วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > New&Trend > เมอร์เซอร์ เผยผลสำรวจค่าครองชีพประจำปีครั้งที่ 25 ชี้เมืองในเอเชียมีค่าครองชีพสูงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ

เมอร์เซอร์ เผยผลสำรวจค่าครองชีพประจำปีครั้งที่ 25 ชี้เมืองในเอเชียมีค่าครองชีพสูงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ

องค์กรข้ามชาติต่างมุ่งวางกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคลด้วยการโยกย้ายพนักงานไปประจำในต่างประเทศ เพื่อผลักดันความก้าวหน้าในสายอาชีพและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระดับโลก

– กรุงเทพฯ มีค่าครองชีพสูงติดอันดับที่ 40 ของโลก

– ฮ่องกงยังคงครองตำแหน่งเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก

– 8 ใน 10 เมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกอยู่ในเอเชีย

เมอร์เซอร์ เผยผลการสำรวจอัตราค่าครองชีพประจำปีครั้งที่ 25 พบว่าในการจัดอันดับ 10 เมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 8 เมืองจาก 10 เมืองอยู่ในเอเชีย ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น และราคาที่อยู่อาศัยที่มีการผันผวนอย่างต่อเนื่อง

ฮ่องกง ยังคงครองตำแหน่งเมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ซึ่งเป็นผลจากราคาที่อยู่อาศัยที่สูงเกินเอื้อม สำหรับเมืองอื่น ๆ ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ โตเกียว (2) สิงคโปร์ (3) โซล (4) ซูริค (5) เซี่ยงไฮ้ (6) อาชกาบัต (7) ปักกิ่ง (8) นิวยอร์ก (9) และเซินเจิ้น (10) โดยเมืองอาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน เป็นเมืองที่มีการไต่อันดับขึ้นมากที่สุด จากอันดับที่ 43 ในปี 2561 สู่อันดับที่ 36 ในปี 2562 เนื่องจากการขาดแคลนสกุลเงินและราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนอันดับที่สูงขึ้นของกรุงเทพฯ นั้น ผลสำรวจพบว่ามีสาเหตุมาจากการย้ายถิ่นฐานของผู้อยู่อาศัยจากเมืองอื่น ๆ และผลของการเติบโตด้านเศรษฐกิจ โดยมีผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงินและภาวะเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นายมาริโอ้ เฟอราโร่ ผู้อำนวยการด้าน Global Mobility Practice ประจำภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาของเมอร์เซอร์ กล่าวว่าเอเชียยังคงเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก “แม้เมืองในเอเชียจะมีอัตราค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง แต่หลายองค์กรก็ยังคงเล็งเห็นความจำเป็นทางธุรกิจในการโยกย้ายพนักงานไปประจำในภูมิภาคนี้ องค์กรต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่าย รวมทั้งการระบุเหตุผลทางธุรกิจที่ชัดเจนในการมอบหมายงาน และการวัดผลค่าตอบแทนจากการลงทุน”

การจัดอันดับอัตราค่าครองชีพของเมอร์เซอร์ในปีนี้เป็นการเก็บข้อมูลจาก 20 เมืองใน 5 ทวีปทั่วโลก โดยวัดจากการเปรียบเทียบราคาของ 200 รายการในแต่ละเมือง ภายใต้หมวดหมู่ที่อยู่อาศัย การเดินทาง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในบ้าน และความบันเทิง

ผลการสำรวจยังพบว่าในเมืองใหญ่ทั่วโลก ราคาของตั๋วภาพยนตร์ กาแฟ ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในฮ่องกงมีราคาแพงที่สุดในโลก ในขณะที่นมในกรุงปักกิ่งมีราคาสูงที่สุดในโลกถึง 4.45 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับราคาของนมในกรุงนิวยอร์กที่ 1.21 ดอลลาร์สหรัฐ

ผลการศึกษาของเมอร์เซอร์เป็นหนึ่งในผลการศึกษาที่มีความครอบคลุมมากที่สุดในโลก และได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือองค์กรนานาชาติและหน่วยงานรัฐบาล ในการวางแผนค่าตอบแทนให้แก่พนักงานที่ย้ายไปประจำสาขาในต่างประเทศ โดยมีกรุงนิวยอร์กเป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบอัตราราคา และใช้ดอลลาร์สหรัฐในการวัดการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินต่าง ๆ

“ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ทักษะการทำงานเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Disruption) และการเชื่อมโยงเครือข่ายบุคลากรทั่วโลกเป็นพลังขับเคลื่อน องค์กรระดับโลกจึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการโยกย้ายพนักงานไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่องค์กรได้” นายอิเลีย โบนิก ประธานธุรกิจ Career ของเมอร์เซอร์กล่าว

“นอกจากนี้ การย้ายพนักงานไปต่างประเทศยังมีข้อดีสำหรับทั้งตัวพนักงานเองและองค์กรอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางอาชีพ ประสบการณ์ในระดับโลก การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และการโยกย้ายทรัพยากร ซึ่งการมอบข้อเสนอค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลและมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน จะทำให้องค์กรสามารถสร้างประโยชน์ต่อธุรกิจได้จากการโยกย้ายพนักงาน” นายโบนิกกล่าว
ผลสำรวจของแต่ละภูมิภาค

เอเชียแปซิฟิก

8 จาก 10 อันดับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกของปีนี้ เป็นเมืองในเอเชีย จากราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยฮ่องกงยังคงเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดทั้งในทวีปเอเชียและในโลกสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งมีสาเหตุจากตลาดที่อยู่อาศัยและค่าเงินที่ตรึงไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยโตเกียว (2) สิงคโปร์ (3) โซล (4) ซูริค (5) เซี่ยงไฮ้ (6) อาชกาบัต (7)

สำหรับประเทศอินเดีย มุมไบ (67) เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในประเทศ ตามมาด้วย นิวเดลี (118) และเจนไน (154) ในขณะที่บังกาลอร์ (179) และโกลกาตา (189) เป็นเมืองในประเทศอินเดียที่มีค่าครองชีพถูกที่สุดในการจัดอันดับ ส่วนเมืองอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น กรุงเทพฯ (40) ไต่ขึ้นมา 12 อันดับจากปีที่แล้ว รวมทั้งฮานอย (112) และจาการ์ตา (105) ที่ขยับขึ้นมาถึง 25 และ 12 อันดับตามลำดับ สำหรับเมืองที่มีค่าครองชีพถูกที่สุดสำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานในทวีปเอเชียยังคงเป็นบิชเคก (206) และทาชเคนต์ (208)

เมืองต่าง ๆ ในประเทศออสเตรเลียได้ตกอันดับมาอย่างต่อเนื่อง จากการอ่อนค่าของค่าเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยซิดนีย์ (50) ซึ่งเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติก็ได้ตกลงมาถึง 21 อันดับ ในขณะที่เมลเบิร์น (79) และเพิร์ท (87) ก็ได้ตกลง 21 และ 26 อันดับตามลำดับ

อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้

เมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาต่างมีอันดับสูงขึ้นจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ และจากเมืองในภูมิภาคอื่นที่มีอันดับต่ำลง โดยนิวยอร์กไต่ขึ้น 4 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 9 ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาค ตามมาด้วยซานฟรานซิสโก (16) และลอสแอนเจลิส (18) ที่เพิ่มขึ้น 12 และ 17 อันดับ ในขณะที่ชิคาโก (37) ทะยานขึ้น 14 อันดับ ในส่วนของเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา วอชิงตัน ดี.ซี. (42) ก็สูงขึ้น 14 อันดับ ไมอามี่ (44) สูงขึ้น 16 อันดับ และบอสตัน (49) เพิ่มขึ้นถึง 21 อันดับ สำหรับเมืองที่มีค่าครองชีพถูกที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ ได้แก่ พอร์ตแลนด์ (107) และวินสตัน เซเล็ม ในรัฐนอร์ท แคโรไลน่า (138)

มอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย (70) จัดว่าเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงสุดในทวีปอเมริกาใต้ ตามด้วยซานฮวน (72) ที่ขยับขึ้นมา 23 อันดับ เมืองอื่น ๆ ในอเมริกาใต้ที่มีอันดับสูงขึ้นเช่นกัน ได้แก่ ปานามา ซิตี้ (93) ซานโฮเซ (131) และฮาวานา (133) สูงขึ้น 21, 10 และ 22 อันดับตามลำดับ นอกจากนี้ แม้ว่าในประเทศบราซิลและอาร์เจนตินาจะมีราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าบริการ และราคาที่พักสูงขึ้น แต่เมืองเซาเปาโล (86) กลับตกลงถึง 28 อันดับ รวมถึงรีโอ เดอ จาเนโร (121) ที่ต่ำลง 22 อันดับ และบัวโนสไอเรส (133) ที่ตกลงมาถึง 57 อันดับ ในขณะที่เมืองมานากัว (200) เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพถูกที่สุดในทวีปอเมริกาใต้

สำหรับประเทศแคนาดา เมืองส่วนใหญ่ยังคงอันดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยแวนคูเวอร์ (112) ซึ่งรั้งตำแหน่งค่าครองชีพสูงที่สุดในประเทศ ตกลง 3 อันดับ โตรอนโต (115) ตกลง 6 อันดับ ในขณะที่มอนทรีออล (139) สูงขึ้น 8 อันดับ ส่วนคาลการี (153) และออตตาวา (161) ยังคงที่อยู่ในตำแหน่งเดิม

ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

ซูริคเป็นเมืองเดียวในยุโรปเท่านั้นที่ติดหนึ่งในสิบอันดับสูงสุดของเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุด โดยอยู่ในอันดับ 5 ตามมาด้วย เบิร์น (12) ในขณะที่เจนีวาตกลงมาสองอันดับ สำหรับเมืองในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก รวมถึงมอสโคว (27) เซนต์ ปีเตอร์เบิร์ก (75) ปราก (97) และวอร์ซอว์ (173) ซึ่งตกลงมาที่ 10, 26, 14 และ 19 อันดับ

สำหรับเมืองในยุโรปตะวันตก รวมถึงมิลาน (45) ปารีส (47) ออสโล (61) และแมดริด (82) ตกอันดับลงมาที่ 12, 13, 14, และ 18 ตามลำดับ เมืองสตุทการ์ท (126) ของเยอรมนีก็ตกอันดับลงมาอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับเบอร์ลิน (81) และดุสเซลดอร์ฟ (92) ส่วนเมืองในสหราชอาณาจักรนั้นตกลงมาปานกลาง โดยมีเบอร์มิงแฮม (135) ตกลงมาเจ็ดอันดับ เบลฟาสท์ (158) ตกลงมาหกอันดับ และลอนดอน (23) ตกลงมาสี่อันดับ

“แม้ว่าการเพิ่มสูงขึ้นของค่าครองชีพในเมืองส่วนใหญ่ของยุโรป อยู่ในระดับปานกลาง ค่าเงินของยุโรปก็อ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินสหรัฐดอลล่าร์ ซึ่งผลักให้เมืองส่วนใหญ่ตกอันดับลง นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ เช่น ด้านความมั่นคงและความกังวลเกี่ยวกับสภาวะทางเศรษฐกิจ ก็มีผลกระทบต่อภูมิภาคนี้เช่นกัน” อิวอน เทรเบอร์ หัวหน้ากลุ่มผลิตภัณฑ์โซลูชั่นส์ โมบิลิตี้ ระดับโลก เมอร์เซอร์ กล่าว

เทล อาวีฟ (15) ยังคงครองเมืองที่แพงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติในตะวันออกกลาง ตามมาด้วยดูไบ (21) อาบู ดาบี (33) และริยาร์ด (35) ในขณะที่กรุงไคโร (166) ครองตำแหน่งเมืองที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดของภูมิภาคนี้ โดยมิสเทรเบอร์ได้กล่าวต่อว่า “หลายสกุลเงินในตะวันออกกลางได้ตรึงค่าเงินสหรัฐดอลลาร์ ส่งผลต่ออันดับของเมืองต่างๆ ที่สูงขึ้น รวมถึงค่าเช่าที่พักอาศัยที่สูงขึ้นสำหรับชาวต่างชาติด้วย”

เอ็นจาเมนา (11) ยังคงครองตำแหน่งเมืองที่แพงที่สุดในแอฟริกา แม้ว่าจะตกลงจากหนึ่งในสิบเมืองที่มีค่าครองชีพที่สูงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ ตามมาด้วยวิคตอเรีย (14) ซึ่งขึ้นมาเจ็ดอันดับ และกินชาซา (22) ซึ่งเพิ่มขึ้นมาสิบห้าอันดับ เมืองลีเบรอวิล (24) ตกลงมาหกอันดับ ส่วนเมืองตูนีส (209) ในตูนีเซียตกลงมาหนึ่งอันดับ และรั้งตำแหน่งเมืองที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดทั้งในภูมิภาคและของโลก

ใส่ความเห็น