วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจไทยปี 2562 ถึงเวลาเชือดไก่ ต้มหมู เซ่นสังเวย?

เศรษฐกิจไทยปี 2562 ถึงเวลาเชือดไก่ ต้มหมู เซ่นสังเวย?

ท่ามกลางบรรยากาศของการรณรงค์หาเสียงในมหกรรมการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยหลายฝ่ายประเมินว่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยฟื้นความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายของภาคประชาชนและการลงทุนของภาคธุรกิจในระยะถัดไป

หากแต่ในอีกด้านหนึ่งของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่สะท้อนผ่านการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา อาจให้ภาพที่สะท้อนถึงสภาพตลาดโดยรวมที่ถูกกดดันจากความกังวลของประชาชนต่อกำลังซื้อ ทั้งจากผลกระทบที่ได้รับจากฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ทำให้พวกเขามีภาระในการดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 นี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมเป็นมูลค่าสูงถึง 8,000-10,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ความคึกคักของเทศกาลตรุษจีนที่ถดถอยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งได้รับการประเมินว่าเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนประพฤติกรรมของคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ ที่ไม่เคร่งครัดกับแบบแผนประเพณีเหมือนคนรุ่นก่อน แต่ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มิติมุมมองต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เน้นกิจกรรมประหยัด และระมัดระวังในการจับจ่ายมากขึ้น เพราะต่างตระหนักว่ากำลังซื้อในแต่ละปีไม่ได้เพิ่มขึ้น จากผลของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ต่อเนื่องยาวนาน

กรณีดังกล่าวเห็นได้ชัดจากกลุ่มประชากรที่มีรายได้ปานกลางถึงระดับล่าง ซึ่งอ่อนไหวต่อปัจจัยด้านกำลังซื้อ ที่พร้อมปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนของกิจกรรมบางอย่างที่ทำได้ และเน้นความประหยัด ทั้งการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ การแจกเงินแต๊ะเอีย รวมถึงการทำบุญ ท่องเที่ยว ขณะที่เครื่องเซ่นไหว้ โดยเฉพาะกระดาษไหว้เจ้า กลายเป็นส่วนประกอบที่ถูกลดทอนลงมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมจากเหตุของการตื่นตัวเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อีกด้วย

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ปริมาณเม็ดเงินใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2562 ที่ผ่านมา ได้รับการประเมินว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระดับร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (YoY) หากแต่เมื่อประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะที่ยาวออกไปหลายฝ่ายก็ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ในระดับร้อยละ 3.6-3.8 ซึ่งเป็นการเติบโตแบบชะลอตัวจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย

ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ได้รับการประเมินว่าส่วนหนึ่งจะมาจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐวงเงิน 38,730 ล้านบาท ที่เริ่มทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มประชาชนฐานราก

ขณะที่การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากการเบิกจ่ายงบลงทุนตามงบประมาณประจำปี 2562 โดยเฉพาะโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่หลายโครงการมีความคืบหน้าได้รับการอนุมัติการลงทุนแล้วและคาดว่าจะเร่งก่อสร้างในปี 2562 ได้รับการประเมินว่าจะเป็นกลไกช่วยหนุนนำการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระยะจากนี้ได้ไม่ยาก

กระนั้นก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ย่อมมิได้ดำเนินไปท่ามกลางปัจจัยบวกโดยลำพัง หากยังเต็มไปด้วยความท้าทายและปัจจัยลบที่พร้อมจะฉุดรั้งพัฒนาการแห่งการเติบโตให้ชะลอตัวหรือแม้กระทั่งทรุดต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงอย่างสำคัญของภาพรวมเศรษฐกิจไทยอันดับแรกอยู่ที่ผลกระทบว่าด้วยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระดับโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ที่อาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจเลี่ยง ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ ไม่เฉพาะจากกรณีที่เป็นโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น หากยังเป็นผลด้านกระบวนการของระบบราชการที่ดำรงอยู่อย่างเนิ่นนานอีกด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจติดตามนับจากนี้ในด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าผูกพันอยู่กับทิศทางทางการเมืองในช่วงเวลานับจากนี้ไปถึงการประกาศผลเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งคาดว่ากว่าจะปรากฏภาพที่ชัดเจนขึ้น ก็ต้องอาศัยเวลาที่ทอดยาวไปสู่ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนหรือผ่านพ้นครึ่งปีแรกของปี 2562 ไปแล้ว

กรณีเช่นว่านี้ ทำให้ภารกิจหลักอันดับต้นๆ ของรัฐบาลชุดใหม่อยู่ที่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน ควบคู่กับการผลิตสร้างและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะเริ่มมีผลต่อสังคมไทยได้ก็ต้องใช้เวลาเนิ่นนานไปสู่ช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีเลยทีเดียว

ภาวะสุญญากาศในการกำหนดทิศทางและกระตุ้นเร้าพลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สังคมไทยกำลังจะเผชิญในช่วงเวลานับจากนี้ไปจนถึงเมื่อมีการจัดตั้งและแถลงนโยบายของคณะรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างในเดือนมิถุนายน จึงนับเป็นห้วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงและล่อแหลมอย่างยิ่งต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมโลกที่ดำเนินไปด้วยพลวัตและอัตราเร่งคำกล่าวที่ว่า “วิกฤตประกอบขึ้นจากความจริงที่ว่าสิ่งเก่ากำลังจะสิ้นอายุขัย โดยที่สิ่งใหม่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้” ดูจะเป็นข้อเท็จจริงที่สังคมไทยจะต้องเผชิญ เมื่อรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังจะสิ้นสุดลงจากผลของกระบวนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่รัฐบาลใหม่ก็ยังไม่สามารถก่อรูปหรือกำหนดรูปการณ์จิตสำนึกในการขับเคลื่อนสังคมได้อย่างเต็มกำลัง ดูจะเป็นข้อน่ากังวลไม่น้อยในห้วงเวลานับจากนี้

เศรษฐกิจไทยซึ่งวางน้ำหนักไว้ที่การพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนตัวเลขทางเศรษฐกิจมหภาคผ่านการประเมิน GDP ซึ่งก่อให้เกิดภาพลวงตาและมายาคติที่ห่มคลุมสังคมไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้การคาดหมายว่าเศรษฐกิจปี 2562 จะดำเนินไปในทิศทางบวกและเป็น “ปีหมูทองแห่งความเรืองรอง” อาจไม่ได้สดใสอย่างที่หลายฝ่ายประเมินไว้

ข้อเท็จจริงแห่งความเป็นไปทั้งในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาเผชิญหน้าในขณะนี้จึงเป็นประหนึ่งความท้าทายและบททดสอบศักยภาพความสามารถและวุฒิภาวะของสังคมไทยว่าจะก้าวข้ามผ่านพ้นไปสู่แสงสว่างได้ด้วยวิถีความคิดอย่างไร

หรือปี 2562 จะกลายเป็นอีกปีหนึ่งที่สังคมไทยต้องเชือดไก่ ต้มหมู เพื่อเซ่นสังเวย สำหรับการก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ใส่ความเห็น