วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจโลกทรุด ต้นเหตุส่งออกไทยติดลบ?

เศรษฐกิจโลกทรุด ต้นเหตุส่งออกไทยติดลบ?

ดูเหมือนว่าฟันเฟืองตัวสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทยยากที่จะเข็นขึ้นเสียแล้ว เมื่อการวาดหวังว่าห้วงเวลาสุดท้ายของปี สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยอาจจะกระเตื้องขึ้นบ้าง

จะเห็นได้จากบรรยากาศสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เวลานี้ที่คลื่นลมสงบ นั่นเพราะทั้งสองฝ่ายต่างเห็นว่าการฟาดฟันกันด้วยกลยุทธ์ทางภาษีอาจไม่ใช่หนทางที่ดี และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทั้งสองฝ่ายต่างพยายามหาทางออกที่เหมาะสม

การเว้นวรรคจากการห้ำหั่นกันของสองชาติมหาอำนาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศดีขึ้นเท่าใดนัก เมื่อหลายประเทศกำลังประสบกับสภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ หลายประเทศต้องออกมาตรการและนโยบายด้านการเงินและการคลัง โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นชีพจรให้เครื่องจักรเศรษฐกิจทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อลองพิจารณาชาติมหาอำนาจอย่างจีนที่มีอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าประสงค์ของรัฐบาลจีน นั่นเพราะปัจจัยทั้งภายในประเทศที่ทำให้ทางการจีนต้องออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง

ทว่า คงไม่ใช่แค่ประชากรในประเทศจีนเท่านั้นที่จะต้องติดตามว่ามาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลจีนนำออกมาใช้จะเพียงพอให้เศรษฐกิจจีนหลุดพ้นจากภาวะชะงักงันได้หรือไม่ เมื่อยังมีความเสี่ยงภาคการเงินจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งนั่นทำให้จีนต้องระวังที่จะใช้นโยบายทางการเงินมากพอสมควร

ขณะที่ไทยเองยังต้องติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีน นั่นเพราะจีนถือว่าเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูง ทำให้การส่งออกเชิงดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ติดลบ 2.0 เปอร์เซ็นต์ แต่ในรูปเงินบาทหดตัวติดลบ 2.43 เปอร์เซ็นต์

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกมาคาดการณ์ว่าในไตรมาส 4/2562 ทางการจีนน่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้นโยบายการคลัง ส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีนในไตรมาส 4/2562 น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.0 และทั้งปี 2562 เศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตที่ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลง และในปี 2563 จะชะลอตัวต่ำลงกว่าในปีนี้ โดยอาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 6

ซึ่ง IMF ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเหลือ 5.8 แล้วในปีหน้า โดยความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อและประสิทธิผลในการดำเนินนโยบายแบบขยายตัวของทางการจีนที่น่าจะมีจำกัดมากขึ้นจะเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

แม้สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ แต่การที่ยังไม่มีสัญญาณว่าทั้งสองประเทศจะประกาศการเรียกเก็บอัตราภาษีใหม่ระหว่างกัน น่าจะทำให้ประเทศคู่ค้าเบาใจขึ้นมาได้บ้างในเวลานี้

กระนั้นแม้การลดราวาศอกกันของสองประเทศยังไม่ช่วยให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักและปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกได้เลย เพราะนอกจากอิทธิพลจากสงครามการค้าที่จะส่งผลต่อการส่งออกของไทยแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นตัวฉุดให้สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยย่ำแย่ลง

ทั้งสถานการณ์ Brexit ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงข้อตกลง FTA ทุกมูลเหตุที่กล่าวมาล้วนแต่ส่งผลให้จังหวะเวลาที่ไทยจะฟื้นตัวจากสถานการณ์อันยากลำบากนี้เป็นไปได้ยากมากขึ้น

และเป็นที่รู้กันดีว่า ภาคการส่งออกเป็นเสมือนตัวเอกหลักที่จะทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปได้ กลายเป็นว่าเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ยังคงย่ำอยู่ที่เดิม แม้สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือนโยบายทางการเงินที่รัฐหวังใจว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจหนีพ้นสภาพการชะลอตัวนี้พ้นเสียที

กระนั้นต้องยอมรับว่า ไม่ว่ารัฐไทยจะพยายามอย่างเต็มกำลังแค่ไหน หรือมีนโยบายมากมายเพียงใดที่จะกระตุ้นชีพทางเศรษฐกิจ ก็ยังเป็นเรื่องยาก เมื่อเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาและรอรับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก

ข้อมูลตัวเลขการส่งออกของไทยจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ที่เปิดเผยโดย พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. ว่า การส่งออกของไทยในเดือนกันยายนที่ผ่านมามีมูลค่า 20,481 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,206 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.2 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้การค้าไทยเกินดุล 1,275 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออก 3 ไตรมาสแรกมีมูลค่า 186,572 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.1 เปอร์เซ็นต์ การนำเข้ามีมูลค่า 179,191 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.7 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ไทยมีการค้าเกินดุล 7,381 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วงเดือนกันยายนจะลดลง หากแต่ภาพรวมการส่งออกของไทยเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น และมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น สนค. คาดการณ์ว่าทั้งปีการส่งออกของไทยจะติดลบอยู่ที่ 1 ถึง 0.1 เปอร์เซ็นต์

และหากความคาดหวังที่จะให้การส่งออกของไทยทั้งปีอยู่ที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ การส่งออกจากนี้อีก 3 เดือน ตัวเลขการส่งออกของไทยเฉลี่ยต่อเดือนควรอยู่ที่ 20,821 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในปี 2563 จะอยู่ที่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ เพราะผลจากนโยบายการผลักดันการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขอีกข้อที่อาจจะช่วยแก้ไขสถานการณ์การส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวดีขึ้น คือเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะสินค้าส่งออกด้านการเกษตร

ล่าสุด วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้ให้เห็นถึงแผนการทำงานเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ โดยหวังว่าจะเร่งขยายตลาดให้กับสินค้าเกษตรของไทยได้ ด้วยการใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าเสรี หรือ FTA เพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง ซึ่งมี FTA กับไทย ทั้งนี้สินค้าส่วนใหญ่อยู่ในหมวดสินค้าเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ ยางพารา มันสำปะหลัง เนื้อสัตว์ สินค้าประมง

ขณะที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศขานรับนโยบายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่จะสร้างแต้มต่อในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ด้วยการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ที่ไทยทำกับ 18 ประเทศ 13 ฉบับในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อประเทศคู่ค้า FTA ยกเลิกหรือลดภาษีศุลกากรที่เก็บจากไทยแล้ว นั่นจะทำให้ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งที่ไม่มี FTA กับประเทศที่ไทยส่งออก

ทั้งนี้ประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีทั้ง 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ คือ อาเซียน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี เปรู ชิลี และฮ่องกง นี่อาจเป็นเหตุผลให้สินค้าเกษตรของไทยมีอัตราการขยายตัวในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนของปีนี้ ซึ่งสวนกระแสการหดตัวของตัวเลขการส่งออก

แม้ตัวเลขการส่งออกในเดือนกันยายนจะหดตัวลง ทว่า ก็เป็นตัวเลขที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์เอาไว้แล้ว เมื่อเศรษฐกิจโลกดูจะเป็นตัวแปรสำคัญ และการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรมีทิศทางตรงกันข้ามกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพราะศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรหลักอย่าง ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังคงหดตัวสูงบนเลขสองหลัก ทำให้เป็นแรงฉุดต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าไทย

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกันยายน กลับมาเป็นบวกที่ร้อยละ 0.2 จากแรงหนุนของการส่งออกยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการส่งออกทองคำที่ขยายตัวดี ซึ่งเมื่อหักมูลค่าการส่งออกทองคำแล้ว การส่งออกสินค้าไทยหดตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า

โดยในเดือนกันยายน 2562 ดุลการค้าจากทองคำขาดดุลในรอบ 4 เดือน โดยมีการขาดดุลทองคำที่มูลค่า 199.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้ารวมในเดือนกันยายน เกินดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยเรื่องทองคำดังกล่าวเป็นการลดทอนแรงกดดันที่มีต่อการแข็งค่าของเงินบาทในเดือนกันยายนนี้

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ไว้ที่กรอบประมาณการร้อยละ -2.0 ถึงร้อยละ 0.0 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 การส่งออกสินค้าของไทยน่าจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ จากอานิสงส์ของฐานที่ต่ำในปีก่อนหลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในรอบก่อนหน้า ประกอบกับสหรัฐฯ และจีนน่าจะมีการเร่งนำเข้าสินค้าอีกระลอกก่อนมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันในวันที่ 15 ธันวาคม 2562

ดูเหมือนว่าภาคการส่งออกของไทยคงจะต้องฝากความหวังไว้ที่การใช้ประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และการเร่งนำเข้าสินค้าของประเทศที่กำลังทำสงครามการค้ากันอยู่ในขณะนี้ เมื่อทิศทางเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้ยังหากระแสลมบวกแทบไม่เจอ

ใส่ความเห็น