วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > New&Trend > “ลุมพินี วิสดอม” ระบุแนวโน้มการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานมาแรง

“ลุมพินี วิสดอม” ระบุแนวโน้มการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานมาแรง

“ลุมพินี วิสดอม” ระบุแนวโน้มการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานมาแรง ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะในระยะยาว หลังจากกระทรวงพลังงานคลอดเกณฑ์การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า หลังจากที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ออกกฎกระทรวงเกณฑ์การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code : BEC ด้วยการกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา โดยในปี 2564 ได้นำมาใช้กับอาคารขนาด 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ในขณะที่อาคารขนาด 5,000ตารางเมตรขึ้นไปจะมีผลในปี 2565 และอาคารขนาด 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป มีผลในปี 2566 ตามลำดับ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานในประเทศมากขึ้น

จากรายงานของกระทรวงพลังงานพบว่า ตั้งแต่ปี 2552-2563 มีจำนวนอาคารที่ได้รับการประเมินเป็นอาคารประหยัดพลังงานตามเกณฑ์ของ BEC จำนวน 850 อาคาร มีการประหยัดพลังงานได้ 630 ล้านหน่วย โดยกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายว่าภายใน 20 ปี นับจากปี 2561 ถึงปี 2581 การสร้างอาคารประหยัดพลังงานจะทำให้ประเทศไทยสามารถประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 13,700 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นเงินกว่า 47,000 ล้านบาท และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ไม่น้อยกว่า 7,282 ตันต่อปี

“การสร้างอาคารประหยัดพลังงานเป็นประโยชน์ในระยะยาวกับเจ้าของอาคารและผู้ใช้อาคาร ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องของการประหยัดการใช้พลังงานในระยะยาวแล้ว การออกแบบอาคารประหยัดพลังงานยังมีส่วนสำคัญในการสร้างสุขอนามัย (Wellbeing) ที่ดีในการอยู่อาศัย และการใช้ประโยชน์ภายในอาคาร” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

จากการศึกษาของทีม “ลุมพินี วิสดอม” พบว่า การพัฒนาอาคารสำนักงานให้เช่า เกรด B ประหยัดพลังงานขนาด 10,000 ตารางเมตร จะสามารถประหยัดพลังงานได้เฉลี่ย 270,000 กิโลวัตต์ต่อปี คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.12 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 151,470 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี ในขณะที่ต้นทุนการก่อสร้างอาคารประเภทนี้สูงกว่าการสร้างอาคารปกติ ประมาณ 0.6%เมื่อเทียบความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานกับต้นทุนการก่อสร้างแล้ว แต่ละอาคารจะใช้เวลาในการคืนทุนจากต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นภายในระยะเวลา 4.5-5 ปี โดยเฉลี่ย โดยการออกแบบอาคารประหยัดพลังงานจะให้ความสำคัญในการออกแบบครอบคลุมระบบเปลือกอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในอาคาร เป็นหลัก

นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า อาคารประหยัดพลังงานไม่เพียงสามารถออกแบบและพัฒนาอาคารขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาอาคารขนาดเล็ก ที่พักอาศัยทั้งอาคารชุดพักอาศัย บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ รวมถึงสามารถนำไปปรับปรุงอาคารเก่าให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานได้ โดยการนำเกณฑ์ในการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานมาใช้ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเจ้าของและผู้ใช้งานในอาคารได้ในระยะยาว ที่ผ่านมา “ลุมพินี วิสดอม” ในฐานะที่เป็นบริษัทด้านวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้มีการให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานแล้ว 15 โครงการ ช่วยประหยัดพลังงานได้ประมาณ 135 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี

“ถือว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาการออกแบบอาคารประหยัดพลังงานให้กับประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นประโยชน์กับส่วนรวมและการพัฒนาอาคารประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืน” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

ใส่ความเห็น