วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “หอมขจรฟาร์ม” พื้นที่เกษตรแนวใหม่ อีกหนึ่งแลนด์มาร์กแห่งสุพรรณบุรี

“หอมขจรฟาร์ม” พื้นที่เกษตรแนวใหม่ อีกหนึ่งแลนด์มาร์กแห่งสุพรรณบุรี

บนเนื้อที่กว่า 50 ไร่ ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี คือที่ตั้งของ “หอมขจรฟาร์ม” โครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะและแหล่งเรียนรู้เกษตรแนวใหม่ อีกหนึ่งบทบาทของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สู่อีกหนึ่งแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดสุพรรณบุรี

ภาคการเกษตรยังคงเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย แต่ถึงกระนั้นเกษตรกรไทยผู้เป็นฟันเฟืองหลักยังคงเผชิญกับปัญหาในการทำการเกษตร และยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้

มหาวิทยาลัยสวนดุสิตในฐานะแหล่งรวมความรู้ จึงนำองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยที่มี ถ่ายทอดไปยังเกษตรกร ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรแนวใหม่ ในชื่อ “หอมขจรฟาร์ม”

“หอมขจรฟาร์ม” ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ โดยนิยามตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรแนวใหม่ ที่ต้องการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำให้กับเกษตรกร เพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร รวมถึงสร้างเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในอนาคต

โดยหอมขจรฟาร์มแห่งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ รศ. ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยทำความร่วมมือกับจังหวัดสุพรรณบุรีและหน่วยงานภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งให้ความรู้ศึกษาดูงานของเกษตรกร ผู้ที่สนใจ และนักเรียน นักศึกษา

ภายในฟาร์มประกอบด้วยโครงการหลักๆ 5 โครงการ ได้แก่ 1. “สวนหอมขจร” (Homkhajorn Garden) เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำการเกษตร โดยเปิดให้คนภายนอกมาเช่าพื้นที่ทำการเกษตร มีทั้งหมด 30 แปลง เช่าในราคาประมาณ 1,500-1,700 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับพืชที่ปลูก โดยจะเน้นพืชผักสวนครัวและไม้ผลต่างๆ เป็นหลัก ตั้งแต่พืชที่ใช้ระยะเวลาในการปลูกประมาณ 2 เดือน ได้แก่ ขึ้นฉ่าย ถั่วแระญี่ปุ่น มันเทศญี่ปุ่น และพืชที่ใช้ระยะเวลาในการเพาะปลูก 1 เดือน เช่น คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง เป็นต้น โดยจะมีผู้ดูแลแปลงให้ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

2. “Homkhajorn Knowledge” เป็นศูนย์การเรียนรู้และพื้นที่วิจัยด้านโรงเรือนในการเพาะปลูก ทั้งต้นแบบโรงเรือนอัจฉริยะ แบบกึ่งอัจฉริยะ แบบปกติทั่วไป และโรงเรือนขนาดเล็ก มีการให้ความรู้และอบรมเรื่องการทำการเกษตรปลอดภัยแบบครบวงจรแก่ชุมชน

3. “หอมขจรคอสเมติก” (Homkhajorn Cosmetic) นำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเกรดพรีเมียมในห้องปฏิบัติการภายใต้ GMP เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เจลอาบน้ำ เจลล้างมือ ซึ่งใช้วัตถุดิบจากว่านหางจระเข้ปลอดสารเคมีที่มีสารอโลเวราช่วยสร้างความชุ่มชื้นแก่ผิว

4. แปลงอนุรักษ์พันธุกรรมพืช รวมถึงไม้หายาก โดยร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมพันธุ์พืชหายากกว่า 20 ชนิด

5. หอมขจร ฟู้ดแอนด์เบเวอร์เรจ (Homkhajorn Food and Beverage) นำผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จากฟาร์มมาแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร

สนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจที่ไม่เพียงสร้างรายได้แต่ยังรักษ์โลก

นอกจากแปลงเกษตรสาธิตและโครงการต่างๆ แล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจและโดดเด่นของหอมขจรฟาร์มคือการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีราคาดี เพื่อสร้างรายได้ที่มากกว่าให้กับเกษตรกร อย่าง เมลอน, เลม่อน, ว่านหางจระเข้ และอินทผาลัม โดยนำความรู้และนวัตกรรมที่มีมาพัฒนากระบวนการปลูก รูปแบบโรงเรือน ตลอดจนคัดเลือกสายพันธุ์จนได้ผลผลิตทางการเกษตรที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้

โดยหอมขจรฟาร์มได้ริเริ่มโครงการนำร่องให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีปลูกเมลอนหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งออเรนจ์แมน (Orange Man), สายพันธุ์ฮามิกัว (Hamigua) และสายพันธุ์กาเลีย (Galia) เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม

ซึ่งเบื้องต้นมหาวิทยาลัยสวนดุสิตจะลงทุนให้ก่อน พร้อมให้ความรู้ด้านการปลูกแก่เกษตรกรโดยอยู่บนหลักของเกษตรปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เมื่อเกษตรกรมีรายได้จึงค่อยผ่อนจ่ายให้กับโครงการในภายหลังโดยไม่มีดอกเบี้ย

ธนากร บุญกล่ำ นักวิจัยและผู้จัดการแปลงแห่งหอมขจรฟาร์ม เปิดเผยว่า ค่าโรงเรือนและค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการปลูกเมลอนอยู่ที่ประมาณ 55,000 บาท โดยจะเป็นการปลูกในถุงที่มีขุยและกาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก ซึ่งได้รับการวิจัยจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตมาแล้วว่าสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคระบาดจากวัสดุปลูกได้เป็นอย่างดี

ในหนึ่งโรงเรือนต้นแบบของหอมขจรฟาร์ม มีขนาด 6 เมตร x 12 เมตร (พื้นที่รวม 72 ตารางเมตร) สามารถปลูกเมลอนได้ 180 ต้นต่อโรงเรือน และที่สำคัญหอมขจรฟาร์มยังรับซื้อเมลอนจากเกษตรกรอีกด้วย ก่อนที่จะวางขายทั้งในห้างสรรพสินค้าและผ่านทางเพจของหอมขจรฟาร์มเอง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรตั้งแต่วิธีการปลูก จนถึงกระบวนการทำการตลาด และหาช่องทางในการจัดจำหน่ายไปพร้อมๆ กัน

สำหรับการปลูกเมลอนจะใช้เวลาในการปลูกประมาณ 2 เดือนครึ่ง ใน 1 ปี สามารถปลูกได้ถึง 3 ครั้ง ส่วนในฤดูฝนจะสลับไปปลูกมะเขือเทศหรือผักสลัดแทน ทั้งนี้ประมาณการว่ารายได้จากการปลูกเมลอนจะอยู่ที่ราวๆ 18,000 บาทต่อครัวเรือน นับเป็นทางเลือกที่ดีแก่เกษตรกรที่ต้องการเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชที่ไม่ต้องใช้ปริมาณน้ำเยอะเกินไป โดยใช้น้ำเพียงวันละ 1.5 ลิตรต่อต้นเท่านั้น และได้ราคาผลผลิตที่ดี

ปัจจุบันโครงการสนับสนุนการปลูกเมลอนดังกล่าวถือเป็นโครงการนำร่องที่ได้เริ่มทำในปี 2565 มีเกษตรกรใน 4 ตำบลในเขตอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จำนวน 8 ครัวเรือนเป็นผู้นำร่อง และคาดว่าในอนาคตจะมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น

นอกจากเมลอนแล้ว หอมขจรฟาร์มยังแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจตัวอื่นๆ เช่น เลม่อน อินทผลัม และว่านหางจระเข้ อีกด้วย รวมถึงยังมีการต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ว่านหางจระเข้” อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้ในทุกสภาพดิน และอุดมไปด้วยสารสำคัญต่างๆ ที่สามารถนำสารสกัดไปต่อยอดเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกหลากหลายชนิด

สำหรับว่านหางจระเข้ หอมขจรฟาร์มได้ริเริ่มโครงการปลูกและแปรรูปมาแล้วกว่า 3 ปี โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มแรกที่ผลิตออกสู่ตลาดนั้น อยู่ภายใต้แบรนด์ “หอมขจรคอสเมติก” มีกลุ่มเป้าหมายระดับ A- ช่วงอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป

โดยนำว่านหางจระเข้สายพันธุ์บาร์บาเดนซิสที่ปลูกในแปลงหอมขจรฟาร์มปลอดสารเคมี มาสกัดสารเพื่อนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น

Homkhajorn Aloe Hand Sanitizer Gel เจลแอลกอฮอล์สูตรพรีเมียม, Homkhajorn Anti-Bacterial Aloe Shower Gel ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย, Homkhajorn Anti-Bacterial Aloe Hand Wash ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ, Homkhajorn Multi Care Aloe Day Cream, Homkhajorn Multi Care Aloe Serum, Homkhajorn Multi Care Aloe Night Cream และน้ำว่านหางจระเข้ใบเตย เป็นต้น

นอกจากว่านหางจระเข้แล้วยังมีการแนะนำให้เกษตรกรปลูกเลมอนที่ถือเป็นอีกหนึ่งพืชราคาดีอีกด้วย โดยสามารถขายเป็นผลสด และนำไปแปรรูปเป็นเลมอนในน้ำผึ้งที่นำไปทำเป็นเครื่องดื่มหลากหลายเมนู และถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

โดยช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของหอมขจรฟาร์มแบ่งเป็นทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ สำหรับช่องทางออนไลน์จะมีนักศึกษาภาควิชาวิทยาการจัดการทำโปรเจกต์ขึ้นมาเพื่อขายผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังสามารถสั่งสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊กเพจของหอมขจรฟาร์มได้ด้วยเช่นกัน ส่วนช่องทางออฟไลน์จะจำหน่ายผ่านคาเฟ่ของมหาวิทยาลัย และตามห้างสรรพสินค้า

สำหรับแผนในอนาคต มหาวิทยาลัยสวนดุสิตตั้งใจสร้างหอมขจรฟาร์มให้เป็นโมเดลการเกษตรแนวใหม่ที่จะขยายต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียง อย่างราชบุรีและกาญจนบุรี เพื่อช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น

ที่สำคัญยังตั้งเป้าให้หอมขจรฟาร์มเป็นอีกหนึ่งแลนมาร์กของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่นักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้สนใจด้านการเกษตรแวะเวียนมาเที่ยวชมและหาความรู้เพิ่มเติม และยังได้สินค้าทางการเกษตรติดไม้ติดมือกลับบ้าน และยังเป็นการอุดหนุนเกษตรกรไปในตัวอีกด้วย.

ใส่ความเห็น