วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Life > ความโดดเดี่ยว-อันตรายยิ่งกว่าสูบบุหรี่วันละ 15 มวน!

ความโดดเดี่ยว-อันตรายยิ่งกว่าสูบบุหรี่วันละ 15 มวน!

Column: Well – Being

ความโดดเดี่ยว เป็นอารมณ์ที่กวี นักเขียนนวนิยาย และนักประพันธ์เพลงล้วนประสบกันมาหลายศตวรรษแล้ว และพยายามถ่ายทอดออกมาในภาษาต่างๆ แต่นักวิจัยบางคนยืนยันว่าความโดดเดี่ยวเป็นอะไรที่มากกว่าความรู้สึก คือเป็นทั้งความหายนะ ความเจ็บป่วย หรือสภาวะที่ต้องได้รับการเยียวยาเหมือนโรคชนิดหนึ่ง และเป็นเหมือนโรคติดต่อที่รุนแรงขั้นถึงแก่ชีวิตได้

ในมุมมองด้านความจริง ผู้ที่ขาดการเชื่อมโยงกับสังคมจัดว่าอยู่ในภาวะอันตรายยิ่งกว่าการสูบบุหรี่ถึงวันละ 15 มวน และเป็นอันตรายต่อชีวิตมากกว่าโรคอ้วน ความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวสามารถตีความเป็นความเจ็บป่วยทางกายได้ โดยเหตุที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงว่า เรามีความสุขกับการอยู่ในสังคมเท่านั้น แต่หมายถึงเราจำเป็นต้องอยู่ในสังคมด้วย

การแยกตัวจากสังคมทำร้ายมนุษย์ทั้งทางอารมณ์และจิตวิทยา ความเครียดที่เกิดจากความโดดเดี่ยว ทำให้เกิดการสูญเสียทางกายภาพ การเผชิญกับความโดดเดี่ยวเรื้อรัง (นานเกิน 2 สัปดาห์) จะเชื่อมโยงกับโรคความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองสาเหตุเพราะเกิดภาวะอักเสบสูงขึ้น หากอาการนี้มีมากเกินไป ย่อมมาพร้อมๆ กับโรคเรื้อรัง

“ผู้คนพากันคิดว่า ความโดดเดี่ยวสัมพันธ์กับสุขภาวะทางอารมณ์ พวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบอย่างลึกซึ้งที่ความโดดเดี่ยวมีผลต่อสุขภาพทางกาย” ศาสตราจารย์จูเลียนน์ ฮอลท์-ลุนสตัด แห่งสถาบันจิตวิทยาบริกแฮมกล่าว ทั้งยังเปิดเผยผลการวิจัยของเธอด้วยว่า คนเหงามีแนวโน้มเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 แต่ถ้าเป็นผู้ไม่มีสังคมหรือมีน้อยมาก ความเสี่ยงจะเพิ่มเป็นร้อยละ 29 และเพิ่มเป็นร้อยละ 32 ในหมู่คนที่อาศัยตามลำพัง “เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางสังคมให้มากเหมือนกับที่เราใส่ใจในอาหาร การออกกำลังกาย และทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา” เธอสรุป

ทำไมจึงโดดเดี่ยวเป็นประวัติการณ์
นิตยสาร Prevention อธิบายว่า ถ้าความโดดเดี่ยวเป็นโรคชนิดหนึ่ง ย่อมต้องถือว่าเป็นโรคที่ดำเนินมาถึงจุดที่มีสัดส่วนแพร่กระจายไปทั่ว ชาวอเมริกันผู้ซึ่งปัจจุบันต้องอยู่ตามลำพังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไมเราจึงเผชิญกับความโดดเดี่ยวเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วราวสายฟ้าแลบ “เราพบกับความเปลี่ยนแปลงในรอบ 24 ปีมากกว่าที่เราประสบมาตลอด 2,500 ปีก่อน” ดร.ดิลิฟ เจสเต ผู้อำนวยการแผนกสูงวัยอย่างมีคุณภาพกล่าว “ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอุบัติขึ้นอย่างรวดเร็ว และความโดดเดี่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้”

แต่ความโดดเดี่ยวไม่ได้เกี่ยวกับการอยู่ตามลำพังอย่างเดียว ที่มีความหมายยิ่งกว่าคือคุณภาพของความสัมพันธ์ของคุณมากกว่า ยิ่งคุณพึงพอใจจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นมากเท่าไร คุณจะยิ่งว้าเหว่น้อยลง คนวัยกลางคนเป็นช่วงชีวิตที่เผชิญกับความไม่พึงพอใจในระดับสูงสุด “ผู้สูงอายุที่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความโดดเดี่ยวนั้น กว่าจะได้รับการวินิจฉัยพบโรคก็ต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการพัฒนา แต่จุดเริ่มต้นของโรคมักเกิดในระดับเซลล์ในช่วงวัยกลางคนตอนต้น หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ” ดร.สตีฟ โคล ศาสตราจารย์ด้านจิตเวช การแพทย์ และพฤติกรรมศาสตร์ กล่าว

วิกฤตมิตรภาพช่วงวัยกลางคน
วัยหนุ่มสาวเป็นช่วงที่มิตรภาพอันยาวนานสามารถเลือนหายไปได้ เพราะปัญหากระทบกระทั่งในที่ทำงาน และแม้การได้ใช้เวลาอย่างมีความสุขกับเพื่อนร่วมงานผู้สามารถช่วยผลักดันให้เราก้าวหน้า แต่ก็เป็นคู่แข่งขันในเวลาเดียวกันด้วย เพื่อนวัยเด็กอาจถูกแทนที่ด้วย “เพื่อนที่เป็นคุณแม่” ที่เพิ่งรู้จักใหม่ ซึ่งเราไม่เคยรู้ความเป็นมา และมีสิ่งที่เหมือนกันน้อยมาก ยกเว้นความเป็นแม่หรือพ่อ เมื่ออยู่ที่ทำงาน “เราอาจถูกดูดเข้าไปอยู่ในโลก และเริ่มทำในสิ่งที่ได้ประโยชน์หรือให้กำไรแทนการทำในสิ่งที่ให้การดูแลได้ลึกซึ้งที่สุด” ดร.โคลอธิบาย ที่สำคัญการสุ่มเลือกเพื่อนมักไม่เพียงพอที่จะขจัดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้

ผลการศึกษาปี 2016 ระบุว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-79 ปี 15,000 คนปรากฏว่าผู้มีอายุระหว่าง 30-49 ปี รู้สึกไม่พึงพอใจกับความสัมพันธ์ของพวกเขา ทีมนักวิจัยชาวนอร์เวย์ระบุในงานวิจัยของพวกเขาว่า คนวัยนี้เป็นวัยที่ต้องพบความเสียใจมากที่สุด นอกจากนี้ ความทรงจำของชีวิตช่วงที่ยังไม่มีภาระก็ยังสดใสอยู่ในใจ คนวัยนี้จึงอยู่ในภาวะ “ถูกอัดเป็นแซนด์วิช” จากการที่คนวัยกลางคนต้องรับหน้าที่ดูแลทั้งลูกๆ และพ่อแม่สูงอายุหรือช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งยังมีเวลาจำกัดมากแค่จะออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือหาเวลาสนุกกันก็ยังทำไม่ได้ จึงนำมาซึ่งความรู้สึกโดดเดี่ยวที่ไม่น่าพอใจอย่างสิ้นเชิง

ความโดดเดี่ยวถึงขีดสุดช่วงวัย 50 ปี
ขณะอายุเคลื่อนผ่านวัยกว่า 40 ปีไปเรื่อยๆ เมื่อบุคคลที่เป็นแกนหลักทางสังคมเริ่มล้มหายไป เช่น พ่อแม่เสียชีวิต การหย่าร้างกับคู่สมรส ลูกๆ แยกบ้านย้ายไปอยู่ข้างนอก ตกงาน และเราอาจวุ่นวายเกินกว่าจะใส่ใจต่อการสูญเสียทางอารมณ์อย่างเหมาะสม ความโดดเดี่ยวจึงพุ่งถึงขีดสุดในช่วงวัย 50 ปี “เป็นครั้งแรกที่คุณเริ่มตระหนักถึงความตาย” ดร.เจสเตสรุป ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และผู้ชายเข้าสู่วัยทอง แถมความเจ็บป่วยจากสารพัดโรคยังมาเยือนเป็นครั้งแรก เช่น โรคข้ออักเสบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง “เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้งหมด ทำให้คุณอยู่ในภาวะเอื้อต่อความรู้สึกโดดเดี่ยว และไม่พึงพอใจในเชิงสังคมอย่างช่วยไม่ได้”

ปกป้องตัวเองจากความโดดเดี่ยว
ความมั่งมี การศึกษา ชุมชนที่สนิทสนม และอาชีพที่ประสบความสำเร็จ ล้วนเป็นที่รู้กันว่าช่วยปกป้องเราจากความโดดเดี่ยว และการมีชีวิตคู่ที่ราบรื่นก็ช่วยบรรเทาความรู้สึกว้าเหว่นี้ได้ แต่ไม่ถึงกับเป็นเกราะป้องกันเสียทีเดียว จากสถิติพบว่าคนร่วม 3 ใน 10 ผู้ไม่มีความสุขกับชีวิตครอบครัวจะรู้สึกโดดเดี่ยว นอกจากนี้ ยังขึ้นกับมิตรภาพที่ลึกล้ำ และการฝึกสำนึกรู้คุณผู้อื่น เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยได้

6 วิธีช่วยบรรเทาความโดดเดี่ยว
(1) กลับไปหาเพื่อนเก่า พวกเขาอาจอยากติดต่อคุณด้วย

(2) พูดคุยกับคนแปลกหน้า แม้การพูดคุยอย่างฉันมิตรเพียง 30 วินาทีกับพนักงานขายของหรือคนขับแท็กซี่ ก็ส่งผลเชิงบวกต่ออารมณ์ได้

(3) ฝึกสำนึกรู้คุณคนอื่น โดยเน้นสิ่งต่างๆ ที่ทำให้คุณรู้สึกว่าโชคดี เช่น สัตว์เลี้ยง หรือสถานที่ที่น่าอยู่

(4) ออกกำลังกายและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งสองกิจกรรมนี้ช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์ได้ดี และดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย

(5) ลงเรียนหลักสูตรต่างๆ โดยเฉพาะวิชาที่คุณไม่เคยทำ เช่น ลีลาศ ศิลปะ หรือฝึกสมาธิ การเรียนรู้อย่างกระฉับกระเฉงเป็นการออกกำลังสมอง และคุณอาจได้เพื่อนใหม่ๆ

(6) ทำงานอาสาสมัคร ฐานข้อมูลระบุว่า งานอาสาสมัครทำให้คนมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งทำให้นับถือตนเองมากขึ้น แล้วย้อนกลับมาทำให้พวกเขาโดดเดี่ยวน้อยลง

ใส่ความเห็น