วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > การล่มสลายของธุรกิจไทย เปราะบาง-อิงต่างชาติมากเกินไป?

การล่มสลายของธุรกิจไทย เปราะบาง-อิงต่างชาติมากเกินไป?

การประกาศปรับลดประมาณการตัวเลขจีดีพีไทยในปี 2563 ที่อาจติดลบถึง 9 เปอร์เซ็นต์ เสมือนเป็นการยอมรับโดยดุษณีว่า เศรษฐกิจไทยยังไร้กำลังฟื้นตัว และวิกฤตจากโควิด-19 ส่งผลเสียต่อระบบหนักกว่าเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจในหลายสถาบันต่างมองหาความเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางการฟื้นตัวไปในรูปแบบใด ระหว่างรูปแบบตัว V รูปแบบตัว U หรือรูปแบบตัว L ซึ่งตัวแปรที่จะก่อให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ใช่อาศัยจังหวะที่เอื้ออำนวยอันนำมาซึ่งกำลังซื้อที่แข็งแรงขึ้นหรือนโยบายจากภาครัฐที่จะผลักดันให้อุปสงค์เพิ่มกำลังขึ้นเท่านั้น

แค่เพียงนโยบายอุดหนุนจากรัฐบาลที่มุ่งหวังให้มีกระแสเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อคนในชาติด้วยกันเอง ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เมื่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการล้วนแต่ใช้มาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งดูจะเป็นการ์ดที่มีไว้ป้องกันตัวเอง เพราะสถานการณ์ในหลายด้านยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด ไม่ว่าจะจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สงครามการค้ารอบใหม่ที่เริ่มร้อนแรงขึ้น หรือเหตุการณ์โศกนาฏกรรมคร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก

หลังจากมาตรการผ่อนปรนที่รัฐบาลประกาศออกมา พร้อมทั้งนโยบายอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบิน ในสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ประชาชนยังใช้สิทธิไม่มากอย่างที่หวังไว้

สัดส่วนการเข้าใช้สิทธิ์ที่เกิดขึ้นเพียงกระผีกลิ้นจากโครงการดังกล่าว เป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ของกำลังซื้อภายในประเทศ และการระมัดระวังในการจับจ่ายของประชาชนมากขึ้น

จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เมื่อภาคเอกชนต่างเรียกร้องให้รัฐออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มขึ้น ด้วยหวังว่าจะมีเงินหมุนเวียนเข้ามายังสายใยของธุรกิจที่แบกความหวังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ธุรกิจและอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยที่นับถอยหลังสู่การล่มสลาย เมื่อมองไม่เห็นสัญญาณในทางบวกที่พอจะไปต่อได้ นั่นอาจเป็นเพราะโครงสร้างของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยเกาะติดและยึดโยงกับรายได้ที่มาจากต่างประเทศมาอย่างยาวนาน

เวลานี้อาจดูเป็นเรื่องยาก หากผู้ประกอบการไทยจะมองหาตลาดใหม่เข้ามาทดแทนตลาดเดิม เมื่อหลายประเทศคู่ค้ายังประสบกับสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ต่างกัน

วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ สร้างผลกระทบให้แก่ธุรกิจทุกขนาด และทุกแวดวง โดยเฉพาะธุรกิจ SME ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบโควิด-19 ต่อ SME จาก 800 ตัวอย่างทั่วประเทศ

ธุรกิจ SME 61.7 เปอร์เซ็นต์ ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด 28.9 เปอร์เซ็นต์ ได้รับผลกระทบปานกลาง และ 11.2 เปอร์เซ็นต์ ได้รับผลกระทบน้อย โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สุขภาพ ความงาม อัญมณี และหัตถกรรม

แน่นอนว่า ในเวลานี้รายได้คือหัวใจสำคัญที่จะหล่อเลี้ยงและให้คำตอบได้ว่า ธุรกิจนั้นๆ จะสามารถอยู่รอดหรือเพียงแค่ประคองให้อยู่ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ม. หอการค้า ได้สำรวจลึกลงไปในรายละเอียดกรณีไม่มีรายได้เข้ามาหรือเข้ามาน้อยมาก จะประคองธุรกิจได้นานเท่าไร โดยเฉลี่ยจะประคองธุรกิจประมาณ 6 เดือน ธุรกิจที่ประคองธุรกิจได้น้อยที่สุดคือ 3 เดือน คือธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์

ธุรกิจที่ประคองตัวได้ 6 เดือน คือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจท่องเที่ยวและสันทนาการ ธุรกิจโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจที่ประคองตัวได้ 9 เดือน คือธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่น ธุรกิจหัตถกรรม ธุรกิจพลาสติกและยาง ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร ธุรกิจบริการด้านความงาม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีข้อเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการรวมทั้งต้องการซอฟต์โลนเพื่อเสริมสภาพคล่อง การพักชำระหนี้และการลดภาษี

สิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงยามนี้ กับผู้ประกอบการไทย ทั้งธุรกิจ SME ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ ภาคการส่งออก การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีตลาดหลักอยู่ในต่างประเทศ ผูกติดยึดโยงรายได้จากต่างชาติเป็นหลัก หรือให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทย เป็นรายได้จากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งหากสถานการณ์โควิดทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย นั่นทำให้เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ยากขึ้น แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศจะเป็นศูนย์ และไทยจะมีมาตรการผ่อนปรนในเกือบทุกด้าน

การพึ่งพารายได้จากต่างประเทศของไทยในเวลานี้ กลายเป็นจุดอ่อนที่อาจนำไปสู่การล่มสลายของธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย เมื่อตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2563 ติดลบ 23.17 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการขยายตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 131 เดือน

ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปประมาณ 620,000 ล้านบาท ตัวเลขรายได้ลดลงไปถึง 65.15 เปอร์เซ็นต์ นับแต่มีมาตรการปิดเมืองในช่วงปลายเดือนมีนาคม

ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อให้ระบบสาธารณสุขของไทยได้ถูกพัฒนาและปรับปรุงเท่านั้น ทว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรเรียนรู้ในบทเรียนสำคัญครั้งนี้ ว่า การที่เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นหลักนั้น สร้างความสุ่มเสี่ยงอันนำไปสู่การล่มสลายทางธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยมากเพียงใด

เมื่อหนทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องอาศัยปัจจัยจากนอกประเทศเป็นหลัก ทั้งประเทศคู่ค้าที่ประสบกับชะตากรรมโควิด-19 ไม่ต่างกัน หรืออาจแย่กว่าในบางประเทศที่เข้าสู่การระบาดรอบสอง และกำลังซื้อจากต่างชาติอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด สงครามการค้าที่เริ่มอุบัติใหม่แม้ไทยจะไม่ได้เข้าร่วมศึกโดยตรง แต่ในทางอ้อมไทยได้รับผลกระทบไม่น้อย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการส่งออก ขณะที่ไทยยังสูญเสียความน่าดึงดูดในการลงทุนจากต่างชาติไปพอสมควร

หลังจากนี้ทางรอดที่ยั่งยืนที่สุดคือแนวทางที่จะให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมลดการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้ผู้ประกอบการไทยให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ วิกฤตที่ไม่คาดฝัน และต้องอยู่ให้รอดจากกำลังซื้อจากตลาดต่างประเทศลดลง

อย่าแปลกใจหากนักวิเคราะห์ต่างชาติจะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยสาหัสที่สุดในอาเซียน เพราะหลักฐานที่ปรากฏขึ้นในเวลานี้ไม่อาจปฏิเสธได้เลย

ใส่ความเห็น