วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > “เจริญ” รุกเกม Synergy กินรวบค้าปลีก-อสังหาฯ

“เจริญ” รุกเกม Synergy กินรวบค้าปลีก-อสังหาฯ

เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของอาณาจักรธุรกิจแสนล้าน “ทีซีซีกรุ๊ป” ดูเหมือนจะเร่งเดินหน้าแผน Synergy ธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี” กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือ โดยเฉพาะโครงการเกิดใหม่ในทำเลทองตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งจะเปิดให้บริการอีกหลายเส้นทาง ชนิดที่ยึดเครือข่ายทั่วกรุงเทพมหานคร

ที่สำคัญ บิ๊กซีเองกำลังใช้จังหวะนี้ยกเครื่องสาขาใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ ทั้งเทสโก้โลตัสและกลุ่มเซ็นทรัล หลังจากทุ่มเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ฮุบกิจการ “บิ๊กซี” ในประเทศไทยจากกลุ่มคาสิโนเมื่อปี 2559 เพื่อหวังเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญตามแผนขยายธุรกิจค้าปลีกอย่างครบวงจรของทีซีซีกรุ๊ป ตั้งแต่ธุรกิจศูนย์การค้าหลากหลายรูปแบบสู่ธุรกิจค้าปลีกปลายน้ำทุกโมเดล ทั้งห้างค้าส่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต จนถึงร้านสะดวกซื้อ

ที่ผ่านมา อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ในฐานะซีอีโอ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ใช้เวลาปรับระบบต่างๆ เพื่อแก้จุดอ่อนทั้งหมดของ “บิ๊กซี”

แต่ต้องยอมรับว่า บิ๊กซียังต้องเสริมจุดแข็งหลายด้าน โดยเฉพาะการรีโนเวตสาขาเก่าเพื่อสร้างความสดใหม่การเพิ่มแม็กเน็ตสินค้าต่างๆ ตามเทรนด์การบริโภคของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การช่วงชิงทำเลเปิดสาขาใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และที่สำคัญการอัพเกรดบริการเหนือคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบันบิ๊กซีมีรูปแบบสาขา 3 โมเดลหลัก ได้แก่ สาขาขนาดใหญ่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งแยกเป็นอีก 2 โมเดล คือ บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงล่าง โดยนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลาย ราคาประหยัด และมีคุณภาพ ส่วน บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้ามุ่งเจาะลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงบน โดยนำเสนอสินค้าพรีเมียม อาหารสดและอาหารแห้ง รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ล่าสุดทั้ง 2 รูปแบบ มีสาขารวม 143 แห่ง และปีนี้ตั้งเป้าเปิดครบ 146 แห่ง

รูปแบบที่ 2 บิ๊กซี มาร์เก็ต เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรายได้ระดับปานกลาง มีขนาดร้านไม่ใหญ่มาก เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ตามหัวเมืองรอง โดยพยายามชูจุดขายที่แตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ซึ่งเน้นเฉพาะการจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร แต่บิ๊กซี มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้าทั้งอาหารสด ของใช้ในครัวเรือน ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ล่าสุดเปิดให้บริการรวม 60 สาขา

สำหรับรูปแบบที่ 3 มินิบิ๊กซี เป็นร้านค้าชุมชนหรือร้านสะดวกซื้อ เน้นสินค้าที่หลากหลายมากกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป และมีสินค้าราคาโปรโมชันเช่นเดียวกับในร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต ล่าสุดเปิดกระจายทั่วประเทศ 687 สาขา และตั้งเป้าจะเปิดครบ 800 สาขาภายในสิ้นปีนี้

นางวิภาดา ดวงรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มบีเจซี กล่าวว่า บิ๊กซีมีการรีโนเวตสาขาทุกปีและเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเร่งปักหมุดในต่างจังหวัด และล่าสุดบิ๊กซีตัดสินใจนำเสนอสาขาซูเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบใหม่และเป็นโมเดลที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงในแพลตฟอร์มใหม่ภายใต้ชื่อ “บิ๊กซี ฟู้ดเพลส” เพื่อเป็นฟู้ดสโตร์เต็มรูปแบบ เน้นพื้นที่จำหน่ายแผนกอาหารสดที่ใหญ่กว่าทุกแพลตฟอร์ม ชูจุดเด่นกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready Meal) และอาหารออร์แกนิก (Organic Food)

ที่สำคัญ แพลตฟอร์มนี้เป็นการ Synergy กันครั้งแรกกับบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ ซึ่งอยู่ในเครือทีซีซีกรุ๊ปเช่นเดียวกัน โดยวางแผนเปิดตัวบิ๊กซี ฟู้ดเพลส เต็มรูปแบบในโครงการสามย่านมิตรทาวน์ ช่วงปลายปี 2562

ทั้งนี้ สามย่านมิตรทาวน์เป็นโครงการที่โกลเด้นแลนด์วางเป้าหมายจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ในทำเลสามย่าน โดยวางองค์ประกอบหลักทั้งโซนคอนโดมิเนียม โรงแรม และโซนพื้นที่ค้าปลีก 24 ชม. (24hrs Retail) ซึ่งถือเป็นจุดขายใหม่ต่างจากอาคารสำนักงานทั่วไป รวมถึงเป็นการจัดสรรพื้นที่โซน 24 ชม. ถึง 3 ชั้น คือ ชั้น B1-ชั้น 2 มี บิ๊กซีฟู้ดเพลสเป็นแม็กเน็ตหลัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฟิตเนสเซ็นเตอร์ พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ 24 ชม. (24hrs Co-Learning Space) และเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเพื่อใช้บริการอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ประชุม ติดต่องานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นางวิภาดากล่าวว่า บิ๊กซีฟู้ดเพลสยังเป็นการเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองสาขาแรก จากปกติเน้นเปิดตามย่านชานเมืองและหัวเมืองรอง เพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าโซนดาวน์ทาวน์ 5 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มนักเรียน นิสิต อาจารย์ กลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ทำงานบริเวณสามย่าน หรือต้องเดินทางกลับด้วยรถไฟใต้ดิน กลุ่มผู้พักอาศัยในสามย่านและใกล้เคียง กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อน และกลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์ที่ต้องเดินทางไปนอกสถานที่ และทำงานไม่เป็นเวลา

เฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก มีจำนวนมากกว่า 57,000 คน ทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีจำนวนบุคลากรมากกว่า 8,000 คน จำนวนนิสิต 37,851 คน และมีโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีจำนวนนักเรียนต่อภาคการศึกษาประมาณ 4,700 คน โรงเรียนสาธิต มศว. ปทุมวัน 1,876 คน และโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4,813 คน ยังไม่รวมข้าราชการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

เบื้องต้นบิ๊กซีประเมินว่า ทันทีที่บิ๊กซีฟู้ดเพลส สาขาสามย่านมิตรทาวน์เปิดให้บริการในปี 2562 จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 25,000 คน และมีแผนขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง หากมีทำเลที่มีศักยภาพ ทั้งในโครงการของโกลเด้นแลนด์และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือทีซีซีกรุ๊ป ซึ่งในช่วงระหว่างนี้ บริษัทเตรียมชิมลางเปิดบิ๊กซีฟู้ดเพลส ซึ่งไม่ใช่รูปแบบเต็ม 100% ในโครงการเกตเวย์บางซื่อ ช่วงเดือนตุลาคม 2561 เพื่อทดลองการตอบรับของกลุ่มลูกค้า

เนื่องจากเกตเวย์บางซื่อเป็นโครงการศูนย์การค้าของกลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ ที่มีลักษณะเป็นโซนดาวน์ทาวน์เช่นกัน โดยอยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางโพ ประมาณ 170 เมตร และห่างจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงสถานีเตาปูน เพียง 650 เมตร มีทั้งกลุ่มวัยรุ่น คนวัยทำงาน และผู้อยู่อาศัยอย่างหนาแน่น

แน่นอนว่า การที่บิ๊กซีพยายามสร้างจุดขาย “ฟู้ด เพลส” และรุกเจาะโซนดาวน์ทาวน์ ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มทุนเปิดให้บริการ 24 ชม. มีสินค้าและบริการแบบ One Stop Service สินค้าประเภทอาหารสด ทั้งพร้อมรับประทาน พร้อมปรุง ทั้งรับประทานในร้าน และซื้อกลับในสัดส่วนเกือบ 50% จากสาขาปกติที่มีสัดส่วนเพียง 25% นอกจากนี้ ยังมีอินโนเวชันบริการลูกค้า เช่น ป้ายราคาดิจิทัล (electronic price tag) อัพเดตราคาให้ลูกค้าสามารถคิดเงินและชำระเงินได้ด้วยตัวเองผ่านเชลฟ์ เช็กเอาต์ เคาน์เตอร์ รวมถึงมีบริการเช่ารถจาก Avis ให้ลูกค้าทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ฝั่งยักษ์ใหญ่อย่าง “เทสโก้โลตัส” ย่อมไม่อยู่เฉยแน่ โดยเฉพาะตลาดโลตัส สาขาจามจุรีสแควร์ ที่ปักหมุดกวาดลูกค้าสามย่านมานานหลายปี สงครามค้าปลีกย่านดาวน์ทาวน์ “บิ๊กซี-โลตัส” แค่คิดก็ร้อนระอุตั้งแต่ยกแรกแล้ว

ใส่ความเห็น