วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > New&Trend > “LPN Wisdom” ชี้ 3 Mega Trends ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยหลังโควิด-19

“LPN Wisdom” ชี้ 3 Mega Trends ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยหลังโควิด-19

บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด หรือ LPN Wisdom ระบุการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 (โควิด-19) ให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นหลัก (3 Mega Trends) ในเรื่อง สุขภาพ (Wellness) การออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างสมดุล (Work-Life Balance) และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการใช้ชีวิต (Virtual Livable Connect)

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) บริษัทด้านการวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการอยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขอนามัย (Wellness) และรูปแบบการทำงานที่ต้องการความสมดุลในการใช้ชีวิต (Work-Life Balance) ปรับเปลี่ยนจากการทำงานที่สำนักงาน ไปสู่การทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือการทำงานในที่อื่น ๆ ในแบบ Anytime Anywhere ในขณะที่รูปแบบการทำงาน และการใช้ชีวิตในปัจจุบันผู้บริโภคสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Virtual Livable Connect) มาตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้มากขึ้นผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับผู้บริโภค จนกลายเป็นวิถีปกติใหม่ (New Normal) ในการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปโดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยสำคัญที่เราเรียกว่า 3 Mega Trends ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยซึ่งประกอบด้วยการให้ความสำคัญในเรื่องของสุขอนามัย (Wellness) ซึ่งเป็นเรื่องที่มาพร้อม ๆ กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การออกแบบที่อยู่อาศัยและการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ต้องคำนึงถึงเรื่องของสภาพแวดล้อมและสุขอนามัยที่ดีต่อผู้อยู่อาศัย ลดการสัมผัส (Touchless) ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งในพื้นที่โครงการที่พักอาศัยและเชิงพาณิชย์ เป็นโจทย์ใหม่ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันและในอนาคต

นอกจากเรื่องของสุขอนามัยที่เป็นโจทย์หลักของผู้บริโภคในปัจจุบันแล้ว การออกแบบที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่สร้างสมดุลให้กับการใช้ชีวิตในรูปของการทำงานและการใช้ชีวิตที่ต้องดำเนินไปอย่างสมดุล (Work-Life Balance) ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยต้องคำนึงถึงการจัดสรรพื้นที่ที่ลงตัวตอบทุกโจทย์ของการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยในแนวราบ หรืออาคารชุดที่มีขนาดเล็ก ต้องมีการจัดฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีความหลากหลายและสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน (Multi-Function) เพื่อรองรับกับรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานที่บ้านได้ การเว้นระยะห่างในพื้นที่ส่วนกลาง การปรับเปลี่ยนแนวคิดจากสังคมแบ่งปันในรูปแบบของ Co-Working Space มาสู่แนวคิดการใช้พื้นที่ส่วนกลางในรูปแบบของ Co-Separate Space เป็นการใช้พื้นที่ร่วมกันแบบมีระยะห่าง ทำให้การออกแบบการใช้พื้นที่ส่วนกลางในโครงการทั้งแนวราบและอาคารชุดต้องเปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบเช่นเดียวกับการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล (Virtual Livable Connect) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบโครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในโครงการ ตอบโจทย์กับแนวคิดการใช้ชีวิตวิถีปกติใหม่ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

แนวทางการออกแบบที่ตอบโจทย์ Mega Trend ที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องนำเอาแนวคิดในการออกแบบที่เรียกว่า การออกแบบเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Design) เป็นแนวคิดของการออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานอาคารอย่างยั่งยืน โดยการออกแบบคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุ การใช้พลังงานและทรัพยากรของอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอากาศ รวมถึงเรื่องของการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อย่างประหยัด เพื่อตอบโจทย์กับการสร้างสุขอนามัยที่ดีในการอยู่อาศัยทั้งในรูปแบบของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เกณฑ์อาคารเขียวของ US Green Building Council และ TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) ของสถาบันอาคารเขียวไทย

การออกแบบภายใต้แนวคิดเพื่อความยั่งยืน ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการออกแบบที่มีประสิทธิภาพอย่าง Building Information Modeling หรือ BIM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการออกแบบที่มีประสิทธิภาพในการบริหารการออกแบบและการก่อสร้างโครงการโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม การจัดฟังก์ชั่นการใช้งาน รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีการอยู่อาศัยเข้าไปใช้ในการออกแบบเพื่อตอบโจทย์กับรูปแบบการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงสุขภาพและสภาพแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

แนวโน้มดังกล่าว ทำให้ความต้องการที่ปรึกษาและนักออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการออกแบบเพื่อความยั่งยืน มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจของ LPN Wisdom ในฐานะที่เป็นบริษัทด้านวิจัยและที่ปรึกษาด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ในการให้คำปรึกษาและแนะนำด้านการออกแบบให้กับผู้ประกอบการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ปัจจุบันบริษัทเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบอาคารเขียวภายใต้เกณฑ์ LEED ให้กับโครงการต่างๆ ทั้งในเครือของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงาน PUNN ของ บริษัท ดลสิริ จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด และบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)) และเป็นที่ปรึกษาด้านอาคารเขียวภายใต้เกณฑ์ TREES ให้กับโครงการ ลุมพินี ทาวเวอร์ วิภาวดี-จตุจักร ของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานของผู้ประกอบการอื่นๆ นอกเหนือจากบริษัทในเครือของ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากงานที่ปรึกษาด้านการออกแบบอาคารเขียวแล้ว บริษัทยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำหลายบริษัทที่ต้องการปรับใช้ระบบ Building information modeling เพื่อใช้ในการทำงาน โดยให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การจัดทำ BIM platform, มาตรฐานและคู่มือการใช้ BIM ขององค์กร, การจัดตั้งฝ่าย BIM ไปจนถึงการใช้ BIM เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ ตามเป้าหมายของเจ้าของโครงการ

ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ประเทศไทยมีอาคารที่ได้รับ LEED Certification จาก US Green Building Council ทั้งสิ้น 171 อาคาร และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 85 อาคาร ในขณะเดียวกันมีอาคารที่ได้รับ TREES Certification จาก สถาบันอาคารเขียวไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ทั้งสิ้น 63 อาคาร และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 55 อาคาร

“ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มีความต้องการที่ปรึกษาในการออกแบบโครงการทั้งในเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Design) รวมถึงเทคโนโลยีการออกแบบที่มีประสิทธิภาพอย่าง BIM จึงเป็นโอกาสของบริษัทที่มีองค์ความรู้และบุคลากรในด้านนี้ ในการให้คำแนะนำและให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการในการพัฒนาโครงการทั้งในเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย โดยคำนึงถึง สุขภาพ (Wellness) การออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างสมดุล (Work-Life Balance) และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการใช้ชีวิต (Virtual Livable Connect)” นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว

ใส่ความเห็น