วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > โคเมเฮียว บุกไทย จับมือ “สหพัฒน์” เจาะกลุ่มลักชัวรี

โคเมเฮียว บุกไทย จับมือ “สหพัฒน์” เจาะกลุ่มลักชัวรี

การประกาศลงนามสัญญาความร่วมมือระหว่างบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กับยักษ์ใหญ่ธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง “Komehyo” (โคเมเฮียว) จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อผุดแฟล็กชิปสโตร์แห่งแรกในประเทศไทย ด้านหนึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์เจาะรีเทลกลุ่มใหม่ของเสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ซึ่งไม่ใช่แค่รับเทรนด์การเติบโตของตลาดแบรนด์เนมมือสอง แต่ยังเกาะกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเรียกร้องพฤติกรรม Reuse สินค้าให้ได้มากที่สุด

ที่สำคัญ เสี่ยบุณยสิทธิ์กำลังรุกขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าต่างๆ มากขึ้นและฉีกกลยุทธ์ชนิดที่สหพัฒน์ไม่ต้องการวิ่งไล่หลังใครอีกแล้ว

ไม่ให้เหมือน “ลอว์สัน” ที่ยังทิ้งห่างจากเซเว่นอีเลฟเว่นและแฟมิลี่มาร์ท

หรือ “ซูรูฮะ” ซึ่งยังต้องไล่บี้คู่แข่งอย่างวัตสันและบู๊ทส์

แต่โคเมเฮียวที่มีทั้งทุนเต็มหน้าตักและโนว์ฮาวระดับเบอร์ 1 จากญี่ปุ่น น่าจะเปิดทางการก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดรีเทลกลุ่มแบรนด์เนมมือสองได้ไม่ยากนัก

ว่ากันว่า เคยมีการคาดการณ์ตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสอง หรือ Pre-owned luxury ในตลาดโลก มีมูลค่าสูงถึง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.7 แสนล้านบาท เฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องหนังและเสื้อผ้ามือสองมีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

ยิ่งเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และอาจเจอวิกฤตอีกหลายรอบ ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังระดับโลกหลายค่ายไม่ได้พุ่งกระฉูดเหมือนก่อน แม้มีความพยายามเจาะตลาดประเทศใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งการเปิดชอปและการส่งสินค้าจำหน่ายผ่านเอาต์เล็ตระดับโลก เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าหันไปซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสองมากขึ้น ชนิดที่ว่า ตลาดแบรนด์เนมมือสองระดับหรูมีอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์

ลูกค้าส่วนใหญ่ต่างเห็นข้อดีหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ประหยัดเงินชอปปิ้ง ได้ใช้สินค้าแบรนด์เนมหรูๆ ง่ายขึ้น หลากหลายขึ้น เบื่อก็ซื้อชิ้นใหม่ได้ และยังเป็นช่องทางการลงทุน โดยนำกลับมาขายต่อได้ราคาดีไม่มีตกอีกด้วย

โดยเฉพาะกระเป๋าถือแบรนด์ดังสัญชาติฝรั่งเศสอย่างแอร์เมส (Hermes) ถือเป็นสินค้ายอดฮิตมากที่สุด และเคยมีข่าวฮือฮามาแล้วกับกระเป๋าแอร์เมส รุ่นหายาก “หิมาลายา เบอร์กิน” ปี 2014 (Himalaya Birkin) ถูกประมูลไปด้วยวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 380,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 12 ล้านบาท ทั้งที่เป็นกระเป๋ามือสองที่ผ่านการใช้งานแล้ว

สำหรับประเทศไทย เคยมีการคาดกันว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ลักชัวรีแบรนด์มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.18 แสนล้านบาท และที่น่าสนใจก็คือ ตลาดสินค้าแบรนด์หรูมือสองมีมูลค่าสูงกว่าการซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมผ่านชอป (Official Shop) ถึง 10-20% ไม่รวมตลาดในช่องทางออนไลน์และการซื้อขายกันเองอีกจำนวนมาก ซึ่งทุกช่องทางล้วนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

วิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทใช้เวลากว่า 4 ปี ศึกษาธุรกิจสินค้าแบรนด์เนมมือสองและเจรจาดึงกลุ่มโคเมเฮียว ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือสองอันดับ 1 จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อรุกธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือสองในไทย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าแบรนด์เนมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทต้องการขยายพอร์ตโฟลิโอสู่ธุรกิจรีเทลลักชัวรีมากขึ้น เพราะสามารถสร้างอัตรากำไรถึง 30% สูงกว่าสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และไม่จำเป็นต้องสร้างโรงงานผลิตสินค้า แต่สามารถมีพอร์ตร้านหรูได้

ทั้งนี้ โคเมเฮียวเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ซึ่งครอบครัวอิชิฮาระก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2490 เริ่มต้นจากห้องเสื้อผ้าเก่าเล็กๆ ขนาดเพียง 5 เสื่อ หรือประมาณ 16.5 ตารางเมตร โดยมีคติพื้นฐานในการดำเนินงานที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน คือ ยิ่งรับซื้อของในราคาดี ยิ่งได้ของมา ยิ่งขายในราคาถูก ยิ่งมีคนสนใจ ภายใต้ปรัชญาการเป็นตัวกลางส่งผ่านสินค้าตามแนวคิด “Relay Use” ส่งต่อสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วไปให้กับบุคคลอื่นที่ยังต้องการ เพื่อนำไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพทำให้สิ่งของมีประโยชน์สูงสุด

หากพูดถึงตลาดธุรกิจสินค้าแบรนด์เนมมือสองในประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าประมาณ 1.77 ล้านเยน อัตราเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี และมีผู้เล่นหลักๆ แข่งขันกันประมาณ 10 กว่าราย เช่น นัมโบยะ ไดโกกุยะ จินโซ่ ซึ่งโคเมเฮียวเป็นยักษ์ใหญ่ มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดและรุกขยายสาขาครอบคลุมภูมิภาคใหญ่ๆ อย่างคันโต คันไซ จูบุ และในเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว โอซากา รวมกว่า 33 สาขา โดยมีสาขาใหญ่อยู่ที่เมืองนาโกยา เปิดจำหน่ายทั้งสินค้ามือหนึ่งและมือสอง เช่น เครื่องประดับ นาฬิกา กระเป๋า และเสื้อผ้า

ปีที่ผ่านมา โคเมเฮียวมีรายได้รวมประมาณ 40,000 ล้านเยน และรุกขยายเจาะตลาดเอเชีย โดยเปิดสาขารูปแบบโฮลเซลในฮ่องกง เมืองเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่งในประเทศจีน แห่งละ 1 สาขา

ส่วนสาขาในประเทศไทยจะเป็นรีเทลชอป “แฟล็กชิปสโตร์” แห่งแรกในตลาดอาเซียน ซึ่งทาคุจิ อิชิฮาระ ประธาน บริษัท โคเมเฮียว จำกัด และผู้สืบทอดกิจการรุ่นที่ 3 เชื่อมั่นว่า เมืองไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก และลูกค้าชาวไทยมีความนิยมสินค้าแบรนด์เนมสูงมาก ที่ผ่านมามีกลุ่มลูกค้าบินตรงไปซื้อสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่น ผ่านร้านโคเมเฮียวมีมูลค่าสูงถึง 500-600 ล้านบาท รองจากนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าอันดับ 1

ก่อนหน้านี้โคเมเฮียวเคยทดลองศักยภาพตลาดในประเทศไทย โดยจัดงาน “KOMEHYO Experience” ตั้งโต๊ะรับซื้อสินค้าแบรนด์เนม reuse เมื่อวันที่ 30 ส.ค.-2 ก.ย.2560 โดยเจาะเฉพาะสินค้ากลุ่มนาฬิกา กระเป๋า และเครื่องประดับแบรนด์หรู เช่น Cartier, Bvlgari, Tiffany, Harry Winston, Rolex, Patek Phillipe, Panerai, Audermars Piquet, Omega, Varcheron Constantin, Chopard, Hermes, Chanel, Gucci, Prada, Celine, Bottega Veneta, Louis Vuitton, Balenciaga, Fendi, Goyard, Saint Laurent, Christian Louboutin เพื่อประเมินจำนวนสินค้าแบรนด์เนมที่มีอยู่ในประเทศไทย และดูพฤติกรรมการขายต่อของกลุ่มนักชอประดับไฮเอนด์จนถึงซูเปอร์ไฮเอนด์

“หัวใจของธุรกิจโคเมเฮียวไม่ได้อยู่ที่การขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การรับซื้อสินค้าที่ดีเข้ามาด้วย และประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งที่มีผู้ใช้งานสินค้าแบรนด์เนมจำนวนมหาศาล อีกทั้งคนไทยที่เดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นก็เป็นลูกค้าของโคเมเฮียวจำนวนมาก จึงทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยเป็นตลาดหนึ่งที่น่าลงทุน”

ทาคุจิ อิชิฮาระ กล่าวอีกว่า โคเมเฮียวมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกา กระเป๋าแบรนด์เนมและอื่นๆ มากกว่า 100 คน จะทำงานตั้งแต่การตรวจสอบว่าเป็นสินค้าของแท้หรือไม่ในการรับซื้อสินค้า รวมถึงการรวบรวมข้อมูลสินค้าและการตรวจสอบอีกครั้งก่อนวางจำหน่าย พร้อมทั้งมีมาตรการดูแลรักษาทำความสะอาดสินค้าให้อยู่ในสภาพดีและปรับปรุงสินค้าก่อนวางจำหน่าย ทั้งการขัดเงา ซ่อมแซม และอื่นๆ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดีใกล้เคียงกับสินค้าใหม่มากที่สุด

“ธุรกิจสินค้าแบรนด์เนมในญี่ปุ่นเป็นที่นิยมมากมาจากพฤติกรรมและวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นจะไม่ทิ้งขว้างข้าวของและมักรักษาสภาพสินค้าได้ดี เมื่อไม่ใช้แล้วจะนำมาขายต่อเพื่อให้คนอื่นได้ใช้ต่อ เป็นการใช้สิ่งของให้มีประโยชน์สูงสุด ซึ่งพฤติกรรมคนไทยน่าจะเป็นลักษณะเดียวกันจากการทดลองตั้งโต๊ะรับซื้อสินค้าเมื่อปีที่ผ่านมามีผู้นำสินค้ามาขายต่อเกินเป้าหมายหลายเท่าตัว”

ล่าสุด โคเมเฮียวและบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งกำลังเร่งหาทำเลศักยภาพในกรุงเทพฯ เพื่อเปิดตัวแฟล็กชิปสโตร์แห่งแรกภายในปี 2562 แม้ยังไม่สามารถระบุขนาดพื้นที่ได้อย่างชัดเจน แต่หากเปรียบเทียบกับสาขาต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น เช่น สาขาที่นาโกยา 6,000 ตารางเมตร ชิบูยา 2,400 ตารางเมตร และโอซากา 1,200 ตาราเมตร มีความเป็นไปได้ว่าโคเมเฮียวสาขาแรกจะมีขนาดพื้นที่ไม่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับทำเลและพื้นที่ที่จัดหาได้

ด้านรูปแบบสินค้าจะเน้นสินค้าแบรนด์เนมจากลูกค้าชาวไทยที่เข้ามาขายให้ร้านในสภาพ 70-80% ก่อนวางจำหน่ายต่อ และอีกส่วนเป็นสินค้าแบรนด์เนมมือสองนำเข้าจากญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาบุกตลาดประเทศไทยของโคเมเฮียวจะไม่ใช่แค่โอกาสของยักษ์คอนซูเมอร์อย่าง “สหพัฒน์” เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการยกระดับธุรกิจร้านค้าแบรนด์เนมมือสองที่ต้องการจุดขายด้านคุณภาพและการการันตีเป็น “ของแท้” มากขึ้นด้วย

ใส่ความเห็น