วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > อาลีบาบา-สยามเกตเวย์ ย้อนรอยเจาะตลาดจีน

อาลีบาบา-สยามเกตเวย์ ย้อนรอยเจาะตลาดจีน

ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังตื่นเต้นกับความร่วมมือหลายๆ ด้านกับอาลีบาบากรุ๊ป เว็บไซต์ค้าปลีก (B2C) ที่ใหญ่ที่สุดในจีน และเข้าถึงผู้บริโภคกว่า 1,400 ล้านคน โดยเฉพาะการเปิดตัว Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ของ Tmall.com ในเครืออาลีบาบากรุ๊ป เพื่อนำร่องผลักดันผู้ประกอบการและผู้ส่งออกข้าวเข้าถึงตลาดซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ (e-Commerce) และเปิดตัวแคมเปญส่งเสริมการขายทุเรียนผ่านเว็บไซต์อย่างเต็มรูปแบบก่อนขยายไปยังผลไม้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมังคุด มะม่วง มะพร้าว และน้อยหน่า

บริษัทไทย 2 แห่ง เกิดบิ๊กไอเดียสร้างธุรกิจเทรดดิ้งที่ให้บริการผู้ประกอบการเจาะตลาดต่างประเทศภายใต้คอนเซ็ปต์บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ตั้งแต่การสนับสนุนด้านเงินทุน กระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายผ่านช่องทางการจัดจำหน่าย เหมือน “ศูนย์กลางส่งออกสินค้าครบวงจร” ทั้ง online, offline, B2B, B2C และช่องทางร้านค้าปลอดภาษี การบริหารการส่งออก โดยตั้งเป้าหมายแรก คือ ตลาดจีนและวางแผนขยายครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น เกาหลี

หนึ่งบริษัท คือ กลุ่ม ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ ผู้ประกอบธุรกิจจัดหา ผลิต และจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่บริษัทร่วมพัฒนากับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นและผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของบริษัท เช่น ชาเขียวพร้อมดื่ม ตรา “เชนย่า” (Zenya) ซึ่งมีรายได้รวมต่อปีไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาทต่อปี

อีกหนึ่งบริษัท ได้แก่ เอ็นพีพีจี ผู้ประกอบธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก ธุรกิจร้านอาหาร A&W, มิยาบิ และมิสเตอร์โจนส์ มีธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานขนาดใหญ่ โดยปี 2560 สามารถสร้างรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทเช่นกัน

ทั้ง 2 ค่ายประกาศจัดตั้งบริษัทร่วมทุน “สยามเกตเวย์” โดยบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC จะถือหุ้น 51% และบริษัท เอ็นพีพีจี จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 49% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทร่วมทุนก้อนแรก 50 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าขั้นตอนการร่วมทุนจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ และเริ่มเปิดรับผู้ประกอบการได้ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการเจาะตลาดจีน ทั้งรูปแบบการเป็นที่ปรึกษาและการร่วมทุน โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ และเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

ศุภจักร ไตรรัตโนภาส ประธานกรรมการบริหาร เอ็นพีพีจี ย้ำว่า การร่วมทุนครั้งนี้จะขยายศักยภาพทางธุรกิจของทั้งทีเอซีซีและเอ็นพีพีจี ในแง่การขยายการส่งออกสินค้าสู่ตลาดจีน ซึ่งถือเป็นบลูโอเชียนมีมูลค่าเม็ดเงินมหาศาล ทั้งสินค้าที่บริษัทผลิตอยู่แล้วและสินค้าที่จะเกิดจากการร่วมทุนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสินค้าโดนใจกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน โดยมีเครือข่ายรองรับการเจาะตลาด ทั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หอการค้าและหน่วยงานต่างๆ

สำหรับรายได้ของบริษัทร่วมทุนจะมาจากมาร์จินจากการให้บริการ 15-20% และเงินปันผลจากการเข้าลงทุน ซึ่งในอนาคตสยามเกตเวย์จะกลายเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีที่มีบริษัทร่วมทุนและเป็นพันธมิตรระยะยาว โดยล่าสุดมีผู้ประกอบการ 3-4 ราย สนใจติดต่อใช้บริการจัดส่งสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศ ได้แก่ FITWHEY โปรตีน ผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพรแบรนด์สุภาพโอสถ สินค้ากลุ่มโอท็อป และอยู่ระหว่างเจรจาอีก 15 ราย รวมถึงทีเอซีซีเองเตรียมใช้บริการของสยามเกตเวย์ เพื่อส่งออกขายเครื่องดื่มน้ำทุเรียนภายใต้แบรนด์ “สวัสดี” ไปยังประเทศจีน รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในอนาคต

“จุดแข็งของสยามเกตเวย์อยู่ที่คอนเน็กชันกับคู่ค้าในประเทศจีน มีช่องทางจัดจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ลูกค้าที่สนใจสามารถใช้บริการตั้งแต่การออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ดูแลรายละเอียดกฎเกณฑ์การส่งออก หาช่องทางจัดจำหน่าย แหล่งเงินทุน หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมลงทุน ซึ่งหากทุกอย่างสำเร็จตามเป้าหมาย ปี 2563 บริษัทร่วมทุนจะสามารถทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และมีศักยภาพจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นได้ด้วยตัวเอง” ศุภจักรกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้สยามเกตเวย์อาจเทียบไม่ได้กับ “อาลีบาบากรุ๊ป” แต่เมื่อบิ๊กแพลนของเอ็นพีพีจีและทีเอซีซีบรรลุเป้าหมาย สินค้าของบริษัททั้ง 2 แห่งบวกกับสินค้าจากบริษัทร่วมทุนและกลุ่มผู้ประกอบการที่มาใช้บริการเทรดดิ้งด้วย ย่อมหมายถึงมูลค่ารายได้ที่พุ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว

หากดูเส้นทางของอาลีบาบากรุ๊ปโฮลดิ้งของแจ๊คหม่า เริ่มต้นก่อตั้งเมื่อปี 2542 เปิดตัวเว็บไซต์ครั้งแรกเพื่อช่วยผู้ประกอบการชาวจีนขนาดเล็กขายสินค้าในประเทศจีนและขยายสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งบริการขายแบบลูกค้าต่อลูกค้า ธุรกิจต่อลูกค้า และธุรกิจต่อธุรกิจผ่านเว็บพอร์ทัล ตลอดจนบริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เสิร์จเอนจินซื้อสินค้า และบริการคอมพิวเตอร์แบบคลาวด์ จนกลายเป็นเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ที่กินส่วนแบ่งมากที่สุดในประเทศจีน

อย่างเว็บไซต์เถาเป่า (Taobao.com) ซึ่งวันนี้ถือเป็นเว็บไซต์ขายปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน เปิดตัวในปี 2546 และแย่งตลาดจากเว็บไซต์ประมูลอันดับ 1 ของโลกอย่าง ebay.com ได้ภายใน 3 ปี มีสินค้าในเว็บไซต์มากถึง 800 ล้านชิ้น มีผู้สมัครสมาชิกถึง 370 ล้านคน และคือ 1 ใน 20 เว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมสูงที่สุดในโลก

โจทย์ข้อใหญ่ที่แจ๊คหม่าเอาชนะจนกลายเป็นผู้กุมตลาดออนไลน์ คือ การนำเสนอสินค้าที่โดนใจกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าระดับแมสและสินค้าแบรนด์เนม ซึ่งเป็นโจทย์ข้อเดียวกับ “สยามเกตเวย์”

ศุภจักรกล่าวว่า สินค้าที่จะเจาะตลาดจีนได้ต้องเป็นสินค้าที่คนจีนมีความต้องการหรือเป็นสินค้าแปลกใหม่ที่น่าจะตอบโจทย์คนจีน ดูได้จากกลุ่มสินค้ายอดนิยมของกลุ่มชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยและมักขนซื้อกลับประเทศจำนวนมาก เช่น แชมพูสมุนไพร ยาหม่อง กลุ่มอาหารไทย หรือผลไม้อย่างทุเรียนที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีนอย่างมาก ซึ่งทีเอซีซีเตรียมนำเครื่องดื่มทุเรียนเข้าไปเจาะตลาดจีน

ทั้งนี้ ถ้าดูข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองเซียะเหมิน ระบุว่า ผลสำรวจตลาดอาหารในจีน แม้มีการแข่งขันกันสูงแต่ยังมีโอกาสสำหรับอาหารไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากที่เคยเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย และชื่นชอบอาหาร เมื่อกลับไปประเทศจีน นักท่องเที่ยวชาวจีนหลายรายยังคงต้องการบริโภคอาหารไทย

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจจากสมาคมอาหารแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Cuisine Association-CCA) พบว่า ปัจจัยในการเลือกร้านอาหารของชาวจีน คือ บรรยากาศภายในร้าน ตามด้วยปัจจัยด้านรสชาติ คุณภาพ และราคา และยังพบว่าผู้บริโภคชาวจีนชื่นชอบอาหารสด ชอบทานอาหารว่างในมื้อดึกอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์

สินค้าที่มีการสั่งมาก เช่น ข้าวต้มหมูสับ เค้กและขนมหวาน หากสามารถนำเสนอสินค้าเหล่านี้แบบเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนย่อมหมายถึงโอกาสการขยายตลาดมากกว่า 100%

“เอ็นพีพีจีกำลังลงพื้นที่ตลาดจีน โดยเฉพาะเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ ผู้คนมีกำลังซื้อสูง เพื่อสำรวจความต้องการที่แท้จริง คนจีนอยากกินอะไร ไปดูแล้วกลับมาหาผู้ผลิตในไทย ถ้าไม่มีผู้ผลิตเอ็นพีพีจีจะผลิตทันที เนื่องจากมีความพร้อมทั้งเงินทุน โรงงาน และแพ็กเกจจิ้ง เช่น ช็อกโกแลตรสผลไม้ไทยอย่างรสมังคุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการเจาะตลาดจีน”

ศุภจักรทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้าเจอสินค้าโดนใจ 1 ตัว ลุยตลาดจีน 1,400 ล้านคน เม็ดเงินมหาศาลแล้ว!!

 

ใส่ความเห็น