วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > กระแสรักษ์โลกสู่ภาษีคาร์บอน กระทบธุรกิจส่งออกไทย?

กระแสรักษ์โลกสู่ภาษีคาร์บอน กระทบธุรกิจส่งออกไทย?

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งปริมาณฝนที่เปลี่ยนแปลง ความถี่และความรุนแรงของพายุ และระดับน้ำทะเล ภัยแล้ง อุทกภัย ล้วนแต่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนแทบทั้งสิ้น

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม การบริโภคน้ำมัน หรือแม้แต่การดำรงชีวิตของผู้คน ล้วนแต่มีส่วนในการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทบทั้งสิ้น

สภาพภูมิอากาศในปัจจุบันจึงกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้คนในสังคมหันกลับมาให้ความสำคัญ กระแสการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) โดยแต่ละประเทศล้วนมุ่งไปที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้

ล่าสุดสหภาพยุโรปประกาศแผน European Green Deal ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 55 ภายในปี 2573 และมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2593 โดยหลายแผนงานล้วนส่งผลต่อธุรกิจภายใน EU เป็นหลัก

ขณะที่มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่จะเริ่มใช้ในปี 2566 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำเรื่องการเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้กับสินค้าของประเทศคู่ค้าเป็นครั้งแรก โดยสหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางเดียวกันนี้มาใช้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุป 3 มาตรการที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือดังนี้ 1. สินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนสูงถูกเพ่งเล็งก่อน แต่สินค้าเหล่านี้ไทยไม่ค่อยได้ผลิตและส่งออกจึงไม่ได้รับผลกระทบทางตรงมากนัก โดยสินค้ากลุ่มนี้คงต้องเตรียมรับมือกับแผนงาน CBAM ของ EU ที่จะเริ่มใช้ใน 1 ปีข้างหน้า กับสินค้านำร่อง 5 รายการ ประกอบด้วย ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และอะลูมิเนียม ในเบื้องต้นมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 3 ปีแรกที่ EU จะยังไม่เก็บภาษีคาร์บอน แต่ผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องรายงานกับ EU ในการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม หลังจากนั้นจะเริ่มพิจารณาเก็บภาษีคาร์บอนในปี 2569 และยังมีแนวโน้มว่าอาจมีการขยายขอบข่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องมากขึ้นอีก ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังเสนอแผนงานในลักษณะเดียวกันซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะถูกนำมาใช้ในปี 2567

2. สินค้าพลาสติก และวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกเริ่มถูกจำกัดการใช้งาน โดยเริ่มจากสินค้าบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics: SUPs) ผู้ประกอบการไทยที่ต้องใช้พลาสติกเป็นองค์ประกอบของบรรจุภัณฑ์ควรต้องหันไปใช้วัสดุอื่นทดแทน โดย EU เริ่มใช้มาตรการห้ามใช้ SUPs มาตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2564 ประกอบด้วยพลาสติก 10 ชนิด ได้แก่ ก้านสำลีเช็ดหู ช้อน, ส้อม, มีด, จาน, หลอด ภาชนะใส่อาหาร ถ้วยเครื่องดื่ม เป็นต้น

ด้านสหรัฐฯ มีแผนจัดเก็บภาษีจากฝั่งผู้ผลิตเพื่อจำกัดการใช้พลาสติกและการนำเข้าเม็ดพลาสติกที่เป็นปัจจัยการผลิตของ SUPs ในอัตรา 10 เซนต์/ปอนด์ ในปี 2565 ขยับเป็น 15 และ 20 เซนต์/ปอนด์ในปี 2566 และปี 2567 หลังจากนั้นจะปรับขึ้นอีกตามอัตราเงินเฟ้อ

3. การเก็บภาษีคาร์บอนในหมวดสินค้าอาหารยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากเกี่ยวกันกับผู้บริโภคและผู้ผลิตในวงกว้าง สำหรับไทยที่เป็นผู้ส่งออกอาหารทั้งวัตถุดิบและอาหารแปรรูปจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมด้านห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทุกช่องทาง แม้ EP จะยังไม่ได้จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าในหมวดอาหาร แต่ล่าสุดอังกฤษเตรียมแผนเก็บภาษีคาร์บอนและกำหนดให้ติดฉลากคาร์บอนสำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และนมที่มีกระบวนการทำฟาร์มก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนแล้ว รวมทั้งในปัจจุบันหลายประเทศใน EU มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าเนื้อสัตว์ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการทำฟาร์มในอัตราที่สูงกว่าผัก ผลไม้ อาหารสุขภาพและอาหารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา EU ให้ความสำคัญในเรื่องสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมกับสินค้านำเข้ามาโดยตลอด อาทิ การคุมเข้มของมาตรการ IUU Fishing ในการอุตสาหกรรมประมง จึงมีโอกาสที่มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนจากการนำเข้าสินค้าอาหารจะถูกมาใช้ในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะ 1-2 ปี ไทยต้องเร่งเตรียมพร้อมรับกับโจทย์ที่ท้าทายจาก EU และสหรัฐฯ เป็นสินค้าที่อยู่ในแผน CBAM และกลุ่มพลาสติกเป็นหลัก แม้ไทยจะพึ่งพาตลาดนี้ไม่มากนัก แต่มีมูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของการส่งออกทั้งหมด และแม้จะยังไม่มีการเก็บภาษีอย่างเป็นทางการ แต่เป็นย่างก้าวที่สำคัญในการนำกระแส ESG มาทำให้เป็นรูปธรรม ซึ่งมีส่วนทำให้นานาชาติหันมาใช้มาตรการแบบเดียวกัน จะทำให้สินค้าไทยต้องรับมือกับการทำตลาดอื่นๆ ตามมาในอนาคต

สำหรับในระยะต่อไปทั้ง EU และสหรัฐฯ อาจขยายมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนครอบคลุมสินค้าอาหาร สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งรวมแล้วมีมูลค่า 52.8 พันล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 23.7 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย นับว่าส่งผลต่อไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าที่เกี่ยวโยงกับห่วงโซ่การผลิตในภาคเกษตรกรรมของไทยโดยตรง

ขณะที่รัฐบาลไทยมีเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ชูประเด็น Climate Change ให้เป็นนโยบายระดับประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อยู่ในหมุดหมายที่ 10 คือ การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และหมุดหมายที่ 11 การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายของประเทศอื่นๆ ประเทศไทยตั้งเป้าไว้นานกว่าอย่างน้อย 10 ปี ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้าน สปป. ลาว กัมพูชา เมียนมา ตั้งเป้าหมายไว้ในปี ค.ศ. 2050 หรือเป้าหมายของประเทศอื่นๆ เช่น ปี 2030 อุรุกวัย ปี 2040 ออสเตรีย ปี 2045 สวีเดนและเยอรมนี แต่ส่วนใหญ่จะตั้งเป้าไว้ในปี 2050 เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น แคนาดา สเปน เกาหลีใต้ ฟิจิ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ แอฟริกาใต้ คอสตาริกา บราซิล

กระแส ESG ดูจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทั้งนี้แม้ว่าเป้าหมายที่รัฐบาลไทยตั้งไว้จะใช้เวลานานกว่าประเทศอื่นๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ภาคเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจจะเพิกเฉยและไม่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เพราะนั่นหมายถึงโอกาสทางธุรกิจที่อาจจะสูญเสียไปด้วยเช่นกัน เมื่อทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

ภาษีคาร์บอนที่เกิดจากกระแส ESG จะกลายเป็นตัวบีบบังคับให้ผู้ประกอบการเอกชน หรือนักลงทุนในอนาคตต้องใส่ใจและสร้างธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น แน่นอนว่าในแง่มุมหนึ่ง นั่นอาจหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในช่วงแรก กระนั้น ย่อมดีกว่าการต้องจ่ายภาษีคาร์บอนที่หลายประเทศจะค่อยๆ เริ่มใช้แผนนี้ในการจัดเก็บสำหรับสินค้านำเข้าในเร็วๆ นี้

ใส่ความเห็น