรับตัวลดลง เนื่องจากประชาชนมีภาระในการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงเปิดเทอมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ภาคการเกษตรเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลผลิตสำคัญออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับการเมืองในประเทศยังไม่มีความชัดเจน

ความตระหนักรู้ว่าด้วยความสำคัญของการศึกษาสำหรับประชาชนฐานรากย่อมไม่ได้แตกต่างจากประชาชนส่วนอื่นๆ ในสังคมที่พยายามโหมประโคมว่าด้วย “การพัฒนาทุนมนุษย์” หากแต่ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดโอกาสในการสร้างรายได้ และพัฒนาศักยภาพการแข่งขันดังที่เป็นอยู่นี้ ดูเหมือนว่าสัดส่วนแห่งความตระหนักรู้จะกลายเป็นภาระที่ต้องแบกหนักในช่วงเวลาของการเปิดเทอมครั้งใหม่นี้

ใส่ความเห็น