วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > On Globalization > การเมืองเรื่อง Tiffany’s

การเมืองเรื่อง Tiffany’s

Column: From Paris

เศรษฐกิจทั่วโลกประสบปัญหาอยู่แล้วก่อนที่ Covid-19 จะระบาด ยิ่งเมื่อประเทศต่างๆ ต้องล็อกดาวน์ ปัญหายิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก แต่เดิมก็แก้ยากอยู่แล้ว บัดนี้ยิ่งลำบากขึ้นไปอีก จะว่าผู้บริหารไม่เก่ง ก็คงไม่เก่งทั่วโลกนั่นแหละ ไม่เห็นประเทศไหนจะเลอเลิศกว่าใคร

Tiffany’s เป็นห้างเพชรของสหรัฐอเมริกา มาโด่งดังมากจากภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s ซึ่งนำแสดงโดย Audrey Hepburn และ George Peppard ภาพ Audrey Hepburn ในเดรสสีดำ สวมแว่นตาดำ ยืนหน้าวินโดว์ของบูติก Tiffany’s เป็นภาพที่คู่ไปกับห้างเพชรแห่งนี้

Tiffany’s ประสบปัญหาเมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อถดถอย มาเป็นข่าวดังเมื่อเดือนกันยายน 2019 เมื่อ LVMH กลุ่มธุรกิจสินค้าหรูของฝรั่งเศส ที่มี Bernard Arnault เป็นประธาน ส่งคนไปทาบทามซื้อกิจการของ Tiffany’s ด้วยเงินจำนวน 14.5 พันล้านดอลลาร์ (หุ้นละ 120 ดอลลาร์) หลังจากนั้นไม่นาน Bernard Arnault ไปเปิดโรงงานผลิต Louis Vuitton ในเทกซัส โดยประธานาธิบดี Donald Trump ไปร่วมด้วย ในโอกาสนั้น Bernard Arnault ได้บอกกล่าวแก่ Donald Trump ว่ากำลังมีอีกโปรเจกต์หนึ่ง

หลังจากที่มีการเจรจากัน LVMH และ Tiffany’s ได้บรรลุข้อตกลงซื้อในราคา 16.5 พันล้านดอลลาร์ (หุ้นละ 135 ดอลลาร์) ในเดือนพฤศจิกายน 2019 และในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ผู้ถือหุ้นของ Tiffany’s ได้เห็นชอบข้อตกลงนี้ ดังนั้นขั้นตอนสุดท้ายควรจะบรรลุได้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2020 หลังจากได้รับความเห็นชอบจากองค์การแข่งขันทางการค้าจากทั่วโลก

ทว่านับตั้งแต่การบรรลุข้อตกลง ก็เกิดโรคระบาด Covid-19 ทำให้ธุรกรรมทั้งมวลหยุดชะงักเนื่องจากการล็อกดาวน์ประเทศ การประกอบการของ Tiffany’s ได้รับผลกระทบ มีการปิดบูติกหลายแห่ง เป็นเหตุให้ LVMH ต้องกลับมาทบทวนข้อตกลงใหม่ ที่พบว่าไม่เอื้อต่อองค์กรของตน ข้อหนึ่งในข้อตกลงที่ทำให้ LVMH สามารถขอต่อรองราคาใหม่ กล่าวคือ Tiffany’s ต้องเคารพพันธะที่มีต่อเจ้าหนี้ บูติกหลายแห่งที่ปิดตัวลงมีผลกระทบต่อพันธะที่มีต่อเจ้าหนี้ ผู้บริหารของ Tiffany’s ให้ความมั่นใจต่อเจ้าหนี้ว่าถึงอย่างไร LVMH ก็ตัดสินใจซื้อกิจการแล้ว ทำให้เจ้าหนี้ยอมผ่อนผัน อย่างไรก็ตาม Tiffany’s กังวลว่า LVMH ไม่ได้รีบเร่งยื่นเรื่องการซื้อกิจการครั้งนี้ต่อสำนักงานต่อต้านการแข่งขันของสหภาพยุโรป ดังนั้น Tiffany’s จึงขอเลื่อนการตกลงขั้นสุดท้ายไปวันที่ 24 พฤศจิกายน 2020

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2020 LVMH ออกแถลงการณ์ ประกาศยกเลิกโครงการซื้อกิจการของ Tiffany’s เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องที่มีผลกระทบโครงการนี้ พร้อมกับแจ้งว่า Bernard Arnault ประธานกลุ่ม LVMH ได้รับจดหมายจาก Jean-Yves Le Drian รัฐมนตรียุโรปและการต่างประเทศเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ขอให้มีการทบทวน เนื่องจากรัฐบาลอเมริกันได้ประกาศเก็บภาษีศุลกากรแก่สินค้าฝรั่งเศสบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องสำอางและกระเป๋า made in France นับตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2021 เพื่อเป็นการโต้ตอบที่ฝรั่งเศสเก็บภาษีเครือข่าย Social Media กระทรวงการต่างประเทศขอให้ผัดการซื้อ Tiffany’s ไปหลังวันที่ 6 มกราคม 2021 ทว่า LVMH ใคร่ครวญแล้ว อยากยกเลิกโครงการมากกว่า ทำให้ Tiffany’s ยื่นฟ้องศาลที่ Delaware เพื่อบังคับให้ LVMH ดำเนินการตามข้อตกลงที่มีต่อกันให้แล้วเสร็จ

ที่แปลกคือกลุ่มธุรกิจสินค้าหรูอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Hermès และ Kering หรือ L’Oréal ไม่ได้รับจดหมายลักษณะนี้จากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งต่างก็มีโครงการลงทุนในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

จึงน่าคิดว่าการระบาดของ Covid-19 ที่ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลกจนยากจะแก้ ทำให้ LVMH ไม่อยากลงทุนซื้อ Tiffany’s ต่อไป และเห็นว่า Tiffany’s บริหารผิดพลาดด้วย

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า LVMH พยายามหาช่องทางยกเลิกโครงการนี้ โดยติดต่อไปที่กระทรวงเศรษฐกิจฝรั่งเศสก่อน แต่รัฐมนตรีไม่เล่นด้วย จึงหันมาหากระทรวงการต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม LVMH ไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่เนื้อหาจดหมายของรัฐมนตรีต่างประเทศ เพราะถือเป็นความลับ ทว่า Tiffany’s เป็นผู้เปิดเผยจดหมายฉบับนี้ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ

ใส่ความเห็น