วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > New&Trend > เมอร์เซอร์เผย อัตราการขึ้นเงินเดือนของไทยยังคงตัว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน

เมอร์เซอร์เผย อัตราการขึ้นเงินเดือนของไทยยังคงตัว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน

-ตัวเลขคาดการณ์การขึ้นเงินเดือนของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยยังคงตัวที่ 5%

-อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงสุด คือ 5.5%

– อุตสาหกรรมไฮเทคมีอัตราการออกจากงานโดยไม่สมัครใจสูงสุดที่ 7%

เมอร์เซอร์ เผยผลการศึกษาจาก ‘โครงการสำรวจค่าตอบแทนและสวัสดิการของประเทศไทย ประจำปี 2562’ พร้อมแนวโน้มค่าตอบแทน รวมถึงคาดการณ์ถึงการเติบโตของอัตราการจ้างงานและเงินเดือนสำหรับปี 2563 โดยตัวเลขและการคาดการณ์มาจากผลการสำรวจอัตราค่าตอบแทนและสวัสดิการ ซึ่งเป็นการศึกษาถึงค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ประจำปีของเมอร์เซอร์

โดยในปีนี้มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 607 บริษัท จากหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย นอกจากนี้ เมอร์เซอร์ยังได้จัดทำการสำรวจแบบ Pulse อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีเพื่อติดตามผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในธุรกิจต่าง ๆ และศึกษาแนวโน้มของอัตราค่าตอบแทนและตลาดแรงงาน

ในปี 2563 ตัวเลขคาดการณ์ของการขึ้นเงินเดือนของอุตสาหกรรมหลักในประเทศไทยยังคงตัวอยู่ที่ 5% สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% (1.0% ในปี 2562)[1] โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นเงินเดือนสูงสุดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งอยู่ที่ 5.5% ในขณะที่อุตสาหกรรมเคมีมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการปรับเงินเดือนอยู่ที่ 5.2%

แนวโน้มการจ่ายโบนัสผันแปรสำหรับปี 2562 นี้ ยังคาดว่าจะอยู่ที่ 2.3 เท่าของเงินเดือนในภาพรวมของทุกอุตสาหกรรม โดยในอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีการจ่ายโบนัสสูงสุดที่ 3.6 เท่าของเงินเดือนเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามมาด้วยอุตสาหกรรมประกันชีวิตและอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งคาดว่าจะจ่ายโบนัสอยู่ที่ 2.5 เท่าของเงินเดือน

แนวโน้มอัตราการออกจากงานโดยสมัครใจ

ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า จากภาพรวมของภาคอุตสาหกรรม อัตราการออกจากงานโดยสมัครใจเพิ่มขึ้นเป็น 12.8% ในปี 2561 (เมื่อเทียบกับ 12.5% ในปี 2560) ในขณะที่ข้อมูลล่าสุดจากผลสำรวจ Mercer Asia Market Pulse Survey ในไตรมาสที่หนึ่ง ประจำปี 2562 นั้นพบว่า อัตราการออกจากงานโดยสมัครใจคงที่ในระดับเดียวกับไตรมาสที่หนึ่งของปี 2561 (4%)

ในทวีปเอเชีย สาเหตุหลักที่พนักงานลาออกจากงานนั้นมีความแตกต่างไปตามกลุ่มอายุและเพศ โดยภาพรวมแล้วพบว่ามีสาเหตุหลักอยู่ 3 ประการ ได้แก่ การแข่งขันด้านค่าตอบแทน การสื่อสารกับหัวหน้างาน และความก้าวหน้าในสายอาชีพที่ชัดเจน ซึ่งรวมถึงความมั่นคงของงานด้วย[2] ในขณะที่อุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศไทยยังคงมีอัตราการออกจากงานโดยไม่สมัครใจสูงสุดที่ 7% ซึ่งเป็นผลมาจากบทบาทของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นและความจำเป็นของภาคอุตสาหกรรมในการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการใช้ระบบออโตเมชั่น

แนวโน้มของการจ้างงาน

สำหรับประเทศไทย คาดว่าองค์กรต่างๆ มีแผนที่จะว่าจ้างงานในปี 2563 ลดลงเล็กน้อยที่ 29% เทียบกับสัดส่วน 31% ในปี 2562 จากอัตราที่คงที่ของการออกจากงานโดยสมัครใจ องค์กรส่วนมากจึงมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความสามารถของพนักงาน

นายพิรทัต ศรีสัจจะเลิศวาจา Market Segment Leader & Career Products Leader บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ตำแหน่งงานที่เรามีความคุ้นเคยกันทุกวันนี้เริ่มที่จะหายไปจากตลาด และการเข้าถึงทักษะที่สามารถนำบริษัทไปสู่เป้าหมายในด้านทรัพยากรบุคคล จะมีความสำคัญและผลกระทบต่อการสร้างคุณค่าขององค์กรและตัวชี้วัดของงานต่างๆ ในอนาคต”

“เพื่อรับมือกับความต้องการทักษะด้านดิจิทัล องค์กรต่างๆ จึงยอมจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเพื่อทักษะด้านดิจิทัลที่โดดเด่น หรือกำหนดบทบาทตำแหน่งงานอย่างไม่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้มีพนักงานที่มีทักษะดังกล่าวเพิ่มขึ้น เราคาดว่าทักษะดิจิทัลนี้จะได้รับการผสานเข้าใน ‘กลุ่มทักษะ’ ที่จะสร้างมาตรฐานให้แก่ฐานเงินเดือนในอนาคต ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงแค่ทักษะเชิงเทคนิคหรือเชิงปฎิบัติ แต่กลุ่มทักษะจะครอบคลุมทักษะในวงกว้าง รวมถึงทักษะที่เกี่ยวกับกระบวนการคิดและพฤติกรรมอีกด้วย”

นายจักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลถือเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาตร์ชาติ ไทยแลนด์ 4.0 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
(ปี 2561 – 2580) และเพื่อที่จะดึงดูด สร้างแรงจูงใจ และพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากร องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเป็นจริงของโลกดิจิทัลและกลุ่มแรงงานที่กำลังเปลี่ยนแปลง”

“ในยุคปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การก้าวสู่ยุคประชากรสูงอายุ และการหันมาใช้พนักงานชั่วคราวเพิ่มขึ้น องค์กรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาทบทวนการให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่องค์กรมีให้กับพนักงาน เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคล ตลอดจนสร้างแรงกระตุ้นให้แก่พนักงาน โดยมีหลายบริษัทที่หันมาใช้ระบบสิทธิประโยชน์แบบยืดหยุ่นและรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนตามความสามารถเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ เหล่านี้” นายจักรชัย กล่าวเสริม

การเปลี่ยนแปลงไปสู่ผลตอบแทนที่มากกว่าเงินเดือน

การเกิดขึ้นตำแหน่งงานใหม่ๆ รวมถึงการที่ตำแหน่งงานเดิมต้องปรับเปลี่ยนไปกระแสของเทคโนโลยีออโตเมชั่นและเอไอ จึงเป็นเรื่องยากสำหรับองค์กรที่ต้องตามให้ทันกับความคาดหวังของพนักงานเกี่ยวกับผลตอบแทนและ market values จากผลการสำรวจระดับโลกเกี่ยวกับเทรนด์ของพนักงานที่มีความสามารถซึ่งเมอร์เซอร์จัดทำขึ้นในปี 2562 พบว่า รูปแบบของการผลตอบแทนที่สำคัญสูงสุดอันดับหนึ่งคือ การให้ผลตอบแทนด้วยรูปแบบที่หลากหลายกว่าเดิม ข่าวดีก็คือ สิ่งที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลให้ความสำคัญอันดับต้นๆ ล้วนสะท้อนถึงสิ่งที่พนักงานต้องการ โดยทั้งฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพนักงานต่างเห็นตรงกันว่า การมอบผลตอบแทนหรือสิ่งจูงใจแก่พนักงานที่มีความสามารถได้หลากหลายมากขึ้น สามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของธุรกิจได้อย่างแท้จริง การลงทุนในเรื่องของค่าตอบแทนควรสะท้อนถึงกลยุทธ์ที่องค์กรให้ความสำคัญ โดยในหลายกรณี สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนจากวิธีการแบบเดิม มาสู่รูปแบบของผลตอบแทนที่ต่างออกไป เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงานที่มีความต้องการและการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บริษัทชั้นนำเริ่มมีการให้ความสำคัญในเรื่องของการให้ผลตอบแทนแก่พนักงานในภาพรวม โดยมีการให้ค่าตอบแทนที่มากกว่าเงินเดือน เช่น โอกาสเติบโตในอาชีพ การให้เงินพิเศษเพื่อเป็นแรงจูงใจ และการให้ผลตอบแทนพิเศษ

นายภูนีต สวานี หุ้นส่วนอาวุโสและผู้อำนวยการธุรกิจ Career ในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ ของเมอร์เซอร์ กล่าวว่า “ผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเข้าสู่โลกยุคใหม่ของการทำงาน ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องหันมาทบทวนแนวทางเพื่อให้สามารถรับมือกับอนาคตได้ ด้วยการออกแบบรูปแบบของการจ่ายผลตอบแทนที่คำนึงถึงความความต้องการของพนักงานเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการนำดิจิทัลมาใช้ในองค์กร การสร้างทักษะที่สำคัญและจำเป็นให้กับพนักงานเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต หรือแม้แต่การสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมการทำงานได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนการปรับเปลี่ยนแปลงวิธีการลงทุนขององค์กรในตัวพนักงาน เหล่านี้จะช่วยสร้างผลตอบแทนกลับคืนสู่ธุรกิจในอนาคตได้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม”

ใส่ความเห็น