วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > โรงงานญี่ปุ่นย้ายฐานสู่เวียดนาม อุตสาหกรรมไทยไร้แรงดึงดูด?

โรงงานญี่ปุ่นย้ายฐานสู่เวียดนาม อุตสาหกรรมไทยไร้แรงดึงดูด?

การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกได้รับบทเรียนสำคัญ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม แน่นอนว่าเหตุผลดังกล่าวแม้ไม่ใช่ทั้งหมดของปัจจัยอันนำไปสู่การออกนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่พร้อมจะสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในการย้ายฐานผลิตออกจากประเทศจีน

เมื่อการระบาดของไวรัสในจีนส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมต้องชะงักงันจากมาตรการปิดประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง และส่งผลกระทบด้าน Supply chain ต่อประเทศคู่ค้าอื่นๆ การลดการพึ่งพาจีนจึงดูจะเป็นทางออกที่ดีจากบทเรียนครั้งนี้

รัฐบาลญี่ปุ่นอาศัยจังหวะเวลานี้ ประกาศใช้นโยบายสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทญี่ปุ่นเพื่อย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน เพื่อกลับมาลงทุนในประเทศบ้านเกิดและในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กระแสข่าวดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยที่กำลังตั้งลำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เริ่มมีประกายความหวังว่า ในอนาคตอันใกล้จะมีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นตบเท้าเข้ามาในพื้นที่นี้มากขึ้น

ทว่า สัญญาณการเบนเข็มของโรงงานญี่ปุ่นที่จะมาไทยนั้นเริ่มเบาบางลง นับตั้งแต่มีข่าวการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากไทยไปสู่เวียดนามของ Panasonic ซึ่งสาเหตุหลักน่าจะมาจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นของแรงงานไทย ขณะที่อีกเหตุผลหนึ่งคือ Panasonic เองมีฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในเวียดนามอยู่ก่อนแล้ว

ข้อมูลจาก Nikkei Asian Review ระบุว่า การย้ายฐานการผลิตของ Panasonic สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างโรงงานในพื้นที่ใหม่ของบริษัทญี่ปุ่น เพราะช่วงศตวรรษที่ 70 (พ.ศ. 2513-2522) บริษัทญี่ปุ่นเริ่มย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศมายังสิงคโปร์และมาเลเซีย เพราะค่าเงินเยนแข็ง แต่เมื่อค่าแรงในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น ไทยจึงเป็นเป้าหมายลำดับถัดมา และปัจจุบันหลายบริษัทกำลังย้ายออกจากประเทศไทย

โดยภายในปี 2563 Panasonic จะทยอยหยุดการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยลง เช่น เครื่องซักผ้าที่จะหยุดผลิตในเดือนกันยายน และตู้เย็นในเดือนตุลาคม ก่อนจะปิดโรงงานในเดือนมีนาคม ปี 2564 ซึ่งนั่นจะส่งผลให้พนักงานในโรงงานแห่งนี้ถูกเลิกจ้างราว 800 คน รวมไปถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทที่อยู่ในละแวกเดียวกันด้วย

นอกจากสาเหตุเรื่องค่าแรงของไทยที่สูงขึ้น เป็นเหตุให้นักลงทุนตัดสินใจที่จะลดต้นทุนและย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งคือ มีการลงทุนสร้างเมืองใหม่ในเวียดนามอยู่ทางตอนเหนือของกรุงฮานอย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับบริษัทในญี่ปุ่นมากกว่า 20 แห่ง พัฒนาเมืองนี้ให้กลายเป็นสมาร์ททาวน์ ซึ่งอุดมไปด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ ทั้งอาคารประหยัดพลังงาน ที่อยู่อาศัยแบบใหม่ รวมไปถึงรถบัสแบบไร้คนขับ โครงการดังกล่าวตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี 2023

Nikkei Asian Review เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โครงการนี้มีแหล่งทุนมาจากหลายแหล่ง เช่น กองทุนจากบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาร่วมลงทุน ความช่วยเหลือด้านการต่างประเทศของญี่ปุ่น และการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม กระทรวงการค้าและสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น จะช่วยสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในการทำวิจัยและการเจรจากับฝ่ายเวียดนาม โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ในการส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา

นอกจากปัญหาเรื่องค่าแรงของไทยที่สูงขึ้น จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนย้ายฐานการผลิตออกจากไทยแล้ว แต้มต่อที่เวียดนามมีทั้งเรื่องของสมาร์ททาวน์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทในญี่ปุ่นร่วมลงทุนด้วยกันแล้ว ยังมีประเด็นของ CPTPP และ EVFTA ที่ทำให้เวียดนามขึ้นแท่นทั้งในแง่ของประเทศที่น่าลงทุน และโอกาสทางการค้าที่สดใสขึ้น

แม้ว่าเวียดนามและสหภาพยุโรปจะลงนามความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) กันไปตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2019 แต่ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการและการลงทุนมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งแรกของปี 2020

ประเด็นนี้ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศได้เปรียบด้านเสรีการค้า ทั้งการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันตามความผูกพันภายใต้ความตกลง สัดส่วนสินค้าที่ได้การยกเว้นภาษีนำเข้าทั้งหมดจะครอบคลุม 99% ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างสองฝ่าย และเวียดนามเป็นประเทศที่ 22 ของอาเซียนถัดจากสิงคโปร์ที่ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับ EU รวมไปถึงเวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนารายแรกที่บรรลุความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูงกับ EU

ขณะที่ด้านการลงทุน การเปิดเสรีการค้าของเวียดนาม จะทำให้นักลงทุนของทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าถือครองหุ้นได้ในสัดส่วนสูงกว่านักลงทุนจากประเทศอื่นและสูงสุดถึง 100% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของธุรกิจนั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีความตกลง EVFTA เป็นความตกลงแรกที่ทางการเวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนจาก EU สามารถเข้าประมูลสัญญาของภาครัฐได้

ความตกลง EVFTA ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำกรุงฮานอย เวียดนาม ระบุว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ภาพรวมการลงทุนของเวียดนามยังเป็นที่น่าจับตามอง โดยมีจำนวนโครงการที่ขอรัฐส่งเสริมการลงทุนใหม่ 984 โครงการ มูลค่า 6,780 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.9% และยังมีโครงการที่ปรับเพิ่มทุน 335 โครงการ มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 45.6%

ขณะที่นักลงทุนจากไทยที่ขยายการลงทุนไปยังเวียดนามมีจำนวนถึง 9 โครงการ มูลค่า 22.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ปัจจุบันไทยมีโครงการลงทุนสะสมในเวียดนาม 567 โครงการ มูลค่า 12,304 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นอันดับ 9 จากทั้งหมด 136 ประเทศ

ทั้งนี้ โครงการลงทุนใหม่ 984 โครงการนั้น เป็นอุตสาหกรรมการผลิต การประมง การผลิตพลังงานไฟฟ้า การค้าส่งและค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์และกิจกรรมวิชาชีววิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ ซึ่งมาจากการลงทุนของนักลงทุนเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์

ดูเหมือนว่าทั้งความตกลง EVFTA และ CPTPP ที่เวียดนามมีอยู่ในมือ จะเป็นเครื่องมือในการปิดจุดอ่อนและนำไปสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ไทยยังคงถกเถียงและหาข้อสรุปในเรื่องข้อตกลงทางการค้าหรือการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CPTPP ไม่ได้ เมื่อเสียงของภาครัฐแบ่งออกเป็นสองส่วน

แม้การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CPTPP จะมีผลดีต่อการส่งออกที่เป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มช่องทางการทำตลาดอย่างแคนาดาและเม็กซิโก รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยจากการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ทว่า ยังมีความกังวลการผูกขาดด้านสิทธิบัตรการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ ที่จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของเกษตรกรไทยในอนาคต

หากเปรียบเทียบไทยกับเวียดนามในเวลานี้ จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ไร้แรงดึงดูดนักลงทุนก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะปัจจัยหลายด้านที่นักลงทุนใช้พิจารณาเลือกที่จะปักหมุดลงบนพื้นที่อุตสาหกรรมนั้น ไทยคงไม่ใช่ตัวเลือกอันดับแรกๆ อีกต่อไป

และแม้จะยังมีความหวังว่าบรรดาบริษัทเอกชนที่รัฐบาลญี่ปุ่นอุดหนุนเงินทุนสำหรับการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนโดยมุ่งหวังที่จะลดการพึ่งพาจีนนั้น จะย้ายมาไทยเมื่อมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทว่า ตัวเลขที่กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยออกมา เป็นการดับฝันไทยอย่างแท้จริง

โดยมีกลุ่มบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 87 บริษัท ที่ประสงค์จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่ง 30 บริษัทระบุว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เช่น เวียดนาม และลาว ได้แก่ บริษัท Hoya, Sumitomo Rubber Industries และ Shin-Etsu Chemical ส่วนอีก 57 บริษัทอาจจะย้ายกลับประเทศญี่ปุ่น

ดูเหมือนว่าห้วงยามนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีปัญหาที่ต้องฝ่าฟันอีกมากมาย ทั้งการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศ หรือการถูกเมินเฉยและมองข้ามแม้จะมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในเมื่อปัจจัยอื่นที่นักลงทุนนำมาใช้พิจารณายังมีบทบาทสำคัญ เช่น อัตราค่าแรง ความตกลง FTA การเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP

เมื่อต้องรักษาผลประโยชน์ของคนในชาติ พยุงเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ ขณะที่ต้องสร้างแรงดึงดูดเพื่อให้นักลงทุนกลับสนใจ งานหนักที่ดูเหมือนจะรอต้อนรับ ครม. ใหม่ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เรียกได้ว่า หินแน่นอน

ใส่ความเห็น