วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > เงินเฟ้อพุ่ง ราคาพลังงาน-อาหารสูง เศรษฐกิจโลกติดลบ

เงินเฟ้อพุ่ง ราคาพลังงาน-อาหารสูง เศรษฐกิจโลกติดลบ

สถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน คงต้องเรียกว่าสาหัส เมื่อนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ออกแถลงตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 7.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551

เงินเฟ้อที่สูงขึ้นครั้งนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในแถบยุโรป ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานและอาหาร ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินเฟ้อในประเทศไทยถูกผลักดันจากราคาพลังงานกว่า 60% และราคาอาหารประมาณ 17% ซึ่งหากหักพลังงานและอาหารออก ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.28%

แน่นอนว่าปัจจุบันคนไทยเริ่มมีอาการร้อนๆ หนาวๆ และพยายามเร่งปรับตัว หลายครัวเรือนปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อให้อยู่รอดในสถานการณ์อันยากลำบากนี้ ทว่า จำนวนเงินที่มีอยู่ในกระเป๋าแม้จะมีเท่าเดิม แต่มูลค่ากลับลดลงอย่างต่อเนื่อง หากภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นเช่นนี้

นอกจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้น คนไทยจะต้องแบกรับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการที่ภาครัฐยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม และทยอยปรับขึ้นแบบเป็นขั้นบันได การปรับขึ้นค่าเอฟที (FT) ของค่าไฟฟ้า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ทั้งเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป

สินค้ากลุ่มพลังงานที่มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 37.24% สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 6.18%

ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนระหว่างเดือนเมษายนกับเดือนพฤษภาคม ภาพรวมค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 246 บาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าระดับเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี โดยจะมีระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/2565 ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลกระทบเป็นปัจจัยภายนอกประเทศ ที่มีผลกระทบต่อราคาพลังงานและอาหาร ได้แก่ วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งการคว่ำบาตรต่อรัสเซียยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาพลังงาน อาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ยังคงตัวอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ประเทศจีนที่มีมาตรการคลายล็อกดาวน์ในหลายเมือง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ยิ่งเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อในฝั่งอุปสงค์ นอกจากนี้ นโยบายจำกัดการส่งออกอาหารด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ของหลายประเทศทั่วโลก ยิ่งทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อโลกแย่ลงไปกว่าเดิม ปัจจุบันมีมากกว่า 30 ประเทศที่มีมาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร

ด้านปัจจัยภายในประเทศมีส่วนทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น นั่นคือ การปรับลดการอุดหนุนน้ำมันดีเซล ท่ามกลางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน. มีมติปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นลิตรละ 1 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 34 บาท การปล่อยให้น้ำมันดีเซลเป็นไปตามกลไกตลาด จะทยอยส่งผ่านราคาไปยังผู้บริโภค ในขณะที่ผู้ผลิตมีแนวโน้มที่จะส่งผลต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ค. ที่ผ่านมายังเร่งตัวต่อเนื่องไปอยู่ที่ระดับ 13.3%

จากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินเฟ้อในปีนี้ มีแนวโน้มที่อาจจะสูงกว่ากรอบประมาณการเดิมที่ 4.5% หรือมีแนวโน้มที่จะสูงกว่า 5% อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยฯ ยังมองว่า เงินเฟ้อไทยอาจแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 3 ท่ามกลางแรงกดดันต่างๆ และจะทยอยปรับลดลงในไตรมาส 4 ภายใต้สมมุติฐานว่า ราคาน้ำมันดิบโลกจะปรับลง ตามอุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยฐานที่สูงในไตรมาส 4 ของปีก่อน

สำหรับนัยต่อเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่ทรงตัวในระดับสูงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค กดดันต่อการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าคงทนที่จะฟื้นตัวต่ำกว่าที่ควร นอกจากนี้ ยังมีนัยต่อนโยบายการเงินในประเด็นการรักษาเสถียรภาพ ในภาวะที่เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง และท่ามกลางวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางหลัก คงส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ ในภูมิภาครวมถึงไทย ต้องให้น้ำหนักต่อประเด็นด้านการรักษาเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 4/2565

หลังจากที่หลายฝ่ายเฝ้ารออย่างใจจดจ่อถึงผลการประชุมเกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ล่าสุด นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศและแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าคาด

การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง อย่างไรก็ดี เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ โดยจะติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.3 และ 4.2 ตามลำดับ จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมาก โดยเฉพาะในหมวดบริการ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลต่อเศรษฐกิจจำกัด

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อการบริโภคภาคเอกชน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และ 2.5 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น และกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น แต่ประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีความเสี่ยงมากขึ้นจากราคาน้ำมันโลกที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากและเร็วกว่าคาด และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางอย่างใกล้ชิด

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ บางกลุ่มยังเปราะบาง โดยรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง จึงอาจมีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ด้านธนาคารโลกเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยมองว่า เศรษฐกิจโลกจะพบกับภาวะชะลอตัวรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 80 ปี หลังจากที่มีการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการฟื้นตัวดังกล่าวส่งผลให้จีดีพีโลกขยายตัวที่ 5.7% ในปี 2564

แต่เมื่อโลกต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมไปถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตก ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาพลังงานและราคาอาหาร

วิกฤตเงินเฟ้อในครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป แม้ว่าผลการประชุมของ กนง. จะให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เพื่อเป็นการไม่เพิ่มภาระหนี้ให้แก่ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการในห้วงยามนี้ เมื่อค่าครองชีพของคนไทยค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่รายได้ของประชาชนบางส่วนลดลงหรือเท่าเดิม

คงทำได้แค่เพียงภาวนาให้วิกฤตที่ส่งผลโดยตรงต่อราคาพลังงานและราคาอาหารยุติในเวลาอันใกล้ เพราะหลังจากวิกฤตผ่านพ้น เศรษฐกิจทั่วโลกยังต้องใช้เวลาอีกนานในการฟื้นตัวให้กลับมาสู่สภาพเดิม.

ใส่ความเห็น