วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > อุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม ผู้อยู่รอดในยุคโควิดครองเมือง?

อุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม ผู้อยู่รอดในยุคโควิดครองเมือง?

มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลที่มีหมุดหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้ขยายวงกว้างมากเกินกว่าความสามารถของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะทานไหว

ส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มาตรการดังกล่าวคล้ายเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความต้องการอาหารมากกว่าสถานการณ์ปกติ

นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการกักตุนอาหารทั้งในแง่ของผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก หรือประชาชน เช่น แรงงานภาคขนส่งจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่แรงงานบางส่วนยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน หรือเกิดคลัสเตอร์ในกลุ่มแรงงานภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อาจทำให้ผลผลิตมีจำนวนลดลง รวมถึงระยะเวลาในการขนส่งที่อาจล่าช้ากว่าเดิม ซึ่งจะทำให้การกระจายสินค้าไปในพื้นที่ยากลำบากมากขึ้น

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินเคยวิเคราะห์แนวโน้มภาพรวมของผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการขยายตัวของความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการที่หลายประเทศประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกไปประเทศคู่ค้าหลักขยายตัว โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทานพร้อมปรุง ตลอดจนอาหารที่สามารถเก็บรักษาได้นาน เช่น ไก่สดแช่แข็ง ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น

ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดว่ามูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 น่าจะเติบโตดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดย 3 ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มไทยเติบโต คือ 1. เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว 2. การบริหารจัดการวัคซีนมีประสิทธิภาพ และ 3. การขาดแคลนแรงงานคลี่คลาย

ทั้งนี้อาจมีปัจจัยที่ต้องติดตามทั้งราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ช่วงครึ่งหลังปี 2564 มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยน่าจะเติบโตราว 4.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวมปี 2564 จะสามารถเติบโตได้ราว 3.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขยายตัว 2.8 เปอร์เซ็นต์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มสำหรับตลาดในประเทศช่วงครึ่งปีหลังน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก

โดยสินค้าที่เติบโตได้ดีในครึ่งปีหลังได้แก่ สินค้าประมงและแปรรูป ปศุสัตว์ โดยเฉพาะไก่และผลไม้ ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะมียอดขายเติบโตดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกจะเป็นกลุ่มผักและเนื้อสัตว์ เนื่องจากเป็นสินค้ากลุ่มอาหารที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ คาดว่ายังคงหดตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารได้จัดทำข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยปี 2563 โดยระบุว่า อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็น 5.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทย หรือมีมูลค่าประมาณ 870,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมองว่า การส่งออกอาหารยังได้รับปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่าชัดเจนยิ่งขึ้น หลายประเทศยังคงมีความต้องการนำเข้าอาหาร เพราะสถานการณ์การระบาดและเชื้อกลายพันธุ์ อาจทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมการระบาดอีกครั้ง

ส่วนสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มเป็นบวกได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส สับปะรด และอาหารพร้อมรับประทาน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกี๊ยว ซึ่งน่าจะมาจากปัจจัยหลายด้านประกอบกัน ทั้งการที่ผู้บริโภคประกอบอาหารที่บ้านมากขึ้น ผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้นส่งผลให้ราคาต่อหน่วยลดต่ำลง การอ่อนตัวของค่าเงินบาทไทย ความต้องการจากประเทศคู่ค้าเพิ่มสูงขึ้น หรือสินค้านั้นสอดรับกับสถานการณ์ที่ผู้บริโภคต้องสำรองไว้บริโภคในช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น

ด้านภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น คาดว่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาส่งผลให้การบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า ปี 2564 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะเติบโตได้ประมาณ 5.7 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1,000,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่การส่งออกอาหารมีมูลค่าอยู่ที่ 980,703 ล้านบาท ลดลง 4.1 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2562

แน่นอนว่า หากพิจารณาจากเศรษฐกิจไทยที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอจากปัญหาโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง แต่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกลับเป็นดาวเด่นที่ยังสามารถเติบโตได้ในช่วงวิกฤต อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่ธุรกิจอาหารทุกกลุ่มที่จะเติบโตได้ดี

ในภาวะที่โรคระบาดยังคงครองเมืองอยู่ในเวลานี้ อาจทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเพิ่มความใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น ให้ความสำคัญกับคุณค่าและประโยชน์ของสารอาหารมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นโอกาสสำคัญของอาหารในกลุ่ม Organic ผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่ใช้สารพิษจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น หรืออาหารกลุ่ม Functional Foods ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการส่งเสริมสุขภาพนอกเหนือจากประโยชน์ทางโภชนาการของอาหารทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

วิกฤตโควิด-19 น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงคู่แข่งในอุตสาหกรรมนี้อาจเพิ่มจำนวนมากขึ้น นี่จะกลายเป็นจุดเร่งให้ผู้ประกอบการรายเก่ามุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

ซึ่งน่าจะตรงกับเป้าหมายของภาครัฐที่พยายามจะผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 1.35 ล้านล้านบาท ภายในปี 2569 โดยที่ผ่านมาภาครัฐพยายามส่งเสริมให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการโดยร่วมกับหน่วยงานวิจัยจากภาครัฐหรือสถาบันการศึกษา และอุตสาหกรรมอาหารยังเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S Curve โดยเฉพาะอาหารแห่งอนาคต เช่น อาหารสุขภาพ อาหารทางการแพทย์

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยจะอยู่รอดและมุ่งพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหนในยุคที่โควิดยังครองเมืองเช่นนี้

ใส่ความเห็น