วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > อนาคตส่งออกไทย ความหวังในปีหนู

อนาคตส่งออกไทย ความหวังในปีหนู

ความสิ้นหวังเกี่ยวกับสถานการณ์ส่งออกไทยในปี 2562 ที่ดูจะเลวร้ายกว่าที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า การส่งออกไทยในปีหมูจะอยู่ในอัตราที่ติดลบหดตัวลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5-3.0 โดยการส่งออกสินค้าในเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี 2562 มีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 ว่า ยังติดลบต่อเนื่องที่ระดับร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 227,090.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนล่าสุด มีมูลค่ารวม 19,657 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบร้อยละ 7.39 กลายเป็นข้อบ่งชี้ถึงความตกต่ำทางเศรษฐกิจไทยอย่างยากปฏิเสธ และเกินกว่าที่จะเยียวยาได้ทัน

การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 19,657 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นมูลค่าการส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน และนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยติดลบระดับร้อยละ 7.4 ซึ่งนับเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 43 เดือน (ตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เป็นต้นมา) ทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2562 หดตัวมากขึ้นมาอยู่ที่ติดลบร้อยละ 2.8

ประเด็นที่น่าสนใจจากตัวเลขการส่งออกดังกล่าวอยู่ที่การส่งออกสินค้าไทยในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งหดตัวในเกือบทุกตลาดหลัก ได้รับการเน้นย้ำภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักเกือบทุกประเทศ ยกเว้นการส่งออกสินค้าไปตลาดจีน ที่พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 2.3 ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวดีเกินคาดของภาคการผลิตจีน

หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องการส่งออก พยายามชี้ให้เห็นว่าในเดือนพฤศจิกายน 2562 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนเติบโตสูงถึงร้อยละ 6.2 ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากไทยเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงทองแดง ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ และไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพการชะลอตัวของการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยในรอบปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่องได้รับการอธิบายด้วยกรอบความคิดหลักเดิมว่าด้วยข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจระดับโลก ควบคู่กับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และทิศทางเงินบาทที่อาจจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่า ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออกไทย แต่ดูเหมือนว่าแม้จะวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ออกมาอย่างเป็นระบบ แต่กลไกรัฐไทยกลับไม่สามารถดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการประคับประคองและแก้ไขสถานการณ์ให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจไม่ว่าการส่งออกที่ชะลอหดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาจะประกอบส่วนด้วยเหตุปัจจัยใด ก็คือผลของการส่งออกที่หดตัวลดลงดังกล่าวนี้ได้ส่งผ่านแรงสั่นสะเทือนไปสู่เกือบทุกภาคอุตสาหกรรม และกำลังนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่จากผลของการเลิกจ้างด้วยเหตุของการยุติปิดกิจการของผู้ประกอบการ รวมถึงการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีความน่าสนใจในการลงทุนมากกว่าด้วย

คำอธิบายถึงสถานการณ์การส่งออกไทยโดยหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในลักษณะที่ระบุว่าเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวจากสงครามการค้า และปัจจัยอื่นๆ ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศและการส่งออกของหลายประเทศทั่วโลกหดตัวรวมถึงไทยด้วย แต่การส่งออกไทยยังรักษาระดับการส่งออกได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคที่หดตัวมากกว่าไทย โดยยกกรณีของ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเปรียบเทียบ ดูจะมีค่าเพียงถ้อยความปลอบใจที่นอกจากจะไม่ช่วยพยุงสถานการณ์ให้ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นกรณีที่บ่งชี้ให้เห็นทัศนะของกลไกรัฐในการดำเนินมาตรการหรือนำเสนอนโยบายไปพร้อมกัน

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจไทยไม่ได้สะท้อนออกมาเฉพาะในมิติของการส่งออกเท่านั้น หากแต่ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ารวม 218,081.4 ล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ในภาวะติดลบร้อยละ 5.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่า 19,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบร้อยละ 13.78 อาจทำให้ภาพรวม 11 เดือนแรกปี 2562 ไทยยังเกินดุลการค้า 9,008.9 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในทางกลับกันก็บ่งบอกของความถดถอยลงในกระบวนการผลิตและกำลังซื้อเพื่อการบริโภคภายใน

อนาคตของการส่งออกไทยในปี 2563 จึงยังผูกพันอยู่กับความคลี่คลายในประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ซึ่งต่างหวังว่าจะมีสัญญาณในเชิงบวกมากขึ้น หลังจากที่ทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกร่วมกันในวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะลงนามร่วมกันในช่วงต้นเดือนมกราคม 2563

อย่างไรก็ตาม การบรรลุข้อตกลงทางการค้าร่วมกันของจีน-สหรัฐอเมริกา เป็นเพียงข้อตกลงเฟสแรก ทำให้ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศยังไม่น่าจะยุติในระยะเวลาอันใกล้ และอาจไม่ช่วยเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการส่งออกสินค้าไทยในปีหน้ามากนัก การคาดการณ์ว่าด้วยการส่งออกสินค้าไทยในปี 2563 จึงได้รับการประเมินว่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ระดับติดลบร้อยละ 1.0-2.0 โดยให้น้ำหนักกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และทิศทางเงินบาทที่อาจจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่า ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออกไทยเช่นเดิม

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ ดูเหมือนกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและรับผิดชอบการส่งออก ได้เสนอแผนผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการไทยในปี 2563 ด้วยการเตรียมแผนเจาะตลาดเชิงลึกด้วยการนำคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชนเดินทางไปขยายตลาดใน 18 ประเทศ รวม 16 ทริป ทั้งในตลาดเดิมไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ สหภาพยุโรป หรือในตลาดใหม่อย่าง อินเดีย ตุรกี ศรีลังกา บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ รวมถึงตลาดฟื้นฟูในตะวันออกกลาง และตลาด CLMV โดยในตลาดขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย จะเจาะลึกเป็นรายมณฑลและรายรัฐมากขึ้น

ประเด็นที่น่าสนใจจากแผนของกระทรวงพาณิชย์ ที่มากกว่าการนำคณะผู้แทนการค้าไปขยายตลาดอยู่ที่การพัฒนาผู้ประกอบการ ด้วยการสร้างผู้ส่งออกรายใหม่ๆ โดยพัฒนากลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสตาร์ตอัป กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มเฉพาะ (niche) ให้เป็นผู้ส่งออก สำหรับการพัฒนาคุณภาพสินค้า จะเร่งสร้างแบรนด์ประเทศไทยด้วยการมอบตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพให้กับผู้ส่งออก และจะนำแบรนด์ไทยเจาะตลาดเป้าหมาย เช่น จีน อินเดีย และอาเซียน ส่วนธุรกิจบริการจะขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจสตาร์ตอัป ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยมีศักยภาพ

ความคาดหวังจากแผนงานปี 2563 ของกระทรวงพาณิชย์ที่ว่านี้ เชื่อว่าจะมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งการกำหนดเป้าหมายและการวางกรอบโครงในทางปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อนโยบายย่อมเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการประเมินสถานการณ์รอบข้างที่จะบ่งชี้ว่าแผนของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2563 จะประสบผลสำเร็จอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยเสริมให้การส่งออกไทยกลับมาขยายตัวได้ในปี 2563 ได้รับการคาดหมายว่าจะอยู่ที่การเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าเพื่อขยายฐานตลาดการส่งออกของไทยให้มีความหลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น

แม้ว่าการส่งออกของไทยในปีหมู 2562 จะดำเนินไปอย่างไม่หมูหรือสะดวกง่ายดายอย่างที่หลายฝ่ายเคยตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 แต่ภายใต้ความหวังและความเชื่อทำให้หลายฝ่ายพยายามประเมินสถานการณ์ด้วยสายตาที่มองโลกแง่ดี และทำให้ปีหนู 2563 หรือปีชวด เป็นปีที่หลายฝ่ายยังหวังว่าการส่งออกไทยจะกระเตื้องขึ้นจากปลักตมที่จมอยู่

ปี 2563 จึงเป็นปีที่ท้าทายไม่เฉพาะสำหรับผู้ประกอบการส่งออกไทยเท่านั้น หากยังท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการของกลไกรัฐไทยไปพร้อมกัน ปี 2563 จึงอาจเป็นปีหนูที่สร้างความสับสนวุ่นวาย เป็นปีชวดที่ไม่ได้เป็นไปดังหวัง ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์และประมาณการความเป็นไปได้ของไทยในมิติของขีดความสามารถในการแข่งขันในบริบทของเศรษฐกิจโลกที่กำลังดำเนินไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่ง ทั้งจากพัฒนาการของเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตนี้ด้วย

ใส่ความเห็น