วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Life > เยียวยาจิตใจด้วย Kitchen Therapy เมื่อการเข้าครัว ไม่เพียงทำให้ท้องอิ่ม

เยียวยาจิตใจด้วย Kitchen Therapy เมื่อการเข้าครัว ไม่เพียงทำให้ท้องอิ่ม

ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า สภาพการณ์ปัจจุบันทำให้เราอยู่ในสภาวะ “จิตตก” ได้ง่ายๆ ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ต้องนั่งลุ้นกันทุกวัน สภาพเศรษฐกิจที่ดูน่าเป็นห่วง ประกอบกับการที่ต้องอยู่กับบ้านนานๆ ล้วนแล้วแต่ทำให้สภาพจิตใจเราย่ำแย่ไปตามๆ กัน

หลายคนจึงต้องหาวิธีปลอบประโลมจิตใจ ควบคู่กับหาวิธีป้องกันตัวเองจากโรคระบาดทางกาย บางคนเลือกที่จะปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เลี้ยงสัตว์ หรือออกกำลังกายเพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจ แต่บางคนก็เลือกที่จะใช้การเข้าครัว ทำอาหาร อบขนม เป็นการผ่อนคลายแทน เห็นได้จากกระแสหม้อทอดไร้น้ำมันพร้อมเมนูสร้างสรรค์ต่างๆ ที่อวดโฉมอยู่บนโซเชียลมีเดีย

แต่การทำอาหารที่บางคนเลือกใช้เป็นวิธีผ่อนคลายหรือเป็นงานบ้านที่ต้องทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันของใครอีกหลายๆ คนนั้น กลับส่งผลดีต่ออารมณ์และจิตใจได้มากกว่าที่เราคิด และยังเป็นหนึ่งในวิธีการบำบัดปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม รวมถึงสภาวะซึมเศร้า ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในชื่อ “การบำบัดด้วยการทำอาหาร” หรือ Kitchen Therapy

การศึกษาทางจิตวิทยาในหัวข้อ “Everyday creative activity as a path to flourishing” ของ แทมลิน คอนเนอร์ (Tamlin S. Conner) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโอทาโก (University of Otago) ในนิวซีแลนด์ ระบุว่า คนที่ได้ทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ จะมีความรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น

โดยการศึกษาดังกล่าวได้ทำการติดตามชีวิตประจำวันของกลุ่มผู้เข้าร่วมทดลองจำนวน 658 คน โดยผู้เข้าร่วมทดลองต้องจดบันทึกประจำวันว่าในแต่ละวันทำอะไรบ้าง รวมถึงสภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่ได้ทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างสรรค์ในแต่ละวัน เช่น การทำอาหาร การอบขนม จะมีความกระตือรือร้นและมีความสุขมากขึ้น

นักจิตวิทยาสรุปว่าการได้ทำงานเล็กๆ แต่สร้างสรรค์และจดจ่ออยู่กับงานนั้นๆ อย่างการทำอาหารหรืออบขนม จะส่งผลทางบวกต่อสภาวะอารมณ์และจิตใจ ซึ่งการเข้าครัวทำอาหารช่วยส่งผลดีต่อจิตใจและร่างกายอย่างไรบ้างนั้น เรารวบรวมมาให้ดังนี้

1. การทำอาหารช่วยให้เรามีสมาธิ ลดความเครียด และความวิตกกังวล การจดจ่อกับขั้นตอนต่างๆ ในการทำอาหาร ตั้งแต่ศึกษาวิธีการทำ เลือกหาและจัดเตรียมวัตถุดิบ หั่น ชั่ง ตวง จนถึงขณะกำลังปรุงอาหาร คุมไฟ ชิมรส ล้วนเป็นการดึงความสนใจให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ทำให้มีสติ แทนที่จะไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ หรือกังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง

2. ช่วยให้สุขภาพดี บางครั้งการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านอาจยากที่เราจะควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบและคุณค่าทางโภชนาการ แต่การทำอาหารเองทำให้เราสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ ตลอดจนควบคุมขั้นตอนต่างๆ ได้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นจึงมั่นใจได้ทั้งคุณภาพและความสะอาด

3. ประโยชน์ทางกายภาพ กระบวนการทำอาหารทำให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการหั่น จับตะหลิว ยกกระทะ เก็บล้าง กล้ามเนื้อต่างๆ ตั้งแต่มือ แขน ไหล่ คอ ได้เคลื่อนไหว ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ อีกทั้งยังเป็นการฝึกประสาทสัมผัสและความระมัดระวังขณะที่ใช้ไฟและของมีคมอีกด้วย

4. สร้างความภูมิใจในตัวเอง การทำอาหารหรือขนมแต่ละอย่างต้องผ่านหลายขั้นหลายตอน ต้องใช้ทั้งเวลาและความตั้งใจเป็นสำคัญ เมื่อสำเร็จออกมา เราย่อมภูมิใจในผลงานของตัวเอง แม้ว่าอาจจะไม่ใช่อาหารที่อร่อยที่สุดก็ตาม แต่เราจะรู้สึกอร่อยเป็นพิเศษเพราะมาจากฝีมือตัวเอง และถ้ายิ่งได้รับคำชมจากผู้ที่ได้ลิ้มลองอาหารฝีมือเราด้วยแล้ว ยิ่งทำให้หัวใจพองโตมากขึ้นไปอีก

5. ฝึกความคิดสร้างสรรค์ การทำอาหารก็เหมือนงานศิลปะ เติมนู่นนิด นี่หน่อย เพื่อปรับให้ได้รสชาติในแบบที่เราต้องการ หรือลองทำเมนูใหม่ๆ ปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ ล้วนเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ยิ่งถ้าเข้าครัวบ่อยๆ แน่นอนว่าทักษะการทำอาหารจะยิ่งพัฒนาไปโดยอัตโนมัติ จากจานแรกๆ ที่อาจจะไม่เข้าที่ ฝึกไปเรื่อยๆ อาจจะกลายเป็นเมนูเด่นของเราไปเลยก็ได้

อีกทั้งการทำอาหารคือการเรียนรู้ ได้ลองผิดลองถูก การยอมรับความผิดพลาดและพยายามแก้ไขปัญหาที่พบ ล้วนเป็นทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นๆ ได้อีกด้วย

6. ช่วยกระชับความสัมพันธ์ การได้ทำอาหารกับครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ กระตุ้นทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างกัน ได้เรียนรู้ความชอบหรือไม่ชอบของแต่ละคน รวมถึงการได้นั่งร่วมโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมกัน ล้วนช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันได้ จากการวิจัยยังพบด้วยว่า คู่รักที่ทำอาหารด้วยกันเป็นประจำ พบอัตราการหย่าร้างที่น้อยกว่าคู่รักที่ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านอยู่เป็นประจำ เพราะขั้นตอนในการทำอาหารนั้นทำให้รู้และเข้าใจอีกฝ่ายมากยิ่งขึ้น

ภาวะซึมเศร้า บำบัดได้ด้วยการทำอาหาร
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า การทำอาหารถูกใช้เป็นหนึ่งในวิธีการบำบัดภาวะซึมเศร้าและแก้ปัญหาทางพฤติกรรมวิธีหนึ่งอีกด้วย

นอร์แมน ซัสแมน (Norman Sussman) นักจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU School of Medicine) อธิบายว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ออกกำลังกาย หรือออกแรงให้ได้เหงื่อ ซึ่งการทำอาหารนั้นเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกในทำนองเดียวกัน ช่วยหลีกเลี่ยงภาวะซึมเศร้า เช่น ความเฉื่อย ขาดการโฟกัส ขาดความสนใจ และช่วยสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในจิตใจ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้

อย่างในกรณีของ จอห์น ไวท์ (John White) ผู้ชนะในรายการ “The Great British Bake Off” เมื่อปี 2012 ที่ยอมรับว่าการอบขนมช่วยให้เขารับมือกับภาวะซึมเศร้าของตนเองได้เป็นอย่างดี จอห์นได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่การอบขนมสามารถช่วยให้เขามีสมาธิ จดจ่ออยู่กับงานที่อยู่ตรงหน้า การชั่ง ตวง วัด ปริมาณของส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นแป้ง น้ำตาล หรือเนย ล้วนสร้างผลเชิงบวกต่อภาวะซึมเศร้าของเขาทั้งสิ้น

หรืออย่างสถานสงเคราะห์เพื่อเด็กพิการ “บ้านคามิลเลียน” ซึ่งใช้การทำอาหารเป็นหนึ่งในกิจกรรมบำบัดสำหรับเด็กๆ โดยจะให้เด็กได้ฝึกทำอาหารไปด้วยกัน เรียนเกี่ยวกับอาหาร ประโยชน์ทางโภชนาการ ลองรสชาติใหม่ๆ และรับประทานอาหารที่เขาทำร่วมกัน

ทำให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ได้ใช้นิ้ว มือ ข้อมือ ศอก ไหล่ รวมถึงฝึกการทรงตัวขณะทำอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นการที่เด็กมีโอกาสใช้ของมีคม ของร้อน ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด ยังเป็นการเพิ่มความตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยและการทำงานของประสาทสัมผัสให้เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

ดังนั้นการเข้าครัวทำอาหารจึงไม่ใช่แค่การเดินเข้าครัว ทำอาหารเพื่อรับประทานและทำให้ท้องอิ่มเท่านั้น แต่ยังเป็นการให้อาหารทางใจ สร้างความแข็งแรงให้กับจิตใจของเราไปด้วยเช่นกัน

ในวันแย่ๆ จิตตก หรือรู้สึกเครียด ลองคว้าผ้ากันเปื้อนแล้วเดินเข้าครัว เปิดตู้เย็นหยิบวัตถุดิบที่มีมาวาง แล้วจินตนาการว่า วันนี้เราจะสร้างสรรค์เมนูอร่อยๆ อะไรกันดี นอกจากจะคลายเครียดแล้ว ไม่แน่อาจจะได้อาหารจานเด่นแบบที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ใส่ความเห็น