วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > แฟมิลี่มาร์ท-เซเว่นฯ เปิดศึกรูดปรื๊ด แบงกิ้งเอเย่นต์

แฟมิลี่มาร์ท-เซเว่นฯ เปิดศึกรูดปรื๊ด แบงกิ้งเอเย่นต์

สงครามรูดปรื๊ดในกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์ร้อนเดือดต่อเนื่อง เมื่อยักษ์สะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ถูก 2 คู่แข่ง ทั้งแฟมิลี่มาร์ทและลอว์สัน 108 งัดบริการรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตชนิดไม่มียอดซื้อขั้นต่ำขึ้นมาบลั๊ฟ เป็นจุดขายหลัก โดยเฉพาะการย้ำให้พนักงานตอบลูกค้าว่า “จะรูดบัตรเครดิตซื้อสินค้าเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีขั้นต่ำ”

ขณะที่ฝ่ายเซเว่น อีเลฟเว่น แม้ยังยืนยันยอดขั้นต่ำสำหรับรูดบัตรเครดิตที่ 300 บาทต่อบิล แต่เปิดเกมรุกแซงหน้าคู่แข่งไปอีกขั้น เมื่อบรรลุข้อตกลงกับธนาคารออมสิน ในฐานะตัวแทนการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ (Banking agent) รับฝากและถอนเงินผ่านสาขา เซเว่น อีเลฟเว่น ทั่วประเทศได้ตลอด 24 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. นี้ โดยช่วงปีแรกจะยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้บริการฝากเงินสำหรับเด็กและเยาวชนอายุ 7-20 ปี ตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป สูงสุด 30,000 บาท ส่วนผู้ใช้บริการอายุ 20 ปีขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียม 15 บาทต่อครั้ง

นอกจากนี้ เตรียมให้บริการฝาก-ถอนเงินสดผ่านแอปพลิเคชัน Mobile Banking (My Mo) ของธนาคารออมสิน ณ จุดให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส สามารถถอนได้ตั้งแต่ 1-5,000 บาท ในช่วงเวลา 08.00-22.00 น. โดยคิดค่าธรรมเนียม 15 บาท ต่อรายการ

ขณะเดียวกัน ยังมีบริการรับชำระหน้าเคาน์เตอร์ที่ต่างฝ่ายต่างเพิ่มคู่ค้าตามไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่และคนยุคปัจจุบัน

ถือเป็นศึกยกสำคัญในสังคมยุคไร้เงินสดของยักษ์สะดวกซื้อที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์ เพื่อเร่งขยายฐานกลุ่มลูกค้า นอกเหนือจากแคมเปญโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม และรายการสะสมแสตมป์แลกสินค้าพรีเมียม มาจากภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก เพราะหากเปรียบเทียบกลุ่มโมเดิร์นเทรดทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า (Department Store) ดิสเคาน์สโตร์ (Discount Store / Hypermarket / Supercenter) ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store/ Express/ Mini Mart) และร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Store)

ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีการแข่งขันสูงสุด จำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสูงสุด มีการขยายสาขาในแหล่งชุมชน ทุกสถานที่ต่างๆ ที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นในอาคารสำนักงาน ปั๊มน้ำมัน คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียนขนาดใหญ่ สวนสัตว์ สวนสนุก และมีผู้เล่นในสมรภูมิมากที่สุดด้วย

นอกจาก 3 ผู้เล่นหลักอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท และลอว์สัน108 ยังมีกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตที่แตกไลน์เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่ง ทั้งโลตัส เอ็กซ์เพรส มินิบิ๊กซี แม็กซ์แวลู่ทันใจ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่นอกธุรกิจค้าปลีก (Non-Retail) เช่น ปตท. เปิดร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ บางจากปิโตรเลียมเปิดร้านสะดวกซื้อ “สพาร์” ซึ่งซื้อสิทธิ์จากกลุ่มค้าปลีกเนเธอร์แลนด์ ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน

ทั้งนี้ จำนวนร้านสะดวกซื้อขยายตัวก้าวกระโดดอย่างมาก โดยปี 2560 มีสาขาทั้งสิ้น 15,883 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มจาก 14,847 แห่งในปีก่อนหน้าหรือเพิ่มขึ้น 7% และล่าสุดคาดว่ามีสาขารวมทั้งสิ้นมากกว่า 16,000 แห่ง โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ เซเว่น อีเลฟเว่น รวมประมาณ 10,200 สาขา และตั้งเป้าหมายภายในปี 2563 จะเพิ่มสาขาให้ได้ถึง 13,000 สาขา รองลงมาเป็นโลตัส เอ็กซ์เพรส ประมาณ 1,500 สาขา แฟมิลี่มาร์ท 1,099 สาขา มินิบิ๊กซี 800 สาขา และลอว์สัน 120 สาขา

แต่การมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นและเจาะทุกพื้นที่กลับไม่สามารถผลักดันตัวเลขจำนวนลูกค้าและยอดการจับจ่ายเติบโตอย่างเด่นชัด เนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเปลี่ยนไปตามกระแสออนไลน์และการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ผู้คนหันมาซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก จ่ายผ่านระบบดิจิทัลหรือพร้อมเพย์และรับสินค้าที่บ้าน

ตัวเลขล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนภาพชัดเจนว่า หลังจากธนาคารพาณิชย์ยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ยอดการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์เพิ่มมากขึ้น เติบโตเฉลี่ย 34.9% ต่อเดือน โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 ปี 61 สูงถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอดธุรกรรมสะสมสูงถึง 631 ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรม 3.1 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 3.3 ล้านรายการต่อวัน เป็นสัดส่วน 31% ของยอดโอนเงินทุกช่องทาง ต่างจากช่วงแรกของพร้อมเพย์ในปี 60 มียอดธุรกรรมเพียง 60,000 รายการต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 0.6% ของยอดโอนเงินทุกช่องทาง

สำหรับยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์ในปัจจุบันมี 44.5 ล้านบัญชี เติบโต 6% ต่อเดือน แบ่งเป็นเลขประจำตัวประชาชน 28.7 ล้านหมายเลข คิดเป็น 43% ของประชากรทั้งหมด หมายเลขโทรศัพท์มือถือ 15.8 ล้านหมายเลข และหมายเลขอ้างอิงอื่นๆ เช่น หมายเลขทะเบียนนิติบุคคล หมายเลขผู้ออกใบแจ้งหนี้ และหมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเลต) 150,000 หมายเลข และมีแนวโน้มการสมัครและใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ระบบพร้อมเพย์ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานใช้ในการต่อยอดบริการด้านโอนเงินหรือชำระเงินอื่นๆ เช่น บริการคิวอาร์โค้ด ซึ่งมีร้านค้ารับคิวอาร์โค้ดแล้ว 2 ล้านจุด

ทั้งหมดทำให้การแข่งขันของกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์พุ่งเป้าไปที่การเปิดบริการรองรับธุรกรรมทางการเงินทุกรูปแบบ โดยมีโจทย์ข้อสำคัญ คือ ต้องสะดวกสุด ง่ายสุด และไม่มียอดขั้นต่ำ เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเดินเข้าร้านสะดวกซื้อมากขึ้น นอกเหนือจากการสร้างรูปแบบร้านให้ทันสมัยและรองรับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของคนรุ่นใหม่

นางจิรนันท์ ผู้พัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด เปิดเผย “ผู้จัดการ360 ํ” ว่า บริษัทเร่งพัฒนาร้านแฟมิลี่มาร์ททั่วประเทศ โดยมี 2 รูปแบบหลัก คือ Standard Store ขนาด 120-150 ตร.ม. และ Premium Store ขนาด 150-170 ตร.ม. ซึ่งจุดเด่นของแต่ละสาขาขึ้นอยู่กับทำเลและกลุ่มเป้าหมาย

เช่น สาขาปากซอยสุขุมวิท 33 และสาขาเมเจอร์รังสิต มี Co-Working Space เรียกว่า One Space เพื่อเป็นพื้นที่แชร์ไอเดีย และพบปะสังสรรค์สำหรับกลุ่มเพื่อน รองรับกลุ่มพนักงานออฟฟิศ นักเรียน/นักศึกษา ลูกค้าทั่วไป วัยทำงาน

สาขาหาดป่าตองบีช ริมหาดป่าตอง เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จะเพิ่มสินค้าหมวดชุดว่ายน้ำ สินค้าสำหรับเล่นชายหาด รวมทั้งพื้นที่นั่งรับประทานอาหารทั้งภายในและภายนอก

สาขาชิดลม เน้นการเป็น Food Destination ชูกลุ่มสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งเบเกอรี่ โอเด้ง กาแฟสด ข้าวกล่องปรุงสดใหม่ แซนด์วิช ขณะที่สาขาหัวหิน นเรศดำริห์ 2 เน้นลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยต้องการให้แฟมิลี่มาร์ทสาขานี้เป็นจุดแวะพักที่หัวหินและจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยวหลายๆ คน

แต่เหนืออื่นใด แฟมิลี่มาร์ทต้องการชูจุดขายด้าน Convenience Service ทั้งบริการรับส่งพัสดุ Kerry Express บริการจ่ายบิล เติมเงิน ผ่าน Cen Pay ซึ่งเป็นบริการด้านการรับชำระบิล และเติมเงินอย่างครบวงจร ภายใต้เครือของกลุ่มเซ็นทรัลมากกว่า 200 รายการ ตั้งแต่ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ค่าประกัน ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าบัตรเครดิต ค่าตั๋วเครื่องบิน บริการเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครือข่าย เติมเงินเกมส์ออนไลน์

ล่าสุด CenPay เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนชำระเงิน (Banking Agent) ค่าปรับจราจรผ่านเคาน์เตอร์ด้วย โดยถือเป็น Non Bank กลุ่ม Retail เจ้าแรกที่ให้บริการรับชำระค่าปรับจราจร โดยคิดค่าบริการ 20 บาท/รายการ ซึ่งในอนาคตจะพิจารณาปรับลดค่าบริการและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด

ที่สำคัญที่สุด การเร่งปรับตัวรับสงครามทางการเงินรูปแบบใหม่ ไม่ใช่แค่ช่วงชิงลูกค้าจากคู่แข่ง แต่ยังหมายถึงการเอาตัวรอดจากกระแสออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซที่รุกคืบเข้ามามากขึ้นด้วย

ใส่ความเห็น