วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ไร้สัญญาณบวก! เศรษฐกิจไทยรอขยับหลังเลือกตั้ง

ไร้สัญญาณบวก! เศรษฐกิจไทยรอขยับหลังเลือกตั้ง

ภายใต้เงื่อนไขว่าด้วยกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ที่กำลังขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ แต่ดูเหมือนว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาปัจจุบันดำเนินไปอย่างไร้ปัจจัยบวก เพื่อมาเกื้อหนุนพลวัตให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง มิหนำซ้ำศักยภาพและแนวคิดว่าด้วยการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ก็ดูจะตีบแคบลงจนหัวหน้าคณะ คสช. ถึงกับต้องเอ่ยปากให้ประชาชนพึ่งพาตนเองและปรับตัวรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่นี้เองด้วย

แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกสินค้าและบริการที่เติบโตต่อเนื่อง โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีการขยายตัวดีด้วยแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ หากแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ กำลังซื้อภาคครัวเรือนมีการปรับตัวอย่างเชื่องช้า ซึ่งเป็นผลมาจากภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงาน

ความกังวลใจว่าด้วยทิศทางเศรษฐกิจไทยภายหลังการเลือกตั้ง นอกจากจะอยู่ที่รูปร่างหน้าตาของคณะรัฐบาลว่าจะมีการจัดตั้งภายใต้พรรคการเมืองใดเป็นแกนนำ และจะมีเสถียรภาพในการนำพานโยบายทางเศรษฐกิจ สังคมของไทยให้ก้าวหน้าไปได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องติดตามผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดมีขึ้นแล้ว

บรรยากาศระหว่างการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบันอาจช่วยกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการเมืองไทยในระยะสั้น ปรับตัวดีขึ้นบ้าง และช่วยให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2562 ซึ่งสำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะถัดจากนี้

ปัจจัยทางจิตวิทยาเชิงบวกและข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านๆ มา ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าในระหว่างที่มีการรณรงค์หาเลือกตั้ง จะมีเม็ดเงินสะพัดและสร้างความคึกคักให้เกิดขึ้นทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 3-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งปริมาณเม็ดเงินที่หมุนเวียนเข้าสู่ระบบเหล่านี้ จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 แต่นั่นก็เป็นเพียงการคาดการณ์ที่มีข้อสงวนในเงื่อนไขและเหตุปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อีกมากมาย

ประเด็นที่น่าสนใจติดตามนอกเหนือจากสภาพการเมืองไทยหลังจากทราบผลการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลว่าจะมีเสถียรภาพอย่างไรแล้ว ยังมีปัจจัยว่าด้วยเศรษฐกิจระดับมหภาคและสถานการณ์การค้าโลก ที่ดำเนินผ่านคู่ขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่กำลังกดทับให้เศรษฐกิจการค้าโลกมีแนวโน้มที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

สอดรับกับข้อมูลขององค์กรการค้าโลก WTO ที่ระบุว่าสถานการณ์การค้าโลกในห้วงปัจจุบันตกต่ำหนักที่สุดในรอบ 9 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากความตึงเครียดของข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ขณะที่การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (BREXIT) ก็กลายเป็นปัจจัยลบที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจระดับโลก

ท่ามกลางปัจจัยลบทางเศรษฐกิจโลกที่ดำเนินอยู่รอบด้าน ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และถือเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งส่งผลให้เงินบาทกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในโลก ซึ่งฝ่ายวิจัยธุรกิจธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พยายามอธิบายกรณีดังกล่าวว่าเป็นสภาวะที่เรียกว่า “อ่อนนอก แข็งใน” โดยเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงจากปัจจัยเสี่ยงที่เร่งตัวขึ้น ทั้งสงครามการค้าที่เริ่มส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก จนทำให้ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2562 เหลือขยายตัวร้อยละ 3.5 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 3 ปี

ขณะที่อีกด้านหนึ่งเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งจนเป็นสาเหตุหลักให้เงินทุนไหลเข้าและเงินบาทแข็งค่าจริง จากอุปสงค์หรือความต้องการเงินบาท ทั้งในมิติของอุปสงค์เงินบาทแท้จริง คือความต้องการเงินบาทที่เกิดจากกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจจริง การแลกเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออกไทย เงินที่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาตินำมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อนำมาลงทุนและใช้จ่ายในไทย

แม้เงินทุนไหลเข้าในส่วนนี้ช่วยให้เศรษฐกิจไทยบางภาคส่วนแข็งแกร่งขึ้น สะท้อนได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลกว่าร้อยละ 7 ต่อ GDP แต่เงินส่วนนี้อาจตกไปไม่ถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศเท่าใดนัก ทำให้บางส่วนยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีนัก ซึ่งในความเป็นจริงอาจต้องใช้คำว่าเศรษฐกิจไทยยืดหยุ่นมากกว่าแข็งแกร่ง เพราะแม้การส่งออกจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเช่นเดียวกับประเทศอื่น แต่ยังมีการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศที่ขยายตัวโดดเด่นเข้ามาช่วยประคับประคองได้ดี

ขณะเดียวกันยังมีอุปสงค์เงินบาทเทียม ที่เกิดจากเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดการเงิน ซึ่งเงินทุนเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจจริงเท่าใดนัก แต่เข้ามาหากำไรระยะสั้นหรือพักเงิน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง สะท้อนได้จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก หนี้ต่างประเทศต่อ GDP ต่ำไม่ถึงร้อยละ 30 และอัตราเงินเฟ้อต่ำในระดับร้อยละ 1

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุนในตลาดการเงินเชื่อมั่นและทำให้เงินบาทกลายเป็นแหล่งพักเงินสำคัญของภูมิภาค แม้ว่าอัตราผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ต่ำกว่าหลายประเทศ แต่เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาในลักษณะนี้อาจหวังผลในแง่การรักษามูลค่าของเงินลงทุนมากกว่าจะหาผลตอบแทนในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ถือว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากและคาดว่ายังมีแนวโน้มผันผวนตลอดทั้งปี ดังนั้น ผู้ส่งออกไม่ควรเก็งกำไรค่าเงินในทุกกรณี แต่ควรหันมาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าในการนำเข้า หรือพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของตน รวมถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนในอนาคต

ภายใต้สถานการณ์ที่ยังขาดไร้ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจทั้งในระดับนานาชาติและปัจจัยภายในของไทยเอง ดูเหมือนว่าทิศทางของเศรษฐกิจไทยยังต้องเฝ้ารอคอยความชัดเจนของผลการเลือกตั้ง และทิศทางของการเมืองไทยในห้วงเวลานับจากนั้นว่าจะดำเนินไปอย่างไร และพรรคการเมืองใดจะสามารถนำนโยบายทางเศรษฐกิจมาขับเคลื่อนองคาพยพของรัฐไทยให้กลับมามีชีวิตชีวา หลังจากที่อยู่ในภาวะซบเซามายาวนานนี้อีกครั้ง

ใส่ความเห็น