วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > เอ็นพีพีจี ดัน A&W-มิยาบิ รุกธุรกิจอาหารบุกตลาดจีน

เอ็นพีพีจี ดัน A&W-มิยาบิ รุกธุรกิจอาหารบุกตลาดจีน

“นิปปอนแพ็ค” ปรับโครงสร้างใหญ่อีกครั้งตั้งแต่หัวขบวน เมื่อบอร์ดบริษัทตัดสินใจดึงผู้บริหารหนุ่มวัยไม่ถึง 40 “ศุภจักร ไตรรัตโนภาส” อดีตที่ปรึกษาทางการเงินบริษัทยักษ์ใหญ่ International investor เข้ามานั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ “เอ็นพีพีจี” ล้างภาพธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง เพื่อลุยธุรกิจอาหารแบบครบวงจร 360 องศา โดยมีบิ๊กแบรนด์อยู่ในมือ ทั้ง A&W มิยาบิ มิสเตอร์โจนส์ และเตรียมเงินก้อนโตกว้านซื้อกิจการร้านอาหารเข้ามาเติมเต็มพอร์ตภายในปีนี้ อย่างน้อยอีก 4 แบรนด์

เป้าหมายใหม่นอกจากการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน หรือ Quick Service Restaurants (QSR) ที่มีไลน์ร้านอาหารทั้งคาว-หวาน ทั้งฟาสต์ฟู้ด อาหารอินเตอร์ อาหารญี่ปุ่น อาหารไทย คือ การรุกตลาดทั้งในประเทศและเร่งขยายฐานสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะบลูโอเชียนอย่าง “จีน”

ศุภจักร ไตรรัตโนภาส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจประเภทอาหารสามารถสร้างอัตรากำไร (มาร์จิน) ที่ดีแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่ธุรกิจแพ็กเกจจิ้งสามารถสร้างรายได้เติบโตแบบทรงตัว เฉลี่ยปีละไม่เกิน 10% โดยปี 2561 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 15-20% จากปี 2560 ที่มีรายได้ประมาณ 1,190 ล้านบาท ตามแนวโน้มธุรกิจอาหารที่เติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากคิดสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจอาหาร 60% และธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก (แพ็กเกจจิ้ง) 40% ซึ่งในอนาคตจะปรับสัดส่วนเป็นธุรกิจอาหาร 80% และแพ็กเกจจิ้งลดลงเหลือ 20% รวมทั้งกำลังศึกษาการแยกธุรกิจแพ็กเกจจิ้งเป็นบริษัทย่อยแห่งใหม่ เพื่อให้เอ็นพีพีจีเป็นฟู้ดคอมปะนีเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าการเปลี่ยนทิศทางของเอ็นพีพีจีเริ่มต้นตั้งแต่ยุคเสี่ยป๊อบ “สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย” ที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท นิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2555

เสี่ยป๊อบใช้เวลากว่า 5 ปี ค่อยๆ ขยายไลน์ธุรกิจใหม่ๆ ให้นิปปอนแพ็คกลายเป็นธุรกิจดาวรุ่ง จากธุรกิจหลักผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ แตกไลน์ลุยธุรกิจสื่อโฆษณา ตั้งบริษัท นิปปอนแพ็คเทรดดิ้ง จำกัด เป็นพันธมิตรร่วมกับบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก ในฐานะผู้บริหารจัดการสื่อโฆษณาภายในร้านค้าปลีก “จิฟฟี่” ทุกแห่งทั่วประเทศ และเริ่มรุกเข้าสู่ธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่หมายมั่นปั้นมือจะสร้างรายได้หลักใกล้เคียงกับกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 50:50

นิปปอนแพ็คยุคนั้นใช้ความเป็นมือเทกโอเวอร์ของเสี่ยป๊อบเข้าซื้อหุ้นบริษัท ไทยลักซ์ ฟู้ดโปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปแช่แข็งและผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานรายใหญ่ในตลาด โดยปัจจุบันผลิตสินค้าป้อนขายในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เช่น ข้าวต้มกุ้ง ข้าวผัดน้ำพริกปลาทู

กระทั่งปี 2558 นิปปอนแพ็คต่อยอดร่วมทุนกับบริษัทไทยลักซ์เปิดตัว เอ็นพีพี ฟู้ด อินคอร์ปอเรชั่น เพื่อลุยธุรกิจร้านอาหารอย่างจริงจัง โดยประเดิม A&W เป็นแบรนด์แรก ในฐานะผู้คว้าสิทธิ์แฟรนไชส์รายใหม่จาก A&W Restaurant Inc พร้อมประกาศลั่นจะแย่งชิงส่วนแบ่งมากกว่า 10% ของตลาด QSR ในเซกเมนต์ เบอร์เกอร์-ไก่ทอด ที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท และขึ้นเป็นเบอร์ 3 ในตลาดที่มีผู้เล่นยักษ์ใหญ่ ทั้งเคเอฟซี แมคโดนัลด์ และเบอร์เกอร์คิง

สำหรับจำนวนสาขาของ A&W เติบโตอย่างรวดเร็วทุกรูปแบบ ทั้งร้านขนาดมาตรฐาน มินิสโตร์ และคีออส ในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งล่าสุดเซ็นเอ็มโอยูจับมือกับค่ายเชลล์ เปิดสาขามินิสโตร์และคีออสในสถานีบริการน้ำมันเชลล์ เพื่อบุกแนวรบจีสโตร์

ปัจจุบัน A&W เปิดสาขาทั่วประเทศรวม 34 แห่ง และจะเปิดครบ 50 แห่งภายในปีนี้ ซึ่งศุภจักรในฐานะผู้รับไม้ต่อจากเสี่ยป๊อบสั่งเร่งขยายสาขาครบ 100 แห่งภายในปี 2562 รับวาระครบรอบ 100 ปี ของแบรนด์ A&W เร็วกว่าเงื่อนไขตามสัญญาแฟรนไชส์ที่กำหนดเปิดสาขาที่ 100 ภายในปี 2563

ส่วนร้านอาหารสไตล์ปิ้งย่าง “มิยาบิ” เปิดแล้ว 3 สาขา และอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการให้ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่นเดียวกับสวีทคาเฟ่ “มิสเตอร์โจนส์” ที่ปิดให้บริการเพื่อปรับปรุงจุดขายและเตรียมเผยโฉมใหม่เร็วๆ นี้ เนื่องจากธุรกิจกลุ่มเบเกอรี่มีการแข่งขันสูงมาก

ศุภจักรกล่าวว่า อีกไม่นานบริษัทจะเปิดตัวแบรนด์ร้านอาหารใหม่ในไทยและกำลังเจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) แบรนด์อาหารไทยอีก 3-4 แบรนด์ เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของกลุ่มชาวจีน เพื่อต่อยอดธุรกิจขายแฟรนไชส์ในประเทศจีนผ่านเครือข่ายสมาคมการทำอาหารแห่งประเทศจีน China Cuisine Association หรือ CCA ซึ่งมีสมาชิกร้านอาหารมากกว่า 2,000 แบรนด์ จำนวนสาขาทั่วประเทศจีน 60,000 กว่าสาขา มีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทชั้นนำ เช่น Cygnet, Ajisen Ramen, Kinghey, Meizhou dongpo group, ETC ถือเป็นผู้ประกอบการด้านอาหารรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

ตามแผนระยะแรกนั้น เอ็นพีพีจีจะนำร่องแบรนด์ร้านอาหารมิยาบิเข้าไปบริการในร้านร่วมกับพันธมิตรร้านอาหารจีน เพื่อปูทางร้านอาหารสไตล์อื่นๆ ทั้งซีฟู้ดและเครื่องดื่ม โดยตั้งเป้าเปิดร้านอาหารในประเทศจีน ปี 2561 จำนวน 50 สาขา มูลค่าการลงทุนเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อสาขา และจะทยอยเปิดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 50 สาขาต่อปี

“จากการศึกษาตลาดอาหารในประเทศจีนมีร้านอาหารสัญชาติไทย อาหารญี่ปุ่น น้อยมาก ซึ่งเป็นโอกาสสร้างการเติบโตได้ โดยเฉพาะการใช้แผนการขาย Master Franchise ในหัวเมืองต่างๆ จะช่วยเรื่องการขยายสาขาและสร้างรายได้ต่อเนื่องจากค่ารอยัลตี้ฟี ซึ่งปีแรกจากเป้าหมายเปิดร้าน 50 สาขา คาดว่าจะทำรายได้ให้บริษัท 50-100 ล้านบาท และพร้อมจะขยายโมเดลแฟรนไชส์ไปเจาะตลาดเกาหลีและญี่ปุ่น” ศุภจักรกล่าว

ก่อนหน้านี้ บริษัทยังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจ (MOU) กับบริษัท ซีพี บีแอนด์เอฟ (ไทยแลนด์) หรือ CP B&F ผู้ดำเนินธุรกิจโรงคั่วเมล็ดกาแฟ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม กาแฟ ขนม ไอศกรีม บิงซู เป็นการเพิ่มออเดอร์สินค้าที่หลากหลายในร้าน A&W และร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ ของเอ็นพีพีจี รวมทั้งการพัฒนาสินค้าอื่นๆ วางจำหน่ายในร้านอาหารของเครือซีพีด้วย

ที่สำคัญ ซีพีมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศจีน ซึ่งสามารถเอื้อประโยชน์ในการเจาะตลาดจีน

นั่นยิ่งทำให้แผนการใหญ่ของเอ็นพีพีจีกำลังเดินหน้าอย่างน่าตื่นเต้นมากขึ้น.

ใส่ความเห็น