วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > โรงหนังลุ้นปลดล็อกรอบ 3 แอนดรอยด์ทีวี-สตรีมมิ่ง คึกคัก

โรงหนังลุ้นปลดล็อกรอบ 3 แอนดรอยด์ทีวี-สตรีมมิ่ง คึกคัก

กลุ่มธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องรอลุ้นมาตรการคลายล็อกดาวน์รอบใหม่ เนื่องจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ยังยกเว้นไว้ในการผ่อนปรนรอบที่ 2 ซึ่งตามเป้าหมายไทม์ไลน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. คาดว่าจะผ่อนปรนรอบที่ 3 ประมาณต้นเดือนมิถุนายน และรอบที่ 4 กลางเดือนมิถุนายน หรืออย่างช้าที่สุดในเดือนกรกฎาคม หากไม่เกิดการระบาดรอบใหม่

อย่างไรก็ตาม กลุ่มโรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะเบอร์ 1 ค่ายเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ พยายามสื่อสารข้อมูลการซักซ้อมมาตรการ Safety & Hygiene Measures ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ เริ่มตั้งแต่การคัดกรองอย่างเข้มงวด (Screening) เมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่ มีการวัดไข้ หยดเจลล้างมือลูกค้า และกำหนดให้เดินเข้าคิวเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรต่อคน รวมทั้งเว้นระยะห่างการชมภาพยนตร์ในโรงหนัง (Distancing) โดยผู้ชม 1 คน เว้นที่นั่งว่าง 2-3 ที่ สลับกับผู้ชมคนถัดไปต่อเนื่อง

การจองตั๋ว หากจองผ่านตู้ E-Ticket ให้สลับตู้เว้นตู้เพื่อลดการสัมผัส (Touchless) หรือถ้าจองหน้าเคาน์เตอร์จะมีฉากใสกั้นระหว่างพนักงานกับลูกค้า พร้อมจัดระบบ Tracking ติดตามและตรวจสอบลูกค้าในกรณีที่เกิดอาการน่าสงสัยในภายหลัง

บริษัทระบุว่า หาก ศคบ. อนุมัติให้เปิดบริการอีกครั้งจะเน้นมาตรการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เช่น ราวจับประตู ราวจับบันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟต์ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 1 ชั่วโมง ดูแลระบบเครื่องปรับอากาศและห้อง AHU ด้วยการฉีดยาฆ่าเชื้อโรคและอบโอโซนทุกวัน ทำความสะอาดภายในห้องน้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 1 ชั่วโมง ให้บริการสบู่เหลวล้างมือ และกระดาษเช็ดมือ อย่างเพียงพอ พร้อมบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือในจุดต่างๆ

ส่วนช่วงปิดให้บริการมีกิจกรรม Big Cleaning ทุก 15 วัน และตรวจภายในทุกโรงทุกวัน เช่น เปิดประตูโรงภาพยนตร์ เปิดพัดลม เปิดเครื่องระบบปรับอากาศวันละ 2 ครั้ง เพื่อระบายอากาศ ลดความอับชื้น เพราะไม่อยากให้เกิดสภาพเชื้อราขึ้นลามทั่วโรงหนังเหมือนในบางประเทศ

แต่ต้องยอมรับว่า การปิดตัวชั่วคราวที่อาจยาวนานเกือบ 3 เดือน ส่งผลกระทบด้านรายได้อย่างหนัก แม้พยายามลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วก็ตาม

ปัจจุบันกลุ่มเมเจอร์ฯ มีธุรกิจโรงภาพยนตร์ 170 สาขา อยู่ในประเทศไทย 162 สาขา จำนวนโรงภาพยนตร์ 773 โรง และอยู่ในต่างประเทศ 8 สาขา โรงภาพยนตร์ 39 โรง นอกจากนี้ มีธุรกิจโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ และลานสเกตน้ำแข็ง รวม 12 สาขา อยู่ในไทย 9 สาขา และต่างประเทศ 3 สาขา รวมทั้งธุรกิจพื้นที่ให้เช่าและบริการ 15 สาขา

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า รายได้ไตรมาสแรกของบริษัท เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ จำกัด (มหาชน) มีแนวโน้มลดลงถึง 46% จากปีก่อน รวมทั้งต้องบันทึกต้นทุนและค่าใช้จ่ายในช่วงปิดโรงหนัง คาดอัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงจาก 33% ในไตรมาสแรกปีก่อน เป็น 22.3% โดยอาจต้องขาดทุนต่ออีก 2 ไตรมาส ภายใต้สมมุติฐาน ศคบ. อนุมัติผ่อนปรนเปิดโรงหนังช่วงปลายเดือนมิถุนายน และจำนวนลูกค้ายังไม่กลับมาเป็นปกติ เนื่องจากต้องใช้เวลาปลุกความมั่นใจ และหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่องเลื่อนฉายไปปีหน้า ซึ่งเมเจอร์ฯ น่าจะไปทำกำไรได้ตั้งแต่ปี 2564

แน่นอนว่า ช่วงที่โรงภาพยนตร์ต้องปิดตัวชั่วคราว เปิดช่องให้ธุรกิจกล่องทีวีและวิดีโอสตรีมมิ่งมีกิจกรรมคึกคักมาก เพื่อรองรับผู้คนที่เปลี่ยนพฤติกรรมมาอยู่บ้านดูหนัง และมีความต้องการชมภาพยนตร์ใหม่ๆ ทั้งหนังฮอลลีวู้ดและหนังฟอร์มยักษ์

ที่เห็นชัดเจน คือ ทรู คอร์ปอเรชั่น ใช้จังหวะนี้จัดโปรโมชั่นแจกฟรี กล่องแอนดรอยด์ทีวี “ทรูไอดีทีวี” ให้ลูกค้าเน็ตบ้าน ทรูออนไลน์ โดยเสียค่าบริการเช่ากล่องเพียงเดือนละ 50 บาท เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มทรูวิชั่นส์ เจาะตลาดแมสและตลาดเคเบิลทีวี สนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่อยากชมภาพยนตร์ใหม่เพิ่งออกจากโรงเร็วกว่าเจ้าอื่น

นอกจากนี้ สมาชิกสามารถเพิ่มแพ็กเกจต่างๆ เช่น แพ็กเกจ ทรู พรีเมียร์ ฟุตบอล เริ่มต้น 149 บาทต่อสัปดาห์ จำนวน 7 ช่องรายการ แพ็กเกจ ทรู แฟมิลี่ 30 วัน 499 บาท จำนวน 32 ช่องรายการ ทรู นิวส์ แอนด์โนว์เลดจ์ 30 วัน 149 บาท จำนวน 12 ช่องรายการ ทรู คิดส์ แอนด์ มัมส์ 30 วัน 149 จำนวน 8 ช่องรายการ และทรู เอนเตอร์เทนเม้นท์ 30 วัน 149 บาท 13 ช่องรายการ

ด้าน “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) เจ้าตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งแบบเสียค่าสมัครสมาชิก ซึ่งกำลังได้รับความนิยมทั่วโลก เพราะลูกค้าสามารถเลือกซื้อหนัง เลือกเวลาชม ไม่มีโฆษณาคั่นและดูผ่านหลายช่องทางออนไลน์ โดยมีภาพยนตร์ให้เลือกมากกว่า 4,000 เรื่อง ซีรีส์มากกว่า 47,000 ตอน

มีรายงานว่า ช่วงที่ประเทศต่างๆ เจอมาตรการล็อกดาวน์นั้น เน็ตฟลิกซ์สามารถเพิ่มยอดสมาชิกใหม่ทั่วโลกมากกว่า 15.7 ล้านราย ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวทำให้ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะค่ายใหม่อย่างดิสนีย์พลัส (Disney+) อะเมซอนไพรม์วิดีโอ (Amazon Prime Video) ฮูลู (Hulu) และ Apple TV+

ขณะที่ค่ายหนังในไทยหันมาให้บริการฉายผ่านระบบออนไลน์เช่นกัน เพื่อกระตุ้นอารมณ์การดูหนังระหว่างรอเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส ออกแคมเปญ Movies From Home Project นำผลงานภาพยนตร์ของนักแสดงมาฉายให้ดูทางช่อง YouTube และเมื่อโรงภาพยนตร์ เปิดให้บริการจะได้กลับมาเจอกันกับผลงานเรื่องล่าสุดของนักแสดงเหล่านั้นในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง โดยจัดโปรแกรมฉายทุกวันเสาร์ เวลา 19.00 น. เริ่มฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

กลุ่มสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล มงคลภาพยนตร์และมงคลเมเจอร์ จับมือกับ “แอปเปิ้ล ทีวี (Apple TV)” นำเสนอหนังฮอลลีวู้ด ทั้งหนังที่ชนะรางวัลออสการ์ หนังที่โกยคะแนนบนเว็บไซต์รอตเทน โทเมโทส์ หนังที่กวาดรายได้และเสียงวิจารณ์ และหนังไทยงานดี เช่น เรื่อง “กรีนบุ๊ค (Green Book)” ซึ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ หรือซีรีส์หนัง “จอห์น วิค (John Wick)” ทั้ง 3 ภาค

วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Tai Major กล่าวในรายการ Major Special Talk ว่า ธุรกิจภาพยนตร์กับธุรกิจโรงภาพยนตร์ไม่ได้กลัวเศรษฐกิจถดถอย และที่ผ่านมาเจอวิกฤตหลายรอบ เคยเจอกระแสนวัตกรรม แต่ยังเติบโตได้ เพราะตลาดภาพยนตร์มีขนาดใหญ่ ภาพยนตร์ยังสามารถทำเงิน เพียงแต่พิษโควิด-19 ครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤตก่อนๆ คือ คนไม่อยากใกล้ชิดกัน

ทว่า สิ่งที่จะทำให้อยู่รอดได้คือ เมื่อผู้คนรู้สึกวางใจหรือไว้ใจกับสิ่งที่ตัวเองเผชิญ จะเป็นโรงหนัง สนามกีฬา คอนเสิร์ต ทุกคนจะพร้อมออกมาใช้ชีวิตแบบ Normal

วิสูตรมั่นใจว่าผู้คนยังมีความอยากดูหนัง อยากเข้าโรงภาพยนตร์ แม้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้รับความนิยมมาก แต่ทดแทนกันไม่ได้ ทั้งระบบเสียง ความคมชัด การชมภาพยนตร์ในบ้านไม่ได้อารมณ์แบบนั้น

โจทย์ข้อสำคัญจึงอยู่ที่กลยุทธ์สร้างความมั่นใจของโรงภาพยนตร์ เพื่อรอรับอารมณ์ที่อัดอั้นมานาน ซึ่งหากได้ผลจริง เปิดโรงวันแรก ยอดตั๋วพุ่งพรวดแน่

ใส่ความเห็น