วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > โอกาสไทยที่เสียไป กับรัฐบาลใหม่ที่มาช้า

โอกาสไทยที่เสียไป กับรัฐบาลใหม่ที่มาช้า

ความเปราะบางทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ดูจะเพิ่มระดับความน่ากังวลและเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจนแน่นอน โดยตลอด 2 สัปดาห์แห่งความคลุมเครือว่าด้วยผลการเลือกตั้งและวิธีการคิดคำนวณสัดส่วนสมาชิกแบบปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคพึงมี ได้ฉุดให้ความพยายามในการจับขั้วทางการเมืองเพื่อเริ่มกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปได้อย่างยากลำบากยิ่งขึ้น

สถานการณ์ทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความเลื่อนไหลคลุมเครือ นอกจากจะนำพาให้เกิดความกังวลใจในหมู่ประชาชนคนไทยที่ได้ออกไปใช้สิทธิออกเสียงตามกระบวนการประชาธิปไตยที่ห่างหายไปนานกว่า 8 ปีแล้ว ในอีกด้านหนึ่งกำลังสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่มุ่งหมายที่จะเห็นประเทศไทยกลับเข้าสู่หนทางการเมืองแบบประชาธิปไตยพร้อมกับรัฐบาลชุดใหม่ที่มีเสถียรภาพและได้รับการยอมรับจากทั้งประชาชนในประเทศและสร้างความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติอีกครั้ง

แต่ความคาดหวังเช่นที่ว่านี้ นอกจากจะยังไม่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว สถานการณ์ในห้วงเวลานี้ ดูจะยิ่งผลักให้อยู่ไกลออกไปจากการจับต้องและรับรู้มากขึ้นไปอีก ซึ่งดูเหมือนว่าภายใต้กรอบเวลาที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ความชัดเจนว่าด้วยรัฐบาลชุดใหม่จากผลของการเลือกตั้งจะเกิดมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลใหม่จะเกิดมีขึ้นได้เมื่อผ่านไตรมาสที่ 2 หรือเมื่อผ่านครึ่งปีไปแล้วเท่านั้น

ความคลุมเครือในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น หากแต่ยังดำเนินไปท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในแต่ละขั้วการเมืองมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจส่งผลกับการพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน และอาจนำไปสู่ปัญหาว่าด้วยเสถียรภาพของรัฐบาลในช่วงเวลาจากนี้ได้ไม่ยาก

ประเด็นว่าด้วยเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ได้รับการประเมินว่าอาจเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาออกกฎหมาย และผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจสังคม นอกจากจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้คนแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มาตรการของรัฐบาลใหม่ที่อาจเป็นการสลับร่างจากผู้กุมอำนาจชุดเดิมจะดำเนินไปภายใต้มาตรการเฉพาะหน้าที่ได้เคยสัญญาไว้ในรูปของการแจกแถม แต่ไม่ได้เน้นเรื่องการปรับแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในมิติของการลดความเหลื่อมล้ำ ลดการผูกขาด หรือแม้แต่การปฏิรูปภาษี ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวภายใต้กรอบที่ไม่ต่างจากเดิมที่ผ่านมา โดยที่สังคมด้านล่างได้รับอานิสงส์อย่างเบาบางเช่นเดิม

ระยะเวลาที่ทอดยาวเนิ่นนานออกไปดังกล่าว ทำให้ความเป็นไปทางเศรษฐกิจของไทยดูจะต้องยอมรับสภาพชะงักงันไปตลอดทั้งปี 2562 โดยปริยาย และทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมใจกันปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงมา โดยระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีในปีหมูจะมีอัตราการเติบโตเหลือเพียงร้อยละ 3.8 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.0 ในช่วงก่อนหน้านี้

การปรับลดประมาณการดังกล่าว เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะยังมีความคลุมเครือในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อว่ากรณีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมากนัก เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศมากกว่าการเมือง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจที่แต่ละพรรคได้นำเสนอในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ขณะที่โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการก็อยู่ในระยะที่ประมูลเสร็จหมดแล้ว และเชื่อว่าไม่ว่าฝ่ายใดเข้ามาบริหารประเทศ ก็จะเดินหน้าเรื่องโครงการขนาดใหญ่แน่นอน

ประเด็นที่น่าสนใจของการปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2562 อีกด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศที่มีผลกระทบกับประเทศไทย ทั้งกรณีของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ทำให้เกิดการขึ้นกำแพงภาษีที่พร้อมจะส่งผลกระทบกับไทย ขณะที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน เรื่องการควบคุมดูแลธนาคารเงา ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจของจีนในหลายอุตสาหกรรมขาดสภาพคล่องและกระทบกับอุตสาหกรรมส่งออกของไทย นอกจากนี้ ยังมีกรณีการไม่มีข้อยุติของเบร็กซิต ที่แม้จะไม่กระทบเรื่องการส่งออกของไทยโดยตรง แต่จะไปกระทบตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่อาจส่งผลลบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่การส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ราคาสินค้าของไทยสูงขึ้น ขณะที่ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำลง ได้ฉุดให้การรับรู้ของประชาชนโดยทั่วไปประเมินเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่ไม่ดีเท่าที่กลไกรัฐพยายามนำเสนอ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อไปโดยปริยาย

นอกเหนือจากภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 10 ปี ประกอบกับภาคเกษตรกรรมประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อลดลงแล้ว ปัจจัยที่กระทบกับสภาพคล่องของธุรกิจและผู้ประกอบการรายย่อย อยู่ที่เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการไทยไม่ได้แข่งกับคู่แข่งแค่ในประเทศเท่านั้น แต่กำลังแข่งกับคู่แข่งจากทั่วโลก จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญเสียลูกค้าจำนวนหนึ่งไปหากไม่มีการปรับตัว

ภายใต้สถานการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่อุดมด้วยความไม่แน่นอนหลากหลายเพิ่มขึ้นนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องคิดคำนึงจึงอยู่ที่การจัดการและบริหารความเสี่ยง ทั้งในมิติของการกระจายคู่ค้า การแสวงหาตลาดใหม่ หรือแม้กระทั่งการประเมินความเสี่ยงว่าด้วยสกุลเงินตราต่างประเทศ ที่อาจนำไปสู่การใช้สกุลเงินตราท้องถิ่นของคู่ค้ามาเป็นสกุลเงินในการค้าขายระหว่างกันมากขึ้นในอนาคต

สิ่งที่น่าสนใจนับจากนี้ นอกจากจะเป็นกรณีว่าด้วยระยะเวลาและความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นแล้ว ยังอยู่ที่การทบทวนความคุ้มค่าและโปร่งใสของนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ควบคู่กับสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อกระจายการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ลงลึกไปสู่ประชาชนฐานราก ซึ่งอาจดำเนินการผ่านนโยบายด้านสวัสดิการและการอุดหนุน ควบคู่กับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

แม้ว่าความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อาจจะช่วยพยุงและเปิดให้เห็นโอกาสใหม่ๆ ของไทยที่ได้สูญเสียไปในช่วงที่ผ่านมา หากแต่ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นยังอยู่ที่ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมนับจากนี้ จะได้รับการออกแบบภายใต้การมีส่วนร่วมจากผู้คนในสังคมมากน้อยเพียงใด หรือจะยังถูกครอบงำผ่านโครงสร้างแห่งอำนาจเบื้องบน ที่จะยิ่งซ้ำเติมความได้เปรียบเสียเปรียบบนความเหลื่อมล้ำของโอกาส ที่จะยิ่งเป็นการถ่างช่องว่างของผู้คนในสังคมให้ห่างกันออกไปยิ่งขึ้นอีก

ใส่ความเห็น