วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ “ต้อกระจก”

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ “ต้อกระจก”

Column: Well – Being

เมื่อถามคนส่วนใหญ่ว่า พวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับโรค “ต้อกระจก” บ้าง คุณอาจได้ยินคำตอบที่ผสมผสานกันของคำว่า “ปัญหาทางสายตา” “มองเห็นเบลอ ๆ” และ “โรคคนแก่” ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย เพราะสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันผู้มีอายุ 80 ปีล้วนรู้จักต้อกระจกกันดี

จริงๆ แล้ว “ต้อกระจก” คืออะไร?

คลินิกเมโยให้คำจำกัดความว่า ภาวะ “ต้อกระจก” เป็นอาการขุ่นมัวที่เกิดขึ้นกับเลนส์แก้วตาของคุณ ซึ่งปกติแล้วจะใส เฉพาะในสหรัฐฯ มีผู้ป่วยต้อกระจกรายใหม่ราว 2 แสนรายในแต่ละปี และก่อให้เกิดปัญหาการอ่านหนังสือ การขับรถ (โดยเฉพาะเวลากลางคืน) และแม้แต่การจดจำการแสดงออกทางสีหน้า

อาการของโรคต้อกระจกมีทั้งสภาวะการมองเห็นขุ่นมัว เบลอ หรือมีความไวต่อแสง และมองเห็น “รัศมี” โดยรอบดวงไฟ

ความเสี่ยงการเกิดโรคต้อกระจก ได้แก่ อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก รวมทั้งผู้เป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง

เป็นไปได้ที่คุณอาจเกิดภาวะต้อกระจกที่สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น โดยจะเริ่มมีอาการในช่วงอายุ 40 ปี แต่อาจไม่เป็นปัญหาต่อการมองเห็นจนกระทั่งคุณมีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ดร. สตีเฟน ฟอสเตอร์ ศาสตราจารย์คลินิกภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัย & การผ่าตัดดวงตาแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า มีหญิงและชายวัยกลางคนบางคนอาจต้องหรี่ตาหรือเพ่งมองเพื่อให้เห็นชัดขึ้น โดยต้องมองผ่านต้อกระจกของตนโดยไม่รู้ตัว

มีข้อมูลหลายอย่างที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาร่วมของสภาวะดวงตาที่เป็นอยู่ ซึ่งนิตยสาร Prevention นำเสนอสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้อย่างทันท่วงทีว่า …

ต้อกระจกไม่ได้เกิดขึ้นที่ดวงตาของคุณ
“นั่นเป็นความเข้าใจผิดบ่อยครั้งที่สุดที่ผมเจอมา” ดร.ฟอสเตอร์กล่าว จริงๆ แล้วต้อกระจกคือภาวะที่เลนส์แก้วตาเกิดการขุ่นมัว คนจำนวนมากเข้าใจว่า ภาวะขุ่นมัวดังกล่าวเกิดขึ้นตรงส่วนบนสุดของเลนส์ แต่ต้อกระจกเกิดขึ้นภายในดวงตาของคุณ การมองเห็นที่บิดเบี้ยวไปเกิดขึ้นเมื่อโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบของเลนส์แก้วตาที่ต้องชัดใสในภาวะปกติเกิดการย่อยสลาย

“คุณไม่อาจรู้สึกถึงภาวะต้อกระจกได้ มันอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีในการพัฒนาจนถึงขั้นที่คุณจำเป็นต้องรับการผ่าตัดเพื่อกำจัดเลนส์ที่ขุ่นมัวนั้นออกไป” ดร. ฟอสเตอร์สรุป

อายุที่มากขึ้นไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียว
ต้อกระจกส่วนใหญ่สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น แต่เป็นไปได้ที่คุณจะเกิดต้อกระจกจากการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา หรือเกิดขึ้นหลังจากเข้ารับการผ่าตัดปัญหาดวงตาอื่นๆ เช่น ต้อหิน นอกจากนี้ รังสีและการตากแดดก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน เพราะแสงแดดที่แผดจ้าอาจเป็นตัวเร่งการย่อยสลายของโปรตีนในเลนส์แก้วตา และท้ายที่สุด ต้อกระจกบางกรณีอาจเป็นมาแต่กำเนิด มีทารกที่เกิดมาพร้อมภาวะต้อกระจกเหมือนกัน แต่น้อยรายมาก

ต้อกระจกอาจเกิดกับดวงตาเพียงข้างเดียว
ขณะที่เราคุ้นเคยกับต้อกระจกที่เกิดกับดวงตาทั้งสองข้าง แต่เป็นไปได้ที่ต้อกระจกอาจเกิดกับดวงตาของคุณเพียงข้างเดียว

ดร. ฟอสเตอร์อธิบายว่า “โดยเฉพาะถ้าเกิดการบาดเจ็บขึ้นกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งแล้ว อาจส่งผลให้เกิดต้อกระจกที่ดวงตาข้างนั้น แต่ตาอีกข้างหนึ่งจะไม่เป็นด้วย”

ต้อกระจกทำให้การมองเห็นบิดเบี้ยวต่างกัน
ดร. ฟอสเตอร์กล่าวว่า คนไข้บางคนมีอาการมองเห็นเบลอๆ ตลอดเวลา ขณะที่บางคนมีปัญหาเฉพาะเมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง

“ผมพบคนไข้ที่บ่นว่ามีปัญหาการมองเห็นเมื่อต้องขับรถเวลากลางคืน นอกจากนั้นแล้วเขามีการมองเห็นเป็นปกติเกือบตลอดเวลา เพราะเขาเป็นต้อกระจกชนิดที่เป็นสาเหตุให้เกิดการกระจายแสง”

เป็นต้อกระจกไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกคน
ดร. ฟอสเตอร์กล่าวว่า เมื่อคุณเริ่มเป็นต้อกระจก การมองเห็นจะไม่เป็นปัญหามากนัก “มีคนไข้จำนวนมากทอดเวลาการผ่าตัดออกไปได้หลายปี ผมพูดเสมอว่าถ้าต้อกระจกส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคุณ จึงจำเป็นต้องผ่าตัดกำจัดออกไป ไม่อย่างนั้นแล้วให้ลืมไปได้เลย”

ผ่าตัดต้อกระจกเป็นเรื่องธรรมดาและปลอดภัย
ถ้าต้อกระจกพัฒนาถึงจุดที่จำเป็นต้องพึ่งมีดหมอ อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไป การผ่าตัดต้อกระจกมีอัตราความสำเร็จสูงถึงร้อยละ 96 ถือว่าเป็นกระบวนการปลอดภัยที่สุดอย่างหนึ่งของการแพทย์สมัยใหม่

ดร. ฟอสเตอร์อธิบายว่า “ที่ต้องทำก็แค่ฉีดยาชาเฉพาะที่ เปิดแผลผ่าตัดขนาดเล็ก และไม่ต้องเย็บแผล”

หมอผ่าตัดจะดูดเลนส์แก้วตาอันเก่าออก ทำความสะอาดเมือกหรือสารเหนียวที่ตกค้าง แล้วสอดใส่เลนส์แก้วตาอันใหม่เข้าไปแทน ทั้งกระบวนการใช้เวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นคุณต้องสวมใส่กระเปาะป้องกันดวงตาเวลานอนหลับ คุณต้องงดวิ่งออกกำลังกายสองสัปดาห์ แต่วันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัดคุณจะมองเห็นได้ชัดขึ้น และหายสนิทภายในหนึ่งเดือนพร้อมสายตาที่ชัดแจ๋วตลอดไป

หยุดเวลาไม่ได้ แต่ลดความเสี่ยงได้
ให้ใส่แว่นตากันแดดป้องกันรังสียูวี การกินอาหารประเภทผักและผลไม้อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยได้มาก รวมทั้งไม่สูบบุหรี่ จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงโรคเบาหวานให้ได้จนสุดความสามารถ

ใส่ความเห็น