วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > อุตสาหกรรมไทย โอกาสในสงครามการค้า

อุตสาหกรรมไทย โอกาสในสงครามการค้า

ท่ามกลางสถานการณ์สงครามการค้าที่อุบัติขึ้นอย่างต่อเนื่องของสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศเท่านั้น

หากแต่ผลกระทบเชิงลบยังขยายวงกว้างไปยังประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่แม้ว่าจะพยายามหาหนทางหรือกลยุทธ์ในการหลบหลีกรัศมีของห่ากระสุนจากสงครามนี้แล้วก็ตาม

จากนโยบาย “American First” ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้เป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ แม้จะเป็นไปเพื่อผลลัพธ์ที่ดีต่อพลเมืองอเมริกัน และได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ที่เห็นดีเห็นงามอยู่บ้าง

ในทางกลับกันนโยบายดังกล่าวสร้างความไม่พอใจจากผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้า รวมไปถึงประเทศคู่ค้า เพราะมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของนโยบาย “American First”

การสาดกระสุนทางภาษีในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเกิดขึ้นหลายระลอก แน่นอนว่าในทุก สงครามย่อมต้องมีฝ่ายได้รับบาดเจ็บ ผู้ประกอบการจากหลายอุตสาหกรรมต้องแสวงหากลยุทธ์เพื่อหวังจะลดทอนผลกระทบให้ได้มากที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีน ที่ตกอยู่ท่ามกลางดงกระสุนของสงครามนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะค่ายรถยนต์ที่มีฐานการผลิตอยู่ในจีนได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีทั้งสองทาง

มาตรการขึ้นภาษีของทั้งสองประเทศในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์มีราคาสูงขึ้น และกำไรลดน้อยลง

เมื่อยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าสงครามการค้าระหว่างสองประเทศนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ทางออกที่มีอาจจะจำกัดอยู่เพียงแค่การย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งทางออกนี้โดนัลด์ ทรัมป์ จะชี้นำไว้จากนโยบาย American First โดยมุ่งหวังที่จะสร้างงานให้แก่คนอเมริกัน

และแน่นอนว่า ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ หรือขยายฐานการผลิตในกรณีที่ค่ายรถยนต์มีฐานการผลิตอยู่แล้วในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ประกอบการรถยนต์จำนวนหนึ่งที่มีฐานลูกค้าอยู่ในอเมริกา เลือกที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังอเมริกาแทน เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และส่งผลให้กำไรลดลง

หากจะมองว่ามาตรการขึ้นภาษีของนโยบาย “American First” เป็นการบีบบังคับประเทศคู่ค้าเพื่อให้ตกลงในเงื่อนไขที่โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างขึ้นก็ดูจะไม่ผิดนัก เพราะเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการทำข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า 40-45 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตรถแต่ละคันนั้น จะต้องใช้แรงงานที่ได้ค่าแรงอย่างน้อย 16 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

หมายความว่า ยอดการผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ จะต้องมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “American First”

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเองยอมรับในข้อเรียกร้องของผู้นำสหรัฐฯ ที่ต้องการเจรจาข้อตกลงทางการค้าทวิภาคี โดยคาดหวังว่าสหรัฐฯ จะยกเว้นการเรียกเก็บภาษีอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจากสหรัฐฯ

หากสถานการณ์ของสงครามการค้ายังคุกรุ่น และบรรดาผู้ประกอบการตัดสินใจแน่วแน่ที่จะย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยอาจจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆ

ภาพรวมการผลิตรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง สิงหาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,420,925 คัน เพิ่มขึ้น 10.37 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ยอดการผลิตเพื่อส่งออกในเดือนมกราคม ถึง สิงหาคม 2561 จำนวน 278,775 คัน ลดลง 0.07 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ สถาบันยานยนต์ยังประกาศภารกิจเร่งด่วน เพื่อหวังยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสู่เทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต คือ 1. การขยายศักยภาพทางเทคโนโลยีเครื่องมือการทดสอบสำหรับมาตรฐานยานยนต์อนาคต 2. การเตรียมความพร้อมของบุคลากรทดสอบของสถาบันฯ 3. การพัฒนาระบบงานมาตรฐานเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านเทคนิคในระดับสากล และ 4. การสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ

จากศักยภาพภาคอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบัน ดูจะไม่ใช่เรื่องยาก หากประเทศไทยจะสามารถตอบโจทย์ของผู้ประกอบการที่เตรียมจะย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนระดับ 1 ใน 12 แห่งของโลก โดยมีผู้ประกอบการข้ามชาติเข้ามาลงทุนรวม 24 ราย แยกเป็นรถยนต์ 17 ราย และรถจักรยานยนต์อีก 7 ราย ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อีกกว่า 2 พันราย

นอกจากนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรม S-Curve ที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ไว้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์ไฟฟ้าที่ภาครัฐคาดหวังว่า ภายในปี 2579 จะมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 25 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด

แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะผ่านวิกฤตการณ์มามากมาย ทั้งการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หากแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ด้วยกำลังการผลิตที่มากถึง 3 ล้านคันต่อปี และมียอดการส่งออกมากกว่า 1 ล้านคันต่อปี ซึ่งหมายถึงรายได้จากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยคิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของประเทศ

แน่นอนว่าจังหวะนี้น่าจะเป็นห้วงเวลาที่เหมาะเจาะลงตัว ที่ภาครัฐจะเร่งเครื่องเดินหน้าแสดงศักยภาพที่มีให้บรรดานักลงทุนได้ตระหนักถึงความพร้อมที่มี เพราะนักลงทุนที่เตรียมย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอาจจะเข้ามาเติมเต็มพื้นที่ใหม่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor)

อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่รัฐบาลไทยให้การส่งเสริมการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะแรก มุ่งเน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเจ้า โดยรัฐบาลมีนโยบายดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ในไทย ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ การให้สิทธิประโยชน์การลงทุน และการลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อใช้ประกอบรถยนต์ในประเทศ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ว่า ในปี 2562 ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น และหากส่งผลยืดเยื้อถึงสิ้นปี จะกระทบส่งออกของไทยไปตลาดโลกเป็นมูลค่าราว 2,400-2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5-0.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

โดยธุรกิจไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก รถยนต์และส่วนประกอบที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามครั้งนี้ควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

แม้ว่าสงครามการค้าจะสร้างผลกระทบเชิงลบไม่น้อย หากแต่ยังมีอานิสงส์เชิงบวกกับประเทศที่ถูกเลือกเป็นที่ตั้งฐานการผลิตใหม่ สุดท้ายคงต้องขึ้นอยู่กับว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนของประเทศใดจะดึงดูดนักลงทุนได้มากกว่ากัน

และในฐานะที่ไทยมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งพื้นที่ที่สามารถรองรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงโครงการเส้นทางขนส่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต น่าจะเป็นแรงดึงดูดนักลงทุนให้พิจารณาไทยได้ไม่ยาก

เว้นเสียแต่ว่า “สงครามการค้า” จะจบลงด้วยการจับมือกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเสียก่อน

ใส่ความเห็น