วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > สหฟาร์มผุดร้านไก่ย่างถ่าน เจาะตลาดสด ลุยดีลิเวอรี่

สหฟาร์มผุดร้านไก่ย่างถ่าน เจาะตลาดสด ลุยดีลิเวอรี่

ในสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด “สหฟาร์ม” ยิ่งต้องเร่งหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการทุกช่องทาง ทั้งส่งออกต่างประเทศและเจาะขยายกลุ่มลูกค้าในประเทศ ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากกว่าทุกวิกฤตที่ผ่านมา โดยล่าสุดตัดสินใจแตกไลน์ธุรกิจร้านไก่ย่างเตาถ่าน เจาะทำเลตลาดสดและชุมชนขนาดใหญ่ พร้อมบริการดีลิเวอรี่ เพื่อรุกเข้าถึงตัวลูกค้ามากขึ้น

ที่สำคัญ ปัญญา โชติเทวัญ ประธานกรรมการบริษัท สหฟาร์ม และบริษัทในเครือ ยังคงยืนยันจุดขายและจุดแข็ง เรื่องการผลิตสินค้าราคาประหยัดรองรับมวลชนรากหญ้า คุ้มค่าคุ้มเงิน และการเป็นอาหารฮาลาลให้กลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิม เน้นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจากไก่ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ กลุ่มอาหารแปรรูปทุกรูปแบบ พร้อมกับการสื่อสารข้อมูลต่างๆ กับลูกค้าผ่านเพจเฟซบุ๊ก เช่น แนะนำสินค้าในเครือ ประโยชน์ของการบริโภคเนื้อไก่ สารอาหาร แคลอรีที่น้อยกว่าเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่อย่างเนื้อหมู

แหล่งข่าวจากบริษัท สหฟาร์ม กล่าวว่า บริษัทตัดสินใจปลุกปั้นแบรนด์ร้านไก่ย่างถ่าน “สหฟาร์ม” ชูจุดขายการย่างด้วยถ่านหอมกลิ่นรมควัน พร้อมๆ กับบูธจำหน่ายสินค้าในเครือเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตสาขาย่อยๆ ในทำเลตลาดสดรอบนอกกรุงเทพฯ เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปจับจ่ายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตสาขาสำนักงานใหญ่ย่านถนนนวมินทร์ และเน้นจัดโปรโมชั่นตัดราคาสินค้ายอดนิยม เพื่อสร้างการรับรู้กับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ

ปัจจุบันร้านไก่ย่างถ่านมีทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ สาขาตลาดมารวย หทัยราษฎร์ สาขาตลาดบ้านฟ้าเลอมาเช่ คลอง 6 สาขาตลาดชัชวาล คลอง 7 สาขาตลาดนัดพบ คลอง 4 และสาขาตลาดตะวันทอแสง คลอง 4 (หน้าตลาดรุ่งโรจน์) โดยวางแผนผุดสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พนักงานขายร้านไก่ย่างถ่าน สหฟาร์ม สาขาตลาดมารวย เล่าว่า บริษัทเริ่มทดลองเปิดร้านเมื่อปีที่ผ่านมา ใช้เวลาโปรโมตไม่นานมีลูกค้าสนใจซื้อสินค้าจำนวนมากและสอบถามผ่านเพจเฟซบุ๊กทุกวัน เนื่องจากราคาสินค้าแทบทุกรายการถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป โดยเฉพาะไก่ย่างเตาถ่าน จัดโปรแรงตัวละ 100 บาท ถ้าซื้อ 2 ตัว ราคา 150 บาท เท่ากับลดเหลือตัวละ 75 บาท เทียบกับค่ายคู่แข่งยักษ์ใหญ่ที่กำลังจัดโปรโมชั่นลดราคาเหลือตัวละ 99 บาท

ขณะเดียวกัน มีสินค้าราคาพิเศษ เช่น ไข่ไก่เบอร์ใหญ่ 30 ฟอง แผงละ 100 บาท ไข่แฝด 15 ฟอง ราคา 75 บาท ไข่คละ 30 ฟอง แผงละ 70 บาท กลุ่มอาหารแปรรูปไก่ ลูกชิ้น ไก่ยอ ไส้กรอก เครื่องปรุงต่างๆ ซึ่งในบางครั้งจัดเซตปรุงสุก เช่น ปีกบนทอด 5 ชิ้น เซตละ 35 บาท นอกจากนี้ เพิ่มบริการส่งถึงบ้าน(Delivery) บริเวณใกล้เคียงกับสาขา คิดค่าส่งตามระยะทาง หรือใช้บริการ Grab และ Lineman ได้เช่นกัน

ส่วนสหฟาร์มซูเปอร์มาร์เก็ตสาขาสำนักงานใหญ่ย่านนวมินทร์ นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าในเครือแล้ว จะมีชุดอาหารราคาประหยัดทุกวัน เช่น ไข่เจียวทรงเครื่อง ราคา 10 บาท ไข่พะโล้ ราคา 10 บาท กะเพราไก่ ราคา 20 บาท คั่วกลิ้งไก่ ราคา 20 บาท

ต้องยอมรับว่า สหฟาร์มพยายามเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าไลน์ใหม่ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ จารุวรรณ โชติเทวัญ ทายาทสาวของปัญญา ได้แยกไปเปิด บริษัท ไทยเบสท์โพลทรี จำกัด เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์ไก่และไข่ภายใต้แบรนด์ “พอลดีย์ (pauldy) ที่มีที่มาจากชื่อ “ปัญญา : PY” โดยทุ่มเงินลงทุนร่วมพันล้านบาท ทำฟาร์มไก่อารมณ์ดีบนเนื้อที่ 596 ไร่ ในหุบเขาธรรมชาติป้องกันเชื้อโรคเข้ามาในพื้นที่ สร้างโรงเรือนตามมาตรฐานการเลี้ยงระดับโลก ไม่ใช้สารเร่งปฏิกิริยาเติบโต และทำให้ไก่มีความสุขด้วยการเปิดเพลงคลาสสิกให้ฟังตั้งแต่วันแรกจนเติบโต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์จากฟาร์มไก่อารมณ์ดี

ขณะที่อาณาจักรสหฟาร์มมีบริษัทในเครือ 6 แห่ง คือ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด, บริษัท โกลเด้นไลน์บิสสิเนส จำกัด, บริษัท สหอินเตอร์ฟู้ด จำกัด, บริษัท ฟู้ดฟอร์เดอะเวิลด์ จำกัด, บริษัท เฮลท์ฟู้ด จำกัด, บริษัท เฮลท์ฟู้ด เอ็มแอลเอ็ม จำกัด ยังถือเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ส่งออกผลิตเนื้อไก่ครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย

ด้านคฤหาสน์ “สุขาวดี” ถือเป็นการลงทุนส่วนตัวของนายปัญญา เพื่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยวและสถานเรียนรู้สัจธรรมในการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะสัจธรรมเรื่องการพึ่งพาตัวเอง

เพราะหากย้อนเส้นทางธุรกิจของสหฟาร์มล้วนผ่านวิกฤตและต้องดิ้นรนตลอดเวลา นับตั้งแต่ก้าวแรกเริ่มต้นธุรกิจก่อนขยายกลายเป็นอาณาจักรแสนล้าน จากเด็กวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เรียนจบมัธยมโรงเรียนประจำอำเภอแล้วต่อวิชาพยาบาลจากกรมการแพทย์ทหารเรือ รับราชการเป็นพยาบาลทหารเรือ 11 ปี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำ กทม. อีก 12 ปี

แต่เส้นทางหักเหเมื่อเขาคำนวณเงินเดือนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลังหักลบหนี้สินต่างๆ แล้วไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว จึงเกิดไอเดียเลี้ยงไก่พลิกชีวิตด้วยเงินทุนก้อนแรก 5,000 บาท แต่ล้มลุกคลุกคลานเรียนรู้ประสบการณ์นานหลายปีกว่าจะตั้งบริษัท สหฟาร์ม จำกัด สำเร็จเมื่อปี 2512 เพื่อขยายธุรกิจเลี้ยงและชำแหละไก่

กระทั่งปี 2517 ปัญญาลุยส่งออกไก่สดแช่แข็ง เข้าสู่ธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ผลิตลูกไก่ ผลิตอาหารสัตว์ ส่งลูกไก่และอาหารสัตว์ให้เกษตรกร ขยายเครือข่ายลูกเล้าด้วยวิธีประกันราคา โดยส่งไก่ตัวมาชำแหละและตัดแต่งเพื่อการส่งออก

ปี 2536 วางแผนเปิดฟาร์มแห่งใหม่ที่บ้านม่วงค่อม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดแหล่งน้ำ แม้มีเสียงคัดค้านมากมาย แต่ปัญญาเดินหน้าพัฒนาโรงเรือนชำแหละไก่ สร้างอ่างเก็บน้ำ และเจรจากับเกษตรกร จนขยายเป็นอาณาจักรเลี้ยงไก่ได้มากกว่า 50,000 ไร่

แต่ปี 2547 โดนพิษไข้หวัดนกระบาดถึง 60 จังหวัดในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่เลี้ยงไก่จนส่งออกไม่ได้ แต่โชคดีของประธานสหฟาร์มกรุ๊ปที่พนักงานทุกคนยอมช่วยกันทำงานอย่างหนัก ตะลุยขายไก่ หลายคนไม่ขอรับเงินเดือน จนผ่านปัญหาทุกอย่างและฟื้นขึ้นมาได้ กลายเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ตลาดตะวันออกกลาง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี

ปี 2555 เจอวิกฤตอีกครั้ง ผลกระทบจากสภาพอากาศแห้งแล้งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดอาหารสัตว์มากที่สุดในโลกปีละ 400 ล้านตัน การเพาะปลูกลดลงอย่างฮวบฮาบ และทางการสหรัฐฯ พยายามนำพืชอาหารไปผลิตเป็นพืชพลังงานเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มดุลการค้า เกิดสงครามการแย่งชิงทรัพยากรครั้งใหญ่ ข้าวโพดขาดแคลนทั่วโลก ราคาพุ่งพรวดพราดจากกิโลกรัมละ 8 บาท เป็น 12 บาท

ทว่า ในประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบายแทรกแซงราคาพืชผลทางการเกษตร ใช้วิธีสต๊อกและเปิดการประมูลปริมาณมาก ซึ่งสหฟาร์มไม่มีเงินประมูลแข่งขันกับรายใหญ่ และเป็นช่วงรอยต่อตามแผนขยายกำลังผลิตรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (เออีซี)

ในที่สุด สหฟาร์มต้องตกอยู่ในสภาพขาดแคลนสต๊อกอาหารสัตว์อย่างรุนแรง ไม่สามารถเลี้ยงไก่ ขาดรายได้ และธนาคารเจ้าหนี้เริ่มจำกัดวงเงิน เนื่องจากไม่เห็นตัวเงินเข้าบริษัทจนขาดสภาพคล่องอย่างหนัก มีรายได้รวม 15,836 ล้านบาท ลดลงจากปี 2554 ที่มีรายได้ 16,008 ล้านบาท แถมค่าใช้จ่ายรวมพุ่งสูงถึง 16,818 ล้าน ขาดทุน 1,465 ล้านบาท จากปี 2554 ที่ยังมีกำไร 695 ล้านบาท

อดทนได้ 2 ปี บริษัท สหฟาร์ม จำกัด และบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่ของตระกูลโชติเทวัญ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2557 ให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (EY) เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเวลานั้นบริษัทสหฟาร์มมีหนี้สินรวม 14,110,87 ล้านบาท และบริษัทโกลเด้น ไลน์ฯ มีหนี้สิน 12,524.47 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาฟื้นฟู 10 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2567 ทำให้ช่วงโควิดแพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2563 กลายเป็นโจทย์น่าหนักใจในการหารายได้อย่างเร่งด่วน

แน่นอนว่า การงัดกลยุทธ์แตกธุรกิจร้านไก่ย่างและวางแผนปูพรมทั่วเมืองเป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งในอีกหลายแผน เพื่อเร่งยอดขายในประเทศ แต่ที่น่าสนใจ คือ งานนี้กำลังเปิดศึกชนคู่แข่งยักษ์ใหญ่เข้าอย่างจังด้วย

ใส่ความเห็น