วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > On Globalization > สิ้นรัฐบุรุษที่ชื่อฌาคส์ ชีรัก

สิ้นรัฐบุรุษที่ชื่อฌาคส์ ชีรัก

Column: FROM PARIS

คืนวันที่ 25 ต่อวันที่ 26 กันยายน 2019 ฝรั่งเศสได้สูญเสียรัฐบุรุษ 1 คน คือ ฌาคส์ ชีรัก (Jacques Chirac) อดีตประธานาธิบดี ครอบครัวได้แจ้งข่าวแก่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ซึ่งยกเลิกกำหนดการทั้งมวลในหลายวันข้างหน้าเพื่อเตรียมการรัฐพิธีศพของรัฐบุรุษผู้นี้

ฌาคส์ ชีรักเป็นนักการเมืองฝ่ายขวา เริ่มชีวิตการเมืองจากการเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ (Corrèze) แล้วในปี 1967 ได้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ประธานาธิบดีวาเลรี จิสการด์ เดสแตง (Valéry Giscard d’Estaing) แต่งตั้งให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1974 ระหว่างดำรงตำแหน่ง ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงปารีสในปี 1977 เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1979 เพราะไม่ลงรอยกับประธานาธิบดี แล้วตั้งพรรคการเมือง Rassemblement pour la République ฌาคส์ ชีรักลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1981 แต่พ่ายแพ้แก่ฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ (François Mitterrand) จากพรรคสังคมนิยม

ในยุคของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ ฌาคส์ ชัรักได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 1986-1988 เขาลงเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่สอง แต่ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง จึงเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ในขณะที่ลูกพรรคของตน เอดูอารด์ บัลลาดูร์ (Edouard Balladur) เป็นนายกรัฐมนตรี จึงฮึกเหิมอยากเป็นประธานาธิบดีบ้าง

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1995 ฌาคส์ ชีรักได้รับคะแนนเหนือกว่าลิโอเนล โจสแปง (Lionel Jospin) จากพรรคสังคมนิยม รัฐบาลเผชิญกับการต่อต้านจากประชาชนเมื่อดำเนินการปฏิรูปสวัสดิการสังคมและบำนาญ จึงแก้ปัญหาด้วยการยุบสภา ผลก็คือพรรคสังคมนิยมได้รับคะแนนเสียงมากกว่า ประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรักจึงต้องตั้งรัฐบาลพรรคสังคมนิยม เป็นการอยู่ร่วมระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยมีมาแล้วในสมัยประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตรองด์

ต่อมาในปี 2003 ฌาคส์ ชีรักได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองด้วยเสียงท่วมท้น เพราะคู่ต่อสู้ในรอบสองคือฌอง-มารี เลอ เปน (Jean-Marie Le Pen) แห่งพรรคขวาจัด Front national ในวาระที่สองนี้ฌาคส์ ชีรักตั้งพรรคการเมืองใหม่ Union pour un mouvement populaire ซึ่งก็คือพรรคเก่านั่นเอง เพียงแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ เขาแก้กฎหมายให้ประธานาธิบดีอยู่ในวาระเพียง 5 ปี ไม่ใช่ 7 ปี อย่างเก่า

ความนิยมของฌาคส์ ชีรักมาจากการประกาศไม่เข้าร่วมสงครามอิรักที่สหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอก แต่ชื่อเสียงก็มัวหมองเพราะพัวพันกับความไม่โปร่งใสในการบริหารหลายประการ นับตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงปารีส หากแต่มีภูมิคุ้มกันจากการเป็นประธานาธิบดี นอกจากนั้น เขายังรณรงค์ให้รับรัฐธรรมนูญยุโรประหว่างการหยั่งเสียงประชามติในปี 2005 ความนิยมถดถอยลงมาก พรรครัฐบาลพ่ายแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อหมดวาระแล้ว ฌาคส์ ชีรักถอยห่างจากการเมือง เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญจนถึงปี 2011 ในปีเดียวกันนี้ศาลพิพากษาว่าฌาคส์ ชีรักมีความผิดในการจ้างงานที่ไม่ชอบระหว่างดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงปารีส ต้องโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา

สุขภาพของฌาคส์ ชีรักสร้างความกังวลให้ครอบครัวและชาวฝรั่งเศสทั้งมวลเพราะเป็นอัลไซเมอร์ และโรคภัยอื่นๆ จึงไม่ได้ออกงานอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2014

แม้ช่วงเป็นประธานาธิบดี ความนิยมของฌาคส์ ชีรักต่ำอย่างน่าใจหาย แต่เมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว กลับเป็นอดีตประธานาธิบดีที่ชาวฝรั่งเศสชื่นชอบ สิ่งหนึ่งที่เขาทิ้งไว้เป็นสมบัติของประเทศ คือ การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ Quai du Branly ในปี 2006 รวบรวมงานศิลป์ของแอฟริกา เอเชีย และโอเชียเนีย

ในวาระที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ครบ 10 ปี ได้จัดนิทรรศการชื่อ Jacques Chirac ou la dialogue des cultures และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Musée du Quai Branly – Jacques Chirac ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2016

ฌาคส์ ชีรักเป็นอดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดกอแรซ เฉกเช่นเดียวกับฟรองซัวส์ โอลลองด์ (François Hollande) อดีตประธานาธิบดีทั้งสองท่านนี้จึงมีไมตรีจิตต่อกันแม้จะอยู่คนละค่ายก็ตาม

ใส่ความเห็น