วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Life > เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งเมืองสามหมอก

เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งเมืองสามหมอก

ถ้าพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวของเมืองสามหมอก หรือจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชื่อว่าสถานที่แรกๆ ที่ผุดขึ้นในใจของหลายๆ คน คงหนีไม่พ้น “ปาย” อำเภอเล็กๆ ที่แสนมีเสน่ห์ หรือการชมวิวสายหมอกซึมซับธรรมชาติตามดอยต่างๆ

ที่จริงแล้วแม่ฮ่องสอนยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดวาอารามที่กระจายตัวอยู่ในอำเภอเมือง ที่มิใช่เป็นเพียงศาสนสถานเท่านั้น แต่ยังสะท้อนแรงศรัทธาอันแรงกล้าในพุทธศาสนาของเหล่าคหบดีไทใหญ่ที่อพยพมาตั้งรกรากที่แม่ฮ่องสอน และร่ำรวยจากการค้าไม้สักซึ่งมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

ชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่ “วัดพระธาตุดอยกองมู”
“กองมู” เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า เจดีย์ เดิมที่วัดพระธาตุดอยกองมู มีชื่อเรียกว่าวัดปลายดอย เป็นพระธาตุเจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่บนเนินเขาที่ไม่ไกลจากตัวอำเภอมากนัก และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามไม่แพ้ใคร

บริเวณวัดประกอบด้วย พระธาตุองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบมอญ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2403 โดยนายจองต่องสู่และภรรยา ภายในพระเจดีย์บรรจุพระธาตุของพระมหาโมคคัลลานะเถระ ที่พระอู่ปั่นเต้กต๊ะ ชาวเมืองตองกี ประเทศพม่า ได้นำมาจากเมืองมะละแหม่ง อีกทั้งยังมีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากเมืองมะละแหม่งมาประดิษฐานรอบๆ องค์พระธาตุ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวในพุทธประวัติตอน “สัตตมหาสถาน” ที่แสดงถึงสถานที่สำคัญทั้ง 7 แห่ง ภายหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอีกด้วย

พระธาตุองค์เล็ก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2417 เพื่อเป็นการฉลองและเป็นอนุสรณ์ของพญาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองคนแรกของแม่ฮ่องสอน โดยบรรจุพระธาตุของพระสารีบุตรเถระ ที่พระอู่เอ่งต๊ะก๊ะ นำมาจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า องค์พระธาตุเป็นแบบเจดีย์พม่า โดยฝีมือช่างชาวไทใหญ่

“วัดหัวเวียง”
สร้างขึ้นราวๆ พ.ศ. 2406 ตั้งอยู่กลางเมืองแม่ฮ่องสอน ชาวบ้านเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดกลางเวียง” ไฮไลท์สำคัญของวัดหัวเวียงคือ “วิหารพระเจ้าพาราละแข่ง” เป็นวิหารไม้ทรงปราสาท หลังคาซ้อนชั้นตามศิลปะแบบไทใหญ่ ประดับปานซอยหรือลวดลายฉลุบนโลหะ ซึ่งเป็นของหายากและราคาสูงที่นำเข้ามาจากเมืองมะละแหม่ง

วิหารดังกล่าวเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าพาราละแข่ง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแม่ฮ่องสอน โดยจำลองแบบมาจากพระมหามัยมุนีของพม่า มีความโดดเด่นด้วยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบพม่า หล่อด้วยทองเหลืองเป็นท่อนๆ ทั้งหมด 9 ท่อน น้ำหนักรวม 999 กิโลกรัม โดยมี “ลุงจองโพหย่า” เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญพระเจ้าพาราละแข่งล่องมาตามแม่น้ำสาละวิน เข้าสู่แม่น้ำปาย และนำมาประกอบเป็นองค์พระที่วัดพระนอน จากนั้นจึงย้ายมาประดิษฐานที่วัดหัวเวียง โดยจะมีประเพณีล้างพระพักตร์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ตามความเชื่อว่าพระพุทธเจ้ายังมีลมหายใจ

“วัดพระนอน”
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2418 โดยพระยาสิงหนาทราชา ชาวไทใหญ่ เจ้าเมืององค์แรกของแม่ฮ่องสอน วัดพระนอนเป็นที่ประดิษฐานพระนอน หรือ พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สุดของจังหวัด ด้วยความยาว 11.80 เมตร เป็นศิลปะแบบไทใหญ่ที่มีพุทธลักษณะที่งดงาม เป็นงานก่ออิฐถือปูนและทาสี เป็นพระไสยาสน์แบบสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงขวาในลักษณะของราชสีห์ พระบาทเหลื่อมกัน ครองจีวรห่มเฉียงและเป็นริ้วแบบธรรมชาติ

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจภายในวัดคือ “พิพิธภัณฑ์เจ้าคุณโสภณสามัคคีนุสรณ์” ซึ่งเป็นที่เก็บสะสมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจำนวนมาก ทั้งพระพุทธรูป คัมภีร์โบราณ ถ้วยโถโอชาม รวมถึงของใช้ของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ในจำนวนวัตถุโบราณของสะสมที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้น สิ่งที่น่าสังเกตและน่าสนใจเป็นพิเศษที่สามารถเล่าเรื่องราวและความเป็นมาของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ และอาจถือว่าเป็นจุดกำเนิดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เลยก็ว่าได้ นั่นคือ “พระบัวเข็ม” ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เจ้าอาวาสวัดพระนอนเล่าถึงความเป็นมาว่า การสะสมพระบัวเข็มเหล่านี้เริ่มมาจากการที่ชาวไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนแถบนี้ ได้นำพระดังกล่าวติดตัวมาด้วย และได้นำมาถวายวัด เมื่อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจึงได้มีการสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์

“สิงห์คู่เมืองแม่ฮ่องสอน”
สิงห์คู่เมืองแม่ฮ่องสอน เรียกว่า ส่างซี่ ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นวัดพระธาตุดอยกองมู ที่อยู่ด้านหลังของวัดพระนอน สร้างโดยเจ้านางเมี้ยะ เจ้าเมืองคนที่ 2 ของแม่ฮ่องสอน ราวๆ พ.ศ. 2430 บริเวณหลังรูปปั้นสิงห์คู่มีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจคือ “กู่” หรือเจดีย์น้อยที่บรรจุอัฐิของเจ้าเมืององค์ที่ 1 และ 2 เป็นศิลปะแบบไทใหญ่ คาดว่าสร้างหลัง พ.ศ. 2450

“วัดจองคำ” (พระอารามหลวง)
วัดจองคำเป็นวัดที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในแม่ฮ่องสอน จากหลักฐานแผ่นเงินที่ขุดได้บริเวณหลุมเสาเดิมของวัดระบุว่าสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2370 โดยพญาสิงหนาทราชา แต่ในขณะที่หนังสือบางเล่มกล่าวว่า วัดจองคำอาจเป็นวัดที่มีมาก่อนการตั้งเมืองแม่ฮ่องสอน และหลังจากตั้งเมืองแล้ว พญาสิงหนาทราชาได้มาสร้างใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ราวๆ พ.ศ. 2475-2479 ช่างสล่าโพโต่ง เตชะโกเมนต์ ได้สร้างวิหารแบบตรีมุขตามแบบศิลปะไทใหญ่ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปพม่าที่มีขนาดใหญ่เทียบเท่าพระศรีศากยมุนี ในวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม ที่กรุงเทพฯ

“ศาลาท่าโป่งแดง” ร่องรอยการค้าไม้ในอดีต
อาคารทรงปั้นหยาเก่าแก่ริมน้ำปาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2372 โดยบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา ผู้ได้รับสัมปทานไม้สักในสมัยนั้น โดยจ้างชาวไทใหญ่ให้สร้างท่าเรือนี้ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่ทำการค้าไม้สักที่อังกฤษผู้ได้สัมปทานค้าไม้ระหว่างไทยกับพม่า โดยใช้ช้างลากไม้สักเพื่อล่องตามแม่น้ำปาย อีกทั้งยังใช้เป็นที่พักสินค้า ที่ทำการค้าขายกับพม่าโดยใช้เรือถ่อล่องตามลำน้ำปายถึงแม่น้ำสาละวิน (แม่น้ำคงในอดีต)

ภายหลังสิ้นสุดสัมปทานการทำไม้ อาคารแห่งนี้ได้กลายเป็นวัด โรงเรียน และศาลาที่พักสำหรับผู้คนในชุมชนบ้านท่าโป่งแดงและผู้คนที่สัญจรไปมา เพื่อค้าขายระหว่างแม่ฮ่องสอน-พม่า

แต่เมื่อผู้คนหันไปใช้ถนนเป็นเส้นทางสัญจร ส่งผลให้ศาลาแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไปและทรุดโทรมอย่างมาก โยธาธิการจังหวัดจึงเข้ามาช่วยบูรณะและอนุรักษ์อาคารในปี 2541 จากนั้นได้โอนทรัพย์สินให้ อบต. ผาบ่องรับผิดชอบดูแล และถูกใช้เป็นสถานที่ทำพิธีสืบชะตาตามความเชื่อ ศาสนา และประเพณีของคนในหมู่บ้าน

หากมีโอกาสไปเยือนแม่ฮ่องสอนคราวหน้า นอกจากไปชมความงามของธรรมชาติแล้ว ลองไปสัมผัสและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจ เพื่อเป็นอีกหนึ่งสีสันในการท่องเที่ยว เพราะแม่ฮ่องสอนยังมีวัดวาอารามและสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่รอให้เราเข้าไปทำความรู้จักและศึกษาหาความรู้อีกมาก.

ใส่ความเห็น