วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > “อลงกต เอื้อไพบูลย์” จากผู้กำกับมือฉมัง สู่คนรังสรรค์ความสุนทรีย์แห่ง “Recordoffee”

“อลงกต เอื้อไพบูลย์” จากผู้กำกับมือฉมัง สู่คนรังสรรค์ความสุนทรีย์แห่ง “Recordoffee”

จากผู้กำกับมิวสิกวิดีโอและภาพยนตร์มากฝีมือที่ฝากลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ในทุกผลงาน ล่าสุด “อลงกต เอื้อไพบูลย์” กำลังสร้างผลงานชิ้นใหม่ ในฐานะผู้รังสรรค์ความสุนทรีย์ให้กับ “Recordoffee” คาเฟ่ที่ผสานความกลมกล่อมของกาแฟกับเสียงเพลงจากแผ่นเสียงเข้าไว้ด้วยกัน

สำหรับคนทั่วไปชื่อของ “อลงกต เอื้อไพบูลย์” อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูนัก แต่ในวงการบันเทิง “อลงกต” หรือ “พี่บุ๊ค” ของน้องๆ คือผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา ภาพยนตร์ชั้นแนวหน้า และเจ้าพ่อ MV ยุค 90 ผู้โลดแล่นอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี

อลงกต มีชื่อเสียงจากการทำมิวสิกวิดีโอโดยใช้ฟิล์ม 16 มม. ในการถ่ายทำเกือบ 100% โดยมีผลงานไม่ต่ำกว่า 1,000 ชิ้นทั้งในและต่างประเทศ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังมิวสิกวิดีโอของศิลปินไทยในตำนานหลายๆ วง ทั้ง Thaitanium, Girly Berry และ Triumphs Kingdom ก่อนเริ่มงานกำกับภาพยนตร์โฆษณาและภาพยนตร์ด้วยโทนภาพจากยุคฟิล์ม นั่นทำให้ผลงานการกำกับของเขามีเอกลักษณ์และมีลายเซ็นของตนเองอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างผลงานการกำกับภาพยนตร์ที่ผ่านมาของเขา ได้แก่เรื่อง คู่แท้ปาฏิหาริย์, อยากได้ยินว่ารักกัน และ Bangkok Ghost Stories ตอน “สวย…สะพรึง” เป็นต้น

นอกจากเป็นผู้กำกับมากฝีมือแล้ว อลงกตยังชื่นชอบและเป็นนักสะสมแผ่นเสียงตัวยง โดยเริ่มสะสมมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นเรื่อยมา จนปัจจุบันเขามีแผ่นเสียงที่เก็บสะสมไว้มากกว่า 10,000 แผ่น ซึ่งนี่เองคือจุดกำเนิดของ “Recordoffee” คาเฟ่ที่เสิร์ฟความกลมกล่อมของกาแฟกับเสียงเพลงเพราะๆ จากแผ่นเสียงหลากหลายแนวให้กับผู้มาเยือน

“ผมเริ่มสะสมแผ่นเสียงมาตั้งแต่อายุ 14 แผ่นแรกที่ซื้อเป็นวงดนตรีของอังกฤษชื่อ Spandau Ballet แต่ตอนนั้นยังไม่มีเครื่องเล่นนะ สะสมแผ่นมาเรื่อยๆ จนทำงานได้มีเงินถึงซื้อเครื่องเล่นตอนอายุ 27 ก่อนหน้านั้นเราก็ไปตามร้านแผ่นเสียงต่างๆ บางร้านก็ค่อนข้างหวง บางร้านก็อนุญาตให้ลองเปิดฟังได้ อย่างตอนที่ไปทำงานที่ญี่ปุ่น ผมไปเจอร้านหนึ่งเป็นร้านแผ่นเสียงและขายเครื่องดื่มด้วย เจ้าของร้านยินดีให้เราได้ลองเปิดแผ่นต่างๆ โดยไม่สนใจว่าเราจะซื้อหรือไม่ และไม่สนใจว่าแผ่นเสียงนั้นจะมีราคาสูงแค่ไหนก็ตาม ผมนั่งอยู่ที่ร้านนั้นสั่งเครื่องดื่มฟังแผ่นเสียงได้ทั้งวัน ซึ่งอยากให้มีพื้นที่แบบนั้นเกิดขึ้น และมันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำร้าน Recordoffee” อลงกตเล่าถึงจุดกำเนิดของ Recordoffee

“Recordoffee” หรือ เรดคอร์ดอฟฟี่ เกิดจากการผสมระหว่างคำว่า “Record-แผ่นเสียง” และ “Coffee-กาแฟ” เข้าไว้ด้วยกัน เป็นร้านกาแฟบวกแผ่นเสียงที่เกิดจากความรักในเสียงดนตรีและแรงบันดาลใจจากความทรงจำในอดีตของอลงกต ผสานกับความหลงใหลในการดริปกาแฟของรุ่นน้องผู้ช่วยผู้กำกับคนสนิท ที่ร่วมกันเนรมิตความสุนทรีย์ให้กับคาเฟ่สุดฮิปที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโกดังเก่าย่านตลาดน้อย และกำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้

“เราเป็นคนชอบเดินเล่นในย่านเก่าอยู่แล้ว เผอิญได้มาเจอตึกนี้ที่เป็นโกดังกระเบื้องเก่าและเจ้าของกำลังรีโนเวต เราเลยมาขอเช่าทำเป็นร้าน ซึ่งตลาดน้อยเป็นย่านที่มีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์มากๆ และเราก็แต่งร้านให้สอดคล้องกับความเป็นตลาดน้อย”

อลงกตเปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ต่อไปว่า ในส่วนของการตกแต่งร้านนั้นได้ตัว “กะปิ-ปิยนาฏ ต้นมาลี” นักวาดภาพประกอบชื่อดัง มาช่วยออกแบบและรังสรรค์ความสดใสให้กับ Recordoffee จนได้ออกมาเป็นภาพวาดแนวป็อปอาร์ต (Pop art) สีสันจัดจ้านทันสมัยที่ผสมผสานกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีนอันเป็นเอกลักษณ์ของตลาดน้อยไว้อย่างลงตัว และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อประกอบเข้ากับเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ที่อลงกตตั้งใจคัดเลือกมา จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของร้านและจุดถ่ายรูปเช็กอินของลูกค้าหลายๆ คน

โดยด้านหน้าของ Recordoffee โดดเด่นด้วยบานประตูสีแดงขนาดใหญ่ที่มีเสน่ห์เชื้อเชิญให้คนผ่านไปมาอยากแวะเข้าไปดู พร้อมศาลเจ้าขนาดเล็กด้านข้างอันเป็นของดั้งเดิม แต่ได้รับการปรับโฉมให้ดูสดใสเข้ากับการตกแต่งภายในร้าน

“บานประตูสีแดงเราทำเป็นประตูทึบที่คนเดาไม่ออกว่าข้างในคืออะไร ขอเพียงให้ลองเปิดประตูเข้ามาก่อน ชอบหรือไม่ชอบ ค่อยว่ากัน”

ในส่วนของการเป็นร้านกาแฟ เป็นแบบ Slow Bar ที่พิถีพิถันตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดกาแฟ การคั่ว และวิธีการทำ โดย Recordoffee เลือกวิธีการทำกาแฟแบบ Drip Coffee และแบบ Flair ที่เข้ากันได้ดีกับเสียงเพลงจากแผ่นเสียง

“ผมว่าการทำกาแฟแบบ Slow Bar กับความเป็นแผ่นเสียงมันไปด้วยกันได้ดี มันเป็นงานคราฟต์ มีความพิถีพิถัน กว่าจะได้กาแฟแต่ละแก้วมันมีหลายขั้นตอน ต้องใช้ความตั้งใจ ใส่ใจ และรอคอยกาแฟแต่ละหยด เพื่อที่จะได้กาแฟดีๆ หนึ่งแก้ว เหมือนกับแผ่นเสียงที่มีวิธีการของมันกว่าจะได้ฟังเสียงเพลงที่มีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนเสียงเพลงจากสตรีมมิ่ง และที่สำคัญมันทำให้เราได้กลับมาใช้ชีวิตช้าๆ สักช่วงหนึ่ง ท่ามกลางโลกที่มันหมุนไปเร็วมาก เพราะผมมองว่า Record is Soul. Coffee is Life.”

นอกจากกาแฟแล้ว Recordoffee ยังสร้างกิมมิกให้กับร้าน โดยการหยิบเอาบทเพลงต่างๆ มาตีโจทย์เพื่อที่จะรังสรรค์ออกมาเป็นเครื่องดื่มที่ไม่เหมือนใคร เช่น La Vie En Rose โซดากุหลาบที่ให้ความรู้สึกหอมนุ่ม สดชื่น เหมือนเพลง La Vie En Rose, Santalucia มัทฉะเข้มข้น ชงด้วยนมวัว เพิ่มความหวานและเปรี้ยวจากไซรัปสตรอเบอรี่สูตรพิเศษของร้าน ซึ่งเพลงนี้เป็นที่รู้จักเมื่อ Elvis Presley นำไปร้อง ส่วนคนไทยรู้จักในฐานะเพลงประจำของมหาวิทยาลัยศิลปากร เนื่องจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี มักจะฮัมเพลงนี้ขณะทำงาน

หรือจะเป็น Rock Bottom อเมริกาโน่โซดาทอปด้วยครีมนม ที่ตั้งชื่อตามเพลงฮิตของวง UFO และ Bussaba Yuzu เอสเพรสโซ่กับน้ำส้มยูสุ ที่ให้ความรู้สึกสดชื่นเหมือนเพลง “บุษบา” เพลงในตำนานของวงโมเดิร์นด็อก

ในส่วนของแผ่นเสียงซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแกนหลักของความเป็น Recordoffee นั้น แผ่นเสียงทั้งหมดในร้านเป็นแผ่นเสียงที่อลงกตเก็บสะสมมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และด้วยความที่เป็นคนที่ฟังเพลงหลากหลายแนว แผ่นเสียงที่อยู่ในร้านจึงบรรจุด้วยเพลงที่หลากหลายเช่นกัน ทั้งเพลงไทยและเพลงสากล ทั้งเพลงเก่าและเพลงร่วมสมัย จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นแผ่นเสียง LISA First Single Vinyl วางขายอยู่ในร้านด้วยเช่นกัน

คำถามที่หลายๆ คนอาจจะอยากรู้คือ สำหรับนักสะสมแผ่นเสียงที่มีมากกว่า 10,000 แผ่นนั้น แผ่นเสียงที่อลงกตชอบและภูมิใจที่สุดคือชิ้นไหน

“มีหลายแผ่นมากครับ แต่ที่ภูมิใจก็มีแผ่นของ Corinne Bailey Rae On จากปี 2006 เป็นอัลบั้มที่ได้รับมาหลายรางวัล อันนี้เป็นแผ่น First Press จากปี 2006 ผมซื้อมาตอนนั้นในราคาประมาณ 1,000 กว่าบาท แต่ตอนนี้ราคาพุ่งสูงไปถึง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพราะเพลง Put Your Records กลับมาดังอีกครั้งใน TikTok”

อีกแผ่นที่อลงกตภูมิใจ คืออัลบั้ม Hail Satan ปี 2021 ของวง Dee Gees หรือวง Foo Fighters นั่นเอง ซึ่งถูกผลิตออกมาเพียง 500 แผ่นเท่านั้น และกำลังกลายเป็นแผ่นเสียงหายากที่นักสะสมหลายคนตามหา

สำหรับโซนแผ่นเสียงนั้น ภายในร้านแบ่งโซนจัดวางแผ่นเสียงพร้อมเครื่องเล่นและอุปกรณ์ต่างๆ ไว้เป็นสัดส่วน เพื่อให้เสียงเพลงจากแผ่นที่เปิดมีคุณภาพที่สุด โดยลูกค้าสามารถไปหยิบมาเปิดฟังได้ตามต้องการ และถ้าถูกใจก็สามารถเลือกซื้อแผ่นจากทางร้านได้เลย ซึ่งแผ่นเสียงในร้านมีหลายระดับราคาให้เลือก รวมถึงมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงหลายแบบไว้จำหน่ายอีกด้วย

Recordoffee เปิดตัวครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะเปิดบริการมาเพียงไม่กี่เดือน แต่ Recordoffee ได้กลายเป็นพื้นที่แห่งการสังสรรค์ในบรรยากาศของความเป็นอะนาล็อก ที่ได้รับความนิยมจากทั้งผู้ที่ชื่นชอบในกาแฟและผู้ที่หลงใหลในแผ่นเสียงไม่น้อย

“ลูกค้าที่เข้ามามีหลากหลาย มีแม้กระทั่งเด็กมัธยมที่มากันเป็นกลุ่มๆ มาแล้วเขาก็สนุกกับการเลือกแผ่นมาเปิดฟังกัน บางทีเขาก็เอาแผ่นของเขาเองมาเปิดที่ร้าน ซึ่งมันทำให้เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการฟังเพลงซึ่งกันและกัน”

อลงกตกล่าวต่อไปว่า เด็กๆ สมัยนี้ นิยมซื้อแผ่นเสียงเพื่อเป็นการสนับสนุนศิลปินที่เขาชื่นชอบ โดยอาจจะไม่มีเครื่องเล่นก็ได้ อลงกตจึงเปิดพื้นที่ของ Recordoffee เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสฟังเพลงจากแผ่นเสียงของศิลปินที่เขาชอบ

“เด็กบางกลุ่มก็ใช้เวลาอยู่ในร้านเราครึ่งค่อนวัน ซึ่งเรายินดีมากๆ เราได้เห็นเด็กเขามีความสุข ดีกว่าเขาเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่อาจจะไม่มีประโยชน์ ไม่แน่นะการที่เขาได้ใช้เวลาซึมซับความสุนทรีย์จากเสียงเพลงจากแผ่นเสียง ในอนาคตเขาอาจจะกลายเป็นครีเอทีฟหรือคนคิดงานสร้างสรรค์เจ๋งๆ ในวงการก็ได้”

สำหรับอลงกต “Recordoffee” คือพื้นที่แห่งความสุข ที่เขาได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่ชอบกับผู้ที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน และอาจกล่าวได้ว่า นี่คือผลงานสร้างสรรค์ชิ้นล่าสุดของผู้กำกับมากฝีมือ ซึ่งเขาเองก็หวังว่าในอนาคตจะเกิดพื้นที่แนวนี้เพิ่มขึ้นอีก เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการพบปะของผู้ที่ชื่นชอบในความเป็นอะนาล็อก และได้ใช้ชีวิตให้ช้าลงสักช่วงหนึ่งท่ามกลางโลกที่หมุนไปเร็วอย่างในปัจจุบัน.

Photo credit: KTC Press Club

ใส่ความเห็น